สีไม้ เป็นสีที่เด็ก ๆ ส่วนใหญ่นิยมนำมาใช้ตกแต่งผลงานศิลปะของตนเอง นั่นอาจจะเป็นเพราะ สีไม้หาซื้อง่าย ราคาไม่แพง เก็บรักษาง่าย สะดวกต่อการนำมาใช้งาน และมีเทคนิคการใช้ที่ไม่ซับซ้อนสำหรับเด็ก ๆ เมื่อใช้สีไม้คล่องมือแล้ว เด็ก ๆ อาจจะอยากอัพสกิลในการใช้สีขึ้นมาอีกขั้นก็ได้นะคะ วันนี้พี่ออยจึงอยากมาแนะนำเทคนิคการระบายสีชนิดพิเศษ ที่จะเพิ่มความน่าสนใจ และ ความสนุกให้กับผลงานศิลปะของเด็ก ๆ โดยเราจะเปลี่ยนจากการใช้สีไม้ธรรมดาที่เราคุ้นเคย มาใช้ สีไม้ระบายน้ำ กันค่ะ ผู้ปกครองหลายท่าน คงมีคำถามมากมายเลยใช่มั้ยคะ เช่น “สีไม้ระบายน้ำจะเหมือนสีน้ำหรือเปล่า” หรือ “มันจะยากเกินไปสำหรับเด็ก ๆ มั้ย” พี่ออยบอกเลยว่าไม่ต้องกังวลไปค่ะ เพราะเทคนิคที่จะนำมาสอนวันนี้ เป็นเทคนิคการใช้สีไม้ระบายน้ำแบบง่าย ๆ ที่ผู้ปกครองสามารถทำตาม และนำไปสอนลูก ๆ ต่อได้แน่นอน แต่ก่อนที่เราจะเริ่มระบายสี เราควรไปทำความรู้จักกับ สีไม้ระบายน้ำ กันก่อนดีกว่าค่ะ

เทคนิคการระบายสี ตอนที่ 3 การใช้สีไม้ระบายน้ำ
เทคนิคการระบายสี ตอนที่ 3 การใช้สีไม้ระบายน้ำ

สีไม้ระบายน้ำ กับ สีไม้ธรรมดา แตกต่างกันยังไง?

ถึงแม้ลักษณะภายนอกของสีไม้ระบายน้ำ กับสีไม้ธรรมดาจะเหมือนกัน แต่ว่าสิ่งที่แตกต่างกันของสีทั้งสองชนิดนี้ก็คือ ตัวไส้ของสีนั่นเองค่ะ โดยสีไม้ธรรมดา ซึ่งมีเม็ดสีเข้ม จะมีขี้ผึ้งเป็นส่วนผสมอยู่ด้วย ทำให้ตัวสีนั้นไม่ละลายน้ำ และมีความเข้มสีค่อนข้างดี ต่อให้ระบายน้ำทับ เม็ดสีก็ยังเกาะตัวกันอยู่ ไม่ละลายไปกับน้ำค่ะ ส่วนสีไม้ระบายน้ำ เป็นสีที่ไม่มีส่วนผสมของขี้ผึ้ง ตัวสีจึงละลายได้เมื่อโดนน้ำ ทำให้สามารถเปลี่ยนงานสีไม้ ให้กลายเป็นงานที่เหมือนสีน้ำได้ เพียงมีพู่กันและน้ำนั่นเองค่ะ

สีไม้ธรรมดาเมื่อระบายด้วยน้ำเนื้อสีจะไม่ละลาย แต่สีไม้ระบายน้ำเมื่อระบายเนื้อสีจะละลายไปกับน้ำ สีไม้ธรรมดาเมื่อระบายด้วยน้ำเนื้อสีจะไม่ละลาย แต่สีไม้ระบายน้ำเมื่อระบายเนื้อสีจะละลายไปกับน้ำ
สีไม้ธรรมดาเมื่อระบายด้วยน้ำเนื้อสีจะไม่ละลาย แต่สีไม้ระบายน้ำเมื่อระบายเนื้อสีจะละลายไปกับน้ำ
สีไม้ธรรมดาเมื่อระบายด้วยน้ำเนื้อสีจะไม่ละลาย แต่สีไม้ระบายน้ำเมื่อระบายเนื้อสีจะละลายไปกับน้ำ

ยี่ห้อของสีไม้ระบายน้ำ

ในส่วนของยี่ห้อสีไม้ระบายน้ำนั้น ก็มีให้เลือกหลากหลายไม่ต่างกับสีไม้ธรรมดาเลยค่ะ ซึ่งส่วนของสีไม้ธรรมดา ทีมงาน Youngciety ได้แนะนำกันไปแล้วในบทความ เทคนิคการระบายสี ตอนที่ 1 (ใครยังไม่ได้อ่านก็สามารถเข้าไปอ่านกันได้เลยค่ะ) ยี่ห้อสีไม้ระบายน้ำ มีตั้งแต่แบบราคาไม่แพงอย่างยี่ห้อ Horse หรือ ตราม้า ที่หลายท่านคงรู้จักดี ส่วนแบบราคากลาง ๆ ก็จะมียี่ห้อ Colleen, Master Art, Faber-Castell, Pentel, STAEDTLER, Renaissance และมีไปจนถึงแบบราคาสูงที่ศิลปินนิยมใช้กัน อย่าง LYRA, Prismacolor, Derwent แต่สียี่ห้อที่พี่ออยจะมาแนะนำวันนี้เป็นสีไม้ระบายน้ำแบบ 12 สี ซึ่งมีอยู่ 4 ยี่ห้อหลัก ๆ ที่พี่ออยคิดว่าคุณภาพดี หาซื้อง่าย ในราคาไม่เกิน 100 บาท เหมาะสำหรับให้เด็ก ๆ ใช้ฝึกระบายกันค่ะ ส่วนจะมียี่ห้ออะไรบ้างนั้น เราไปดูกันเลยค่ะ

ยี่ห้อของสีไม้ระบายน้ำแบบ 12 สี ยี่ห้อของสีไม้ระบายน้ำแบบ 12 สี
ยี่ห้อของสีไม้ระบายน้ำแบบ 12 สี

1. Renaissance (เรนาซองซ์) มีเนื้อสีหนา สีสดชัด เมื่อระบายน้ำแล้ว ยังคงความสดของสีเอาไว้ได้ดี ช่วยให้ระบายได้ง่ายมาก ๆ ภายในกล่องจะมีถาดสี และ พู่กันให้ด้วยค่ะ

2. Faber-Castell (เฟเบอร์ คาสเทลล์) มีไส้เล็ก หัวแหลม เมื่อระบายน้ำแล้ว สีจะไม่สดขึ้น แต่ก็ไม่ได้จางลง ภายในกล่องจะมีกบเหลาดินสอ และ พู่กันให้ค่ะ

3. Pentel (เพนเทล) มีเนื้อสีแข็ง ไม่นุ่มมาก เมื่อระบายน้ำแล้ว สีจะไม่สดขึ้น และจางลงนิดหน่อย ตัวนี้ไม่มีพู่กันมาให้ในกล่องนะคะ

4. STAEDTLER LUNA (สเต็ดเล่อร์ ลูน่า) มีน้ำหนักเบา ระบายลื่น สีติดกระดาษง่าย ภายในกล่องมีพู่กันมาให้ค่ะ

เป็นยังไงบ้างคะ พอจะช่วยในการตัดสินใจเลือกซื้อสีไม้ระบายน้ำของผู้ปกครองได้บ้างหรือเปล่า และในครั้งนี้พี่ออยจะขอหยิบสีไม้ระบายน้ำ ยี่ห้อ Renaissance (เรนาซองซ์) มาใช้ทดลองระบายประกอบคำแนะนำนะคะ เพราะสีไม้ยี่ห้อ Renaissance มีสีสด เนื้อสีนุ่ม ระบายง่าย ลื่นมือ แต่ถ้าใครหาซื้อตามไม่ได้ ก็สามารถหาสีไม้ระบายน้ำยี่ห้อ STAEDTLER LUNA (สเต็ดเล่อร์ ลูน่า) มาลองใช้ตามก็ได้ค่ะ ที่สำคัญอีกเหตุผลคือ สีไม้ 2 ยี่ห้อนี้ น่าจะเหมาะกับเด็ก ๆ ที่กล้ามเนื้อมือยังไม่แข็งแรง เพราะไม่ต้องออกแรงกดมาก สีก็สดชัด เด็ก ๆ จะได้ไม่เมื่อยมือ มีแรงระบายต่อกันได้เรื่อย ๆ เลยค่ะ ส่วนสีไม้ระบายน้ำยี่ห้ออื่นที่พี่ออยได้แนะนำไป จริง ๆ ก็สามารถนำมาระบายได้เหมือนกัน ขึ้นอยู่กับความชอบ และความถนัดมือของแต่ละคนเลยนะคะ เมื่อทุกคนมีสีแล้ว เราไปเริ่มขั้นตอนต่อไปกันเลยค่ะ

การใช้สีไม้ระบายน้ำ กับ การเลือกกระดาษและอุปกรณ์

แน่นอนว่าการใช้ สีไม้ระบายน้ำ จะต้องมีน้ำเข้ามามีส่วนร่วมในการสร้างสรรค์ผลงานด้วย และเมื่อมีน้ำแล้ว เราจะใช้กระดาษ A4 ธรรมดาที่มีจำนวนแกรมน้อย ๆ เหมือนเดิมไม่ได้แล้วนะคะ เพราะเมื่อกระดาษโดนน้ำ ก็จะเปื่อยยุ่ย เป็นขุย จนขาดทะลุได้เลยค่ะ พี่ออยเลยอยากแนะนำให้ใช้กระดาษที่เหมาะกับงานระบายน้ำ อย่างกระดาษ 100 ปอนด์ ที่มีความหนา 200 แกรมขึ้นไปนะคะ กระดาษของเราจะได้ไม่บวมน้ำ หรือเปื่อยยุ่ยค่ะ

ส่วนพู่กันที่ใช้ ก็แนะนำว่าให้เลือกเป็นพู่กันที่หัวแปรงขนาดไม่ใหญ่เกินไป ขนาดประมาณ เบอร์ 5 จะกำลังดีเลยค่ะ ถ้าเลือกหัวแปรงใหญ่เกินไป อาจทำให้เก็บรายละเอียดยากนะคะ และอีกอย่างที่อยากจะเตือนก็คือ ระวังเลอะค่ะ แน่นอนว่าหากสีนั้นละลายน้ำได้ การที่มือของเราซึ่งมีความชื้นไปโดนสี ก็อาจทำให้เปื้อนได้เช่นกัน ดังนั้น ในระหว่างระบายสี พยายามยกมือให้อยู่เหนือผิวกระดาษไว้นะคะ เพื่อไม่ให้เกิดการเลอะเทอะขึ้น ทั้งกับผลงาน และมือของเรา

เปรียบเทียบกระดาษ 80 แกรมกับกระดาษวาดเขียน 200 แกรม เมื่อระบายน้ำลงไป กระดาษ 80 แกรมจะเป็นขุย แต่กระดาษ 200 แกรมจะไม่เป็นขุย
เปรียบเทียบกระดาษ 80 แกรมกับกระดาษวาดเขียน 200 แกรม เมื่อระบายน้ำลงไป กระดาษ 80 แกรมจะเป็นขุย แต่กระดาษ 200 แกรมจะไม่เป็นขุย

พร้อมระบายสีกันหรือยัง?

ขั้นตอนในการระบายสีที่พี่ออยจะสอนนั้น มีอยู่ 4 ขั้นตอนง่าย ๆ ไม่ยุ่งยากค่ะ ซึ่งรูปที่จะสอนระบายก็คือ รูปวาฬนั่นเองค่ะ ผู้ปกครองทุกท่านสามารถดาวน์โหลด ภาพระบายสี ได้ที่ด้านล่างของบทความ แนะนำให้ปริ้นแบบ Laser นะคะ เพราะถ้าปริ้นแบบ Inkjet ตัวหมึกอาจจะละลายตอนที่เราระบายน้ำได้ค่ะ ในภาพจะมีส่วนที่ให้ระบายสีหลัก ๆ 3 ส่วน และมีบางส่วนที่ลงสีไว้ให้เรียบร้อยแล้ว ส่วนที่ 1 คือส่วนที่แสงกระทบ ส่วนที่ 2 คือส่วนของตัววาฬ และส่วนที่ 3 คือเงาค่ะ ส่วนสีที่พี่ออยจะระบายใช้เพียง สีน้ำเงิน และ สีม่วง เท่านั้นนะคะ มาถึงตอนนี้แล้ว ทุกคนพร้อมกันหรือยังคะ ถ้าพร้อมแล้วก็ไปเริ่มกันเลย

ในภาพใบงานระบายสีจะมีส่วนที่ลงสีไว้ให้แล้ว และแบ่งส่วนการระบายออกเป็น 3 ส่วน
ในภาพระบายสีจะมีส่วนที่ลงสีไว้ให้แล้ว และแบ่งส่วนการระบายออกเป็น 3 ส่วน

ขั้นตอนที่ 1 ระบายสีน้ำเงินเป็นสีพื้น โดยให้เด็ก ๆ เริ่มระบายรอบ ๆ ขอบของภาพก่อน เพื่อกันการระบายออกนอกกรอบ จากนั้นระบายสีน้ำเงินให้ทั่วทั้งส่วนที่ 2 และ 3 โดยให้เว้นส่วนที่ 1 ไว้ไม่ต้องลงสี เพราะเป็นส่วนที่แสงตกกระทบค่ะ

ระบายขอบของภาพ เพื่อกันการระบายออกนอกกรอบ
ระบายสีน้ำเงินให้ทั่วทั้งส่วนที่ 2 และ 3 โดยเว้นส่วนที่ 1 ไว้

ขั้นตอนที่ 2 ระบายสีม่วง ในส่วนที่ 3 โดยออกแรงกดเพิ่มขึ้นนิดหน่อย ย้ำเลยนะคะว่า นิดหน่อยจริง ๆ อย่ากดจนเข้มมากค่ะ ส่วนนี้จะเป็นส่วนที่เข้มที่สุด เพราะเป็นส่วนเงาของวาฬนะคะ

ระบายสีม่วง ในส่วนที่ 3

ขั้นตอนที่ 3 มาถึงขั้นตอนสำคัญกันแล้วนะคะ นั่นก็คือ การระบายน้ำนั่นเอง หลังจากที่ระบายสีจนเสร็จแล้ว ให้นำพู่กันจุ่มน้ำเล็กน้อย ไม่ต้องถึงกับชุ่มนะคะ แล้วใช้ระบายทับลงบนส่วนที่ 1 และ 2 โดยระบายให้มีสีฟ้าติดเข้ามาในส่วนที่ 1 จาง ๆ เพื่อให้กลมกลืนกับส่วนที่ 2 แล้วค่อย ๆ ระบายไล่ไปจนทั่วส่วนที่ 2

ใช้พู่กันจุ่มน้ำระบายทับลงบนส่วนที่ 2 โดยระบายให้มีสีฟ้าติดเข้ามาในส่วนที่ 1 จาง ๆ

ขั้นตอนที่ 4 ใช้น้ำระบายส่วนที่ 3 แล้วเกลี่ยสีของส่วนที่ 2 และ 3 ให้กลมกลืนกัน จากนั้นเก็บรายละเอียดรอบ ๆ ภาพ และส่วนที่สียังไม่สม่ำเสมอ ก็เป็นอันเสร็จเรียบร้อยแล้วค่ะ

ใช้น้ำระบายส่วนที่ 3
เกลี่ยสีของส่วนที่ 2 และ 3 ให้เข้ากัน

ภาพเปรียบเทียบการระบายสี

หลังจากที่ระบายสีและเก็บรายละเอียดต่าง ๆ เสร็จเรียบร้อยแล้ว พี่ออยได้นำภาพก่อนระบายน้ำ และหลังระบายน้ำมาเปรียบเทียบกันดูค่ะว่า จากภาพระบายสีไม้ กลายเป็นภาพระบายสีน้ำได้ในไม่กี่ขั้นตอน

ภาพระบายสีไม้ระบายน้ำ ก่อนและหลังระบายน้ำ
รูปวาฬก่อนและหลังระบายน้ำ เมื่อระบายน้ำแล้วสีของภาพจะสดขึ้น

นอกจากรูปวาฬแล้ว พี่ออยยังได้สอนระบายสีรูปอีก 4 ชุด รวมทั้งหมด 16 รูป พร้อมมี ภาพระบายสี ให้ผู้ปกครองและคุณครูโหลดไปฝึกระบายกับเด็ก ๆ ให้จุใจกันไปเลยค่ะ งานนี้ต้องมีการกำเนิดจิตรกรน้อยขึ้นมาแน่ ๆ

Tip & Trick
ถ้าหากพลาดระบายน้ำเยอะเกินไป ให้ใช้ทิชชูม้วน ๆ เป็นปลายแหลม แล้วนำไปซับน้ำที่เป็นส่วนเกินออกนะคะ

สีที่ใช้ระบาย เป็นเพียงแนวทางการใช้สีที่พี่ออยนำมาใช้เป็นตัวอย่างนะคะ หากผู้ปกครอง หรือ เด็ก ๆ ต้องการที่จะใช้สีอื่น ๆ หรือลองจับคู่สีเองก็ไม่มีปัญหาค่ะ ดีเสียอีกที่เด็ก ๆ จะได้ใช้จินตนาการ ความคิดสร้างสรรค์ และลงมือลองสิ่งใหม่ ๆ ด้วยตัวเอง

เด็กกำลังฝึกใช้สีไม้ระบายน้ำ
น้องแอลล์กำลังฝึกใช้สีไม้ระบายน้ำ
เด็กกำลังระบายภาพโลมาด้วยสีไม้ระบายน้ำ
น้องแอลล์ใช้พู่กันค่อย ๆ ระบายน้ำบนโลมา
เด็กและผลงานการระบายสีไม้ระบายน้ำ
เสร็จแล้วค่ะ ผลงานของหนู

ในบทความนี้ พี่ออยก็ได้สอนใช้สีไม้ระบายน้ำแบบง่าย ๆ ไปแล้ว หวังว่าผู้ปกครอง หรือคุณครูหลาย ๆ ท่านจะได้นำไปสอน และทำกิจกรรมร่วมกับเด็ก ๆ ต่อไปนะคะ เพราะการใช้สีไม้ระบายน้ำนั้น ถือว่าเป็นอีกหนึ่งกิจกรรมที่ฝึกกล้ามเนื้อมือให้กับเด็ก ฝึกให้เด็กมีความใจเย็น มีสมาธิจดจ่อกับสิ่งใดสิ่งหนึ่งได้นาน ๆ ช่วยให้เด็กออกห่างจากหน้าจอได้สักพักใหญ่ ๆ เลยค่ะ พี่ออยเชื่อว่าการฝึกเด็กให้มีสมาธิจดจ่อ จะช่วยให้เด็กกำกับควบคุมตัวเองได้ดี ทำให้พร้อมที่จะเรียนรู้ ส่วนในบทความหน้า พี่ออยจะมาสอนหรือชวนทำกิจกรรมอะไรอีก ฝากติดตามกันด้วยนะคะ

ในการใช้สีไม้ระบายน้ำแรก ๆ หากผลงานของเด็ก ๆ ที่ออกมายังไม่เป็นไปตามที่คิด มีเลอะ มีเลยขอบบ้าง ไม่เป็นไรเลยค่ะ อาจจะยังไม่ชินมือในครั้งที่ 1 หรือ ไม่เก่งในครั้งที่ 2, 3 แต่ฝีมือเด็ก ๆ จะพัฒนาขึ้นทุกครั้งที่ได้ฝึกนะคะ ผู้ปกครอง หรือ คุณครูก็ควรให้กำลังใจเด็ก ๆ ในทุกครั้งด้วย เพื่อให้เด็ก ๆ ไม่หมดแรงใจและอยากฝึกซ้ำ ๆ เพราะพี่ออยเชื่อว่า ความสมบูรณ์แบบ สร้างได้ด้วยการฝึกฝนค่ะ

คลิกดูขั้นตอนการระบายสีไม้ระบายน้ำ

ดาวน์โหลด
4 รายการ