จากบทความครั้งที่แล้ว ทีมงานได้สอนเทคนิคการฝึกระบายสี เรื่อง การใช้สีไม้พื้นฐาน​ 12 สี ไปแล้ว เป็นยังไงบ้างคะ ผู้ปกครองได้ลองทำตามกันบ้างแล้วหรือยังเอ่ย? คราวนี้ทีมงานจะเพิ่มระดับความยากขึ้นไปอีกขั้น เพื่อให้งานระบายสีของเรานั้นดูน่าสนใจมากขึ้น นั้นคือ การระบายสีโดยใช้โทนสีใกล้เคียง ซึ่งการระบายสีแบบนี้เป็นการใช้สีมากกว่า 1 สี ฟังดูเหมือนจะยากใช่มั้ยคะ แต่ความจริงแล้วไม่ยากเลยค่ะ ถ้าได้ระบายสีตามเทคนิคที่ทีมงานแนะนำ และก่อนที่เราจะไประบายสีกัน เราลองมาทำความรู้จักกับสีกันก่อนดีกว่า ว่าสีต่าง ๆ นั้นมีที่มาเป็นอย่างไรกันน้าาา

แม่สี คืออะไรนะ?

คือสีที่ให้กำเนิดสีต่าง ๆ นั้นก็คือ สีแดง สีน้ำเงิน และ สีเหลือง เป็นสีที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ ไม่สามารถผสมออกมาได้ ซึ่งเป็นรากฐานของสีต่าง ๆ บนโลกนั้นเอง

วงจรสี คืออะไรนะ?

วงจรสี หมายถึง การนำเอาแม่สีธรรมชาติทั้ง 3 สี คือ สีเหลือง สีแดง สีน้ำเงิน มาผสมกัน ให้เกิดสีใหม่ขึ้นมาเรียงกันเป็นวง เรียกว่า “วงจรสี” จะเป็นสีพื้นฐานมีทั้งหมด 12 สี ดังรูป

วงจรสี
วงจรสี 12 สี

สีมีโทนด้วยนะ

โทนสี ในภาษาไทยจะเรียกว่า วรรณะสี แต่ทีมงานจะเรียกว่า โทนสีแล้วกันนะคะ แล้วในวงจรสีก็สามารถแบ่งโทนสีได้หลัก ๆ 2 โทน คือ

สีโทนร้อน จะแบ่งออกเป็น 3 สีหลัก ๆ ด้วยกัน คือ สีแดง สีส้ม สีเหลือง รวมทั้งสีจากการผสมของทั้ง 3 สี เช่น สีแสด หรือสีส้มอมเหลือง เป็นต้น สีโทนนี้จะให้ความรู้สึกตามชื่อของโทนสีเลยค่ะ นั้นคือ ร้อนแรง อบอุ่น สดใส ร่างเริง และสนุกสนาน ซึ่งเป็นโทนสีที่ทีมงานใช้บ่อยมากเลยนะคะ

สีโทนร้อน (Warm Tone)
สีโทนร้อน (Warm Tone)

สีโทนเย็น จะแบ่งออกเป็น 3 สีหลัก ๆ คือ สีม่วง สีน้ำเงิน และสีเขียว รวมทั้งสีที่เกิดจากการผสมของทั้ง 3 เช่น สีเขียวน้ำทะเล และสีม่วงเปลือกมังคุด เป็นต้น สีโทนนี้จะให้ความรู้สึกตรงกันข้ามกับโทนสีร้อนเลยค่ะ คือโทนสีนี้จะให้ความรู้สึกสุภาพ สงบ ลึกลับ หรูหรา ซึ่งเป็นโทนสีที่ทีมงานชื่นชอบมากที่สุดเลยก็ว่าได้ค่ะ

สีโทนเย็น (Cool Tone)
สีโทนเย็น (Cool Tone)

การเลือกใช้สี

ทีมงานเชื่อว่าทุกคนมีสีที่ชอบและอยากระบายเป็นอันดับแรกอยู่แล้ว แต่ถ้าเลือกสีที่เข้ากันตามสีของธรรมชาติ เช่น ส้มก็จะใช้สีส้มเป็นสีหลัก และ สีเหลือง สีน้ำตาล เป็นสีรองที่มาระบายเสริม เป็นต้น ก็จะทำให้รูปของเรานั้นดูดีมากขึ้นได้เลยนะคะ ดังนั้นการเลือกใช้สีมาระบายจึงเป็นจุดสำคัญของการเลือกระบายสีนั้นเองค่ะ และการเลือกใช้สีมีหลากหลายรูปแบบไม่ว่าจะเป็น การเลือกใช้สีที่มีลักษณะคล้าย ๆ กัน การเลือกใช้โทนสี 3 สีที่ติดกัน หรือการเลือกใช้โทนสีเดียว เหมือนกับทีมงานได้สอนไว้ในครั้งที่แล้วค่ะ แต่ส่วนมากจะนิยมใช้อยู่ 2 รูปแบบ ที่ไม่ซับซ้อนมากเกิน คือ

สีโทนใกล้เคียง คือ การเลือกใช้สีในวงจรสี 3-4 สีที่อยู่ติดกัน การเลือกใช้โทนสีใกล้เคียงนี้จะทำให้สีเข้ากันได้ง่ายมาก กลมกลืนกัน สีจะไม่ดูโดดไปคนละทาง หรือว่าแข่งกันเด่นนั้นเอง ดังนั้นโทนสีเหล่านี้จะมีความใกล้เคียงกัน เช่น สีแดง สีส้ม สีเหลือง หรือ สีเขียว สีเหลือง สีน้ำเงินค่ะ

ตัวอย่างภาพโทนสีใกล้เคียง
ตัวอย่างภาพโทนสีใกล้เคียง

สีคู่ตรงข้าม คือ สีอยู่ด้านตรงข้ามกันในวงจรสี เวลาระบายจะมีสีหลักหนึ่งสีและอีกหนึ่งสีเป็นสีรอง สีโทนนี้จะแอบใช้ยากนิดหน่อยเพราะสีจะแย่งกันเด่น เราต้องแบ่งให้สีหลักมีพื้นที่เยอะกว่าสีรองจะดีที่สุดค่ะ และรูปที่ใช้โทนสีนี้ทำให้ดูโดดเด่นอย่างมาก ดังนั้นโทนสีเหล่านี้จะมีสีที่แตกต่างกัน เช่น สีน้ำเงินกับสีส้ม สีแดงกับสีเขียว หรือสีเหลืองกับสีม่วง

ตัวอย่างภาพโทนสีคู่ตรงข้าม
ตัวอย่างภาพโทนสีคู่ตรงข้าม

มาเริ่มระบายสีกันเลย

ขั้นตอนการระบายสีของทีมงานจะมีแค่ 4 ขั้นตอนง่าย ๆ เหมือนเช่นเคย โดยเแอปเปิลของเรานั้นจะใช้ทั้งหมด 3 สี คือ สีแดง สีครีม และสีน้ำตาลนั้นเอง ส่วนสีที่ทีมงานใช้จะเป็นสีไม้ 36 สี ยี่ห้อ Colleen นะคะ พร้อมแล้วมาลุยกันเลย

ขั้นตอนที่ 1 เริ่มจากระบายสีรอบที่ 1 จะใช้สีหลักของเรา คือ สีแดง ให้เป็นสีของแอปเปิล โดยระบายสีอ่อน ๆ ทับหมายเลข 1 2 และ 3 ช้า ๆ ไปในทิศทางเดียวกัน ไม่ต้องรีบระบายนะคะ

ระบายสีแดงระดับอ่อนให้ทั่วรูป

ขั้นตอนที่ 2 เราจะใช้สีเพิ่มมาอีก 2 สี คือ สีครีม และ สีน้ำตาล โดยให้ระบายสีครีมส่วนของแสงที่เป็นหมายเลข 1 ในระดับสีเข้มออกแรงกดมากขึ้น (ทีมงานใช้สีครีมเพราะว่าเป็นที่ทำให้แสงของแอปเปิลดูเด่นออกมา) แล้วระบายสีน้ำตาลทับของช่องหมายเลข 3 อยู่ที่ระดับสีกลางออกแรงกดสีขึ้นเล็กน้อย เพื่อเพิ่มความเข้มของสี ให้เป็นสีของเงาแอปเปิลนั้นเอง (ส่วนสีน้ำตาลเป็นที่ใกล้เคียงกับสีแดงแล้วทำให้เงาดูสมจริงมากขึ้น)

ระบายสีครีมระดับเข้ม ช่องที่ 1 และระบายสีน้ำตาลระดับกลาง ช่องที่ 3

ขั้นตอนที่ 3 เป็นขั้นตอนที่สำคัญในการระบายสี เพราะเป็นการระบายสีระดับเข้มในส่วนของผลแอปเปิลนั้นเอง จะใช้สีแดงระบายในช่องหมายเลข 2 และ 3 โดยให้ออกแรงกดสีมากขึ้น แต่เว้นช่องหมายเลข 1 ที่เป็นสีครีมไว้นะคะ

ระบายสีแดงทับให้มีระดับเข้ม ตรงช่องที่ 2 และช่องที่ 3 ให้เข้มที่สุด

ขั้นตอนที่ 4 เป็นการทำให้รูปดูดีมากขึ้นก็คือ การเกลี่ยสี จะเห็นว่าตอนนี้สีแอปเปิลของเราแบ่งเป็น 3 สี เห็นได้ชัดใช่มั้ยคะ เราต้องทำการเกลี่ยสีให้เข้ากัน โดยใช้สน้ำตาลระบายในพื้นที่เงา และใช้สีแดงระบายบริเวณรอบขอบพื้นที่แสง ค่อย ๆ ระบายไม่ต้องออกแรงกดเยอะให้สีกลืนเข้ากัน แล้วก็เก็บความเรียบร้อยของขอบรูป หรือบริเวณส่วนไหนที่สีอ่อนไปก็ระบายซ้ำให้สีสม่ำเสมอได้นะคะ

เกลี่ยสีให้เข้ากันให้เรียบร้อย
เก็บรายละเอียดสีเพื่อเพิ่มความสวยงาม

เมื่อเราระบายสีเสร็จแล้ว ลองนำภาพแอปเปิลผลงานครั้งที่แล้ว มาลองเปรียบเทียบกันดู จะเห็นได้ว่าสีของแอปเปิลดูสดขึ้นใช่มั้ยคะ

การระบายสีไม้แบบสีเดียว
การระบายสีแบบสีเดียว
การระบายสีไม้แบบโทนสีใกล้เคียง
การระบายสีแบบโทนสีใกล้เคียง

นอกจากนี้ทีมงานก็ยังมีสอนระบายสีไม้อีก 12 รูป พร้อม ใบงานระบายสี มาฝากอีกเช่นเคย ให้ผู้ปกครองนำไปสอนลูกระบายสีทำเป็นกิจกรรมศิลปะสำหรับเด็กได้อีกด้วยนะคะ รับรองว่าเด็ก ๆ จะได้สนุกสนานกับการระบายสีแน่นอนค่ะ

สำหรับเด็กเล็ก ผู้ปกครองสามารถ​ใช้เทคนิคสอนเด็ก ๆ ให้ระบายสีเป็นช่อง ๆ โดยช่องที่ 1 ให้ระบายสีอ่อน ๆ ช่องที่ 2 ให้ระบายสีตามปกติ และช่องที่ 3 ให้ระบายสีเข้มขึ้นค่ะ
ครูโอ๋คอยสอนน้องแอลล์ระบายสี ถือเป็นกิจกรรมภายในครอบครัวอีกหนึ่งกิจกรรมเลยค่ะ
ครูโอ๋คอยสอนน้องแอลล์ระบายสีอย่างตั้งใจ

สำหรับบทความนี้ทีมงานได้แนะนำทฤษฎีสีต่าง ๆ และการระบายสีแบบโทนสีใกล้เคียง ซึ่งจะมีความยากขึ้นมาอีกขั้น แต่ผลงานการระบายสีจะโดดเด่นขึ้นมาอย่างมากเลยนะคะ ซึ่งอาจจะเหมาะสำหรับผู้ปกครองที่มีความสนใจด้านนี้จริง ๆ ส่วนในบทความครั้งหน้านั้น ทีมงานจะมีเทคนิคการะบายสีชนิดพิเศษมาแนะนำกัน ถ้าอยากรู้ว่าเป็นสีชนิดไหนอดใจรอบทความต่อไปนะคะ

คลิกดูขั้นตอนการระบายสีไม้แบบโทนสีใกล้เคียง

ดาวน์โหลด
1 รายการ