ในปัจจุบัน ผู้ปกครองและคุณครูหลาย ๆ คน คงเคยได้ยินหรือคุ้นชินกับคำว่า การศึกษาในศตวรรษที่ 21, STEAM และ การเรียนรู้แบบ EF (Executive Functions) ที่จริงแล้ว ทั้ง 3 เรื่องนี้ ไม่ใช่เรื่องใหม่ เพราะผู้เชี่ยวชาญด้านการศึกษา ได้ทำการศึกษาและนำผลการศึกษา มาปรับใช้ในห้องเรียนกันมานานแล้ว ประกอบกับผู้ปกครองในยุคปัจจุบัน เริ่มให้ความสำคัญกับการศึกษาในศตวรรษที่ 21 มากขึ้น จึงทำให้การจัดการเรียนรู้ ในยุคปัจจุบัน จึงมีการนำ คำทั้ง 3 เรื่องนี้ มาอ้างอิงกับหลักสูตรการศึกษากันมากขึ้น

ซึ่งตัวครูแหม่มเองก็ได้ศึกษา ค้นคว้าข้อมูล และทำความเข้าใจ เกี่ยวกับรูปแบบการจัด การศึกษาในศตวรรษที่ 21, STEAM มาตั้งแต่สมัยเรียนและทำงานมาโดยตลอด ส่วนตัวครูแหม่มมองว่า การศึกษาเหล่านี้ไม่ได้มีอะไรใหม่เลย เพราะในช่วงที่ครูแหม่มเป็นนักศึกษา และมาเป็นคุณครู จนมาศึกษาต่อในระดับ ป.โท ในระยะเวลาที่ผ่านมาตลอด 20 ปี การจัดรูปแบบการศึกษา ตาม ทักษะเด็กในศตวรรษที่ 21 และ STEAM เมื่อนำมาเปรียบเทียบกัน ก็ไม่ค่อยแตกต่างกันเท่าไหร่ แต่จะมีเพียงบางหัวข้อที่เริ่มพูดถึงกันมากขึ้นคือ เทคโนโลยี ซึ่งครูส่วนมากก็ จะเจอปัญหาในการอธิบายหรือขยายความ เรื่องความเกี่ยวเนื่องกันของ การจัดกิจกรรมนั้น ๆ ว่าเด็ก ๆ ได้ทักษะอะไรบ้าง

ส่วน EF (Executive Functions) นี้เพิ่งจะมีการกล่าวถึง เมื่อประมาณ 5-7 ปี ที่แล้วนี้เอง อาจเป็นเพราะการศึกษาในศตวรรษที่ 21 กับ STEAM อาจจะดูเข้าใจยาก เพราะมีหลากหลายแกน สำหรับตัวครูแหม่มเองได้ศึกษาทักษะทั้ง 9 ด้านของ EF แล้วก็ไม่แตกต่างกันกับทั้ง การศึกษาในศตวรรษที่ 21 และ STEAM เพียงแต่ผู้ศึกษาอาจจะศึกษาแล้วทำความเข้าใจได้ง่ายกว่า

การศึกษาในศตวรรษที่ 21 STEAM และ EF (Executive Functions) มีความเชื่อมโยงกัน ทั้งยังแทรกอยู่ในหลักสูตรการเรียนการศึกษามานานแล้ว
รูปแบบการศึกษาตาม ทักษะเด็กในศตวรรษที่ 21 STEAM และ EF ที่มีความเกี่ยวข้องกัน

ครูแหม่มเองได้นำการพัฒนาทักษะเด็กในศตวรรษที่ 21 และ STEAM มาส่งเสริมเด็กในชั้นเรียนแทบจะทุกแกน ตั้งแต่สมัยเมื่อ 15 ปีที่แล้ว ครูแหม่มเอาหลักการอธิบายทักษะที่เด็กควรจะมี มาใช้คู่กับ การจัดการเรียนรู้แบบ Project Approach การจัดการสอนแบบนี้ อาจจะยังไม่เป็นที่แพร่หลายในช่วงนั้น อาจจะด้วยความไม่พร้อมเรื่องอุปกรณ์ สื่อการเรียนการสอนในบางโรงเรียน เช่น สื่ออุปกรณ์วิทยาศาสตร์ หรือของเล่นที่ส่งเสริมทักษะด้านต่าง ๆ และที่สำคัญไม่ทันสมัยเท่าในปัจจุบัน

เมื่อก่อนสื่อการสอนเด็ก ครูจะเป็นผู้ผลิตสื่อ และนำไปใช้สอนเด็ก ซึ่งสื่อเหล่านั้น ส่วนใหญ่จะทำจากกระดาษเกือบจะทุกชิ้น ไม่หวือหวาพอที่จะดึงดูดความสนใจเหมือนทุกวันนี้ และบางหน่วยงาน คุณครูอาจจะต้องซื้อหามาเอง จึงทำให้ การพูดถึง การส่งเสริมเด็กตาม ทักษะเด็กในศตวรรษที่ 21 และ การเรียนรู้แบบ STEAM จึงไม่เป็นที่แพร่หลาย

ครูเป็นคนทำสื่อการสอนให้เด็ก ๆ ด้วยตัวเอง โดยทำจากกระดาษเป็นส่วนใหญ่
คุณครูต้องทำสื่อการสอนด้วยตัวเอง ซึ่งอาจดึงดูดความสนใจเด็กได้ไม่มากพอ

แต่ในปัจจุบัน สังคมมีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว มีการแข่งขันสูง เทคโนโลยีก็เร็วจนตามไม่ทัน แล้วที่สำคัญสื่อการสอนในปัจจุบันได้พัฒนาจากเมื่อก่อนมาก และมีหลากหลายไม่น่าเบื่อ มีความคงทน สีสันสดใส ราคาไม่แพง ซึ่งจะช่วยกระตุ้นการอยากเรียนรู้ให้เด็ก ๆ ได้เป็นอย่างมาก การศึกษาในปัจจุบันจึงเน้นส่งเสริมให้เด็กมีความรู้เกี่ยวกับทักษะชีวิต ทักษะอาชีพ และสอนให้เด็กรู้เท่าทันเทคโนโลยี ให้เด็กใช้เป็น และถูกวิธี หรือใช้คอมพิวเตอร์แบบพื้นฐานได้

ดังนั้น สื่อการสอนในปัจจุบันนี้ จึงถูกออกแบบมาให้สอดคล้องกับความสามารถ และทักษะที่เด็กควรจะมี ในบางโรงเรียนก็จะมีการสอนเด็กให้สร้างอัลกอริทึม หรือที่เรียกว่า Coding ที่เน้นฝึกตรรกะการสร้างกระบวนการคิด การตัดสินใจที่เป็นระบบและแบบแผน เอาจริง ๆ จะคล้ายกับการสอนให้เด็ก เรียงลำดับเหตุการณ์ หรือการคิดเป็นระบบ ที่เราใช้ในชีวิตประจำวันนั่นเอง และบางโรงเรียนก็มีการจัดห้องทดลองให้เด็ก ๆ ได้ทำการทดลองเล็กๆ หรือ จัดสถานที่ เอื้ออำนวยต่อการเรียนรู้ที่มากขึ้น ไม่เหมือนแต่ก่อน ที่การเรียนรู้จะมีอยู่แค่ในห้องเรียนของตนเองกับครูประจำชั้น ในอนาคตครูแหม่มเชื่อว่า เทคโนโลยีจะมีความสำคัญต่อการดำรงชีวิตของเด็ก จนกลายเป็นเรื่องปกติในชีวิตของเด็ก ๆ เอง

ในมุมมองของครูแหม่มเอง ก็มีความสนใจที่จะนำแกนหลักของ การศึกษาในศตวรรษที่ 21 มาควบรวมกับ STEAM อย่างจริงจัง มา 3 ปี แล้ว และมีการนำไปปฏิบัติจริงกับเด็ก ๆ ในศูนย์วิจัยฯ ที่ครูแหม่มดูแลอยู่ นำมาบูรณาการกับเทคโนโลยีที่มีอยู่ในปัจจุบัน โดยจัดการศึกษาร่วมให้เหมาะสมกับวัยของเด็ก และเนื้อหาที่กำลังสอน ควบคู่กันไป

การศึกษาในศตวรรษที่ 21 คืออะไร?

การศึกษาในศตวรรษที่ 21 ในมุมมองของครูแหม่ม จะแบ่งออกเป็น 3 แกนหลัก ๆ คือ

1. แกนความรู้พื้นฐานทั่วไป

จำแนกออกมาเป็นด้านต่าง ๆ ได้ดังนี้
222222
ด้านการอ่าน และเขียน
การอ่านนิทาน หรือหนังสือเรียนทั่วไปและการฝึกเขียนชื่อหรือพยัญชนะต่าง ๆ
222222
ด้านการคำนวณ
เรียกง่าย ๆ คณิตศาสตร์ การบวก ลบ คูณ หาร
222222
ด้านการเงิน
การรู้จักใช้จ่าย ประหยัด ออม
222222
ด้านวิทยาศาสตร์
การสังเกต การเรียนรู้จักการแก้ปัญหา
222222
ด้านเทคโนโลยี
การเข้าถึงเครื่องมือสารสนเทศ การสื่อสารต่าง ๆ รู้เท่าทันสื่อในปัจจุบัน
222222
ด้านวัฒนธรรม
สนับสนุนให้เด็กเรียนรู้ทำกิจกรรมที่สะท้อนวัฒนธรรมต่าง ๆ

2.แกนความสามารถและทักษะที่เด็กควรจะมี

222222
การคิดอย่างมีวิจารณญาณ
ความสามารถในการหาทางแก้ไขปัญหา คิดไตร่ตรองอย่างรอบคอบรู้จักแยกแยะสิ่งไหนเป็นเรื่องจริง
222222
การคิดสร้างสรรค์
ความสามารถในการสร้างนวัตกรรมสิ่งใหม่ ๆ และคิดนอกกรอบ
222222
การสื่อสาร
การฟังและการพูดรวมถึงการอ่านและการเขียน เพราะการสื่อสารที่ดี คือการรู้จักสังเกตและให้ความสำคัญกับบุคคลอื่น
222222
ความร่วมมือ
การรู้จักเข้าสังคมกลุ่มและสามารถทำงานร่วมกันเป็นทีมได้สำเร็จ

3.แกนคุณสมบัติและเอกลักษณ์ที่เด็กควรมี

222222
ความอยากรู้
รู้จักคิด และมีวิจารณญาณ
222222
ความตระหนักรู้
ความรับรู้เข้าใจอารมณ์ของตัวเอง รู้จุดเด่น จุดด้อย ตัวเอง ยอมรับความภูมิใจของตนเองและผู้อื่น
222222
ความคิดริเริ่ม
ความสามารถในการรับผิดชอบในการทำงานไปสู่เป้าหมาย
222222
สังคมและวัฒนธรรม
รู้จักเข้าสังคม การมีส่วนร่วม รู้จักรับฟังความคิดเห็นของผู้อื่น เข้าใจในวัฒนธรรมที่แตกต่าง
222222
ความอดทน
ความมุ่งมั่น ตั้งใจที่จะทำสิ่งใดสิ่งหนึ่งให้สำเร็จตามเป้าหมายที่ตั้งไว้
222222
ความเป็นผู้นำ
การเรียนรู้การทำงานเป็นทีมหรือเรียกง่าย ๆ คือทำงานกลุ่มให้ความร่วมมือ และสามารถแสดงออกถึงการเป็นผู้นำได้ในบางโอกาส
222222
คิดยืดหยุ่น
ความสามารถในการคิดหลายสิ่งหลายอย่างในเวลาเดียวกันรู้จักการปรับเปลี่ยนความคิดตามการเปลี่ยนแปลงในความคาดหวังและความต้องการ

STEAM คืออะไร?

การเรียนรู้ของ STEAM ตามความเข้าใจที่ครูแหม่มศึกษาหาข้อมูลมานะคะ เรามาดูคำจำกัดความของอักษรแต่ละตัวกัน เริ่มกันที่ตัว

S (SCIENCE)

การเรียนรู้เกี่ยวกับวิทยาศาสตร์ ให้เด็กเรียนรู้และเข้าใจธรรมชาติช่างสังเกต จำแนก คำนวณ ตั้งสมมติฐานที่เป็นการเรียนรู้ให้เด็กรู้จักการคิดอย่างมีเหตุและผล โดยเด็กลงมือค้นคว้าหาความรู้ด้วยตนเองและมีความสามารถในการรู้จักแก้ปัญหาอย่างเป็นระบบ

T (TECHNOLOGY)

ความรู้ความเข้าใจและเข้าถึง เทคโนโลยี รู้จักใช้เครื่องมือช่วยง่าย ๆ ยกตัวอย่าง เช่น การใช้เครื่องมือช่วยที่เป็นดิจิตอล ในการอ่าน ก-ฮ, A-Z, นับเลข, ฟังนิทาน เด็กรู้จักเปิดหาข้อมูลได้เองจาก Youtube รวมไปถึงการใช้อุปกรณ์ช่วย ในการทำงานที่หาได้ใกล้ตัวในชีวิตประจำวัน เช่น กรรไกร ไม้บรรทัด เครื่องคิดเลข ฯลฯ

E (ENGINEERING)

การส่งเสริมให้เด็กรู้จักคิดออกแบบ คิดแก้ปัญหาต่าง ๆ ได้จากกิจกรรมที่ทำได้ง่ายทั้งเด็กเล็กและเด็กโต เช่น การให้เด็กหาวิธีต่อหอคอยให้สูงที่สุด โดยไม่ให้ล้ม นอกจาก จะได้ความสนุกสนานแล้วเด็กยังได้เรียนรู้วิธีการวางพื้นฐานรองรับน้ำหนักและการรับรู้เชิงพื้นที่

A (ART)

การส่งเสริมด้านศิลปะและความคิดสร้างสรรค์ ไม่ว่าจะเป็นการวาดภาพระบายสี การปั้น ที่สามารถช่วยให้เด็กได้ผ่อนคลายทางอารมณ์ และยังช่วยให้เด็กรู้จักสำรวจ ค้นคว้า ทดลอง จากการใช้วัสดุเดิมมาสร้างสิ่งใหม่ ๆ ซึ่งเป็นโอกาสให้เด็กรู้จักคิดริเริ่มจากจินตนาการได้

M (MATHEMATICS)

การเรียนรู้เกี่ยวกับตัวเลข ไม่ว่าจะเป็นตัวเลขอารบิค และตัวเลขไทย การรู้ค่าจำนวน การคำนวณ รู้จักรูปร่าง รูปทรง การเปรียบเทียบ รวมไปถึง การชั่ง ตวง และวัด เป็นต้น

จากที่ครูแหม่มกล่าวมาสรุปได้ว่า การเรียนรู้ของ การศึกษาเด็กในศตวรรษที่ 21 และ STEAM การศึกษาสองประเภทนี้นั้น มีแกนที่คล้ายกันอยู่ ครูแหม่มมองว่าแกนของ STEAM แต่ละแกนสามารถนำไปใช้ในแกนที่ 1 ของ การศึกษาเด็กในศตวรรษที่ 21 เพราะเป็นความรู้พื้นฐานทั่วไปที่เด็กควรจะได้เรียนรู้ คราวนี้ครูแหม่มจะมาแนะนำ กระแสการศึกษาที่กำลังมาอีกหนึ่งประเภทนั้นคือ EF ครูแหม่มมองว่าทักษะการเรียนรู้ของ EF ทั้ง 9 ด้านจะไปสอดคล้องกับแกนที่ 2 และ 3 ของการศึกษาเด็กในศตวรรษที่ 21 ครูแหม่มจะมาอธิบายดังนี้

EF (Executive Functions) คือ การบริหารความสามารถทางสมอง หมายถึงทักษะที่ช่วยให้มีสมาธิ วางแผน จัดลำดับความสำคัญ ทำงานเพื่อบรรลุเป้าหมาย ควบคุมพฤติกรรมและอารมณ์ของตนเอง รู้จักคิดยืดหยุ่นปรับให้เข้ากับสถานการณ์ใหม่ได้ และสุดท้ายมีส่วนร่วมในการคิดและการวางแผนร่วมกัน นักวิชาการได้แบ่งการเรียนรู้ของ EF ไว้ 9 ด้าน คือ

1.การริเริ่มลงมือทำ

การที่เด็กรู้จักลองผิดลองถูกกล้าคิด กล้าตัดสินใจในการริเริ่มลงมือทำงาน จากการคิดและลงมือทำตามความคิดจนเป็นผลงานตามที่ตั้งใจแบบไม่ผลัดวันประกันพรุ่ง

2.การคิดวางแผน

รู้จักวางแผนในการทำงานง่าย ๆ แก้ปัญหาง่าย ๆ ได้ตัวเองลงมือทำงานอย่างเป็นขั้นตอน เป็นระบบ ยกตัวอย่าง เช่น ถ้าจะทำขนมต้องทำอะไรเป็นลำดับแรกเด็กอาจจะตอบได้หลายมุมมองตามกระบวนการคิด

3.มีความมุ่งมั่น

มีเป้าหมาย อดทนในการทำสิ่งใดสิ่งหนึ่งให้สำเร็จตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ แม้มีอุปสรรคก็ไม่ท้อถอย เช่น การหัดปั่นจักรยานของเด็ก ๆ ที่ถึงแม้จะมีล้มบ้าง แต่ก็ไม่ท้อและพยายามจนบรรลุเป้าหมาย

4.มีความยืดหยุ่นของความคิด

ความคิดยืดหยุ่นทางความคิด เป็นอีกทักษะที่สามารถช่วยให้เด็กเอาตัวรอด และปรับตัวได้ง่ายในสังคมปัจจุบัน ซึ่งเป็นความสามารถในการปรับเปลี่ยนความคิดได้ตามสถานการณ์ มีความคิดสร้างสรรค์ และรู้จักคิดนอกกรอบ

5.การคิดไตร่ตรอง

รู้จักยับยั้งความคิดไม่ใช้อารมณ์ในการตัดสินใจ สามารถทดสอบการควบคุมอารมณ์ของเด็ก ได้ง่าย ๆ โดยตั้งเงื่อนไข เช่น สร้างเงื่อนไขว่า เด็กต้องระบายสีรูปภาพให้เสร็จก่อน แล้วจึงหยิบของเล่นมาเล่นได้ จากนั้นปล่อยให้เด็กอยู่ลำพัง ถ้าเด็กควบคุมอารมณ์ได้ ก็จะไม่หยิบของเล่นมาเล่นก่อนที่จะระบายสีเสร็จ ตามเงื่อนไขที่ตั้งไว้

6.การจดจำและนำไปใช้

จดจำสิ่งต่าง ๆ จากประสบการณ์และนำมาใช้ประโยชน์ได้เป็นทักษะการคิดที่เน้นความสามารถในการจดจำและใช้ข้อมูลที่เกี่ยวข้องนำมาประมวล เพื่อใช้งาน เช่น เมื่อถามว่าสัตว์อะไรที่มีคอยาว ๆ เด็กก็จะตอบตามที่เขาเคยเห็นหรือรู้จักอย่าง ยีราฟ และนกฟลามิงโก เป็นต้น

7.การจดจ่อ

ความสามารถในการมุ่งความสนใจอยู่กับสิ่งใดสิ่งหนึ่งได้นาน มีสมาธิ เช่น การอ่านหรือการนั่งฟังนิทานเด็กจะฟังอย่างตั้งอกตั้งใจ และไม่พูดแทรกจนกว่าจะฟังจนจบความสนใจ

8.รู้จักควบคุมอารมณ์

รู้จักควบคุมอารมณ์และแสดงออกมาได้อย่างเหมาะสมกับวัย เพราะเด็กเล็กต้องเผชิญกับสิ่งเร้าที่สามารถสร้างอารมณ์ต่าง ๆ ให้พวกเขาได้ตลอดทั้งวัน หากเด็กแสดงหรือตอบสนองอย่างไม่เหมาะสมต่อสิ่งเร้าเหล่านั้น เช่น อารมณ์เสียง่าย ใจร้อน อาจส่งผลเสียในการเข้ากับสภาพแวดล้อมทางสังคมของตัวเด็กเองได้

9.ประเมินตนเอง

รู้จุดแข็ง จุดอ่อน ของตัวเอง พร้อมที่จะปรับปรุงแก้ไขตัวเองได้ตลอดเวลา หากเด็กได้รับโอกาสในการแสดงความคิดและความรู้สึก เกี่ยวกับพฤติกรรมของตัวเอง เด็กจะสามารถนำมาเป็นพื้นฐานในการพัฒนาความตระหนักรู้ ลดพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม และพัฒนาการควบคุมพฤติกรรมของตนเอง ได้ดี

การบริหารสมองในวัยเด็กนั้น เป็นสิ่งที่ท้าทายสำหรับผู้ปกครองและครู แต่ถ้าเราเริ่มฝึกเด็กตั้งแต่วัย 3-8 ปี เราสามารถฝึกได้นะคะ แต่อาจจะไม่ครบทุกองค์ประกอบ เพราะเด็กก็ยังคือเด็ก เราสามารถส่งเสริมให้เค้าซึมซับไปทีละเล็กละน้อย ให้เค้าได้สะสมประสบการณ์ ให้มีความสามารถในการสร้างสรรค์สิ่งใหม่ เรียนรู้และลงมือทำ รู้จักแก้ปัญหาเป็น คิดเป็น จะช่วยให้เด็กพัฒนาจนเต็มศักยภาพและนำประสบการณ์เดิมที่ได้เรียนรู้ไปต่อยอดในอนาคต

ดังนั้น ครูแหม่มขอสรุปตามความเข้าใจนะคะว่า จริง ๆ การจัดรูปแบบการศึกษา ทั้ง 3 เรื่อง ที่กล่าวมา ทั้ง ทักษะเด็กในศตวรรษที่ 21, STEAM และ EF (Executive Functions) นั้น จะเน้น ไปในทางการลงรายละเอียดในการ อธิบายผลของการจัดกิจกรรมพัฒนาศักยภาพในตัวเด็กทั้งสิ้น ดังนั้น มันจึงไม่ใช่สิ่งใหม่อะไร และทั้ง 3 เรื่องนี้ ก็เป็นสิ่งที่เรานำมาบูรณาการเข้าด้วยกันได้ เพียงแค่ครูผู้สอนนำการจัดประสบการณ์การสอนเหล่านี้ มาเชื่อมโยงในแกนต่าง ๆ ได้และมีความเข้าใจดีพอ ที่จะอธิบายสิ่งเหล่านั้นได้อย่างมีเหตุและผล ครูแหม่มเชื่อว่าเราจัดองค์ความรู้ให้เด็ก ๆ ได้ครบทั้ง ทักษะเด็กในศตวรรษที่ 21, STEAM, EF (Executive Functions) อย่างแน่นอนค่ะ เป็นกำลังใจให้ผู้ปกครองและคุณครูผู้สอนทุกท่านนะคะ

แกนความรู้ และทักษะต่าง ๆ จาก ทักษะในศตวรรษที่ 21 STEAM และ EF ที่มีความเกี่ยวข้องเชื่อมโยงกัน
แกนความรู้ และทักษะต่าง ๆ จาก ทักษะในศตวรรษที่ 21 STEAM และ EF

ครูแหม่มหวังว่าบทความนี้จะเป็นประโยชน์ต่อผู้ปกครอง หรือคุณครูที่กำลังศึกษาหาข้อมูลในหัวข้อดังกล่าว เพราะในบางครั้งการที่เราตามเทรนด์การศึกษาในปัจจุบัน เราอาจจะไม่แน่ใจว่าการศึกษาแบบไหนจะส่งเสริมทักษะให้ลูกหรือเด็กในวัยอนุบาลได้ดีที่สุด และควรส่งเสริมการเรียนรู้ให้เด็กแบบไหนดี การได้รู้จักความหมายของเทรนด์การศึกษาเหล่านี้บ้าง ก็จะทำให้ผู้ปกครองตัดสินใจเลือกสถานที่ หรือหลักสูตรการเรียนรู้ให้กับลูกได้ง่ายขึ้นค่ะ เพราะไม่ว่ายังไงพ่อแม่ก็จะหาสิ่งที่ดีที่สุดให้ลูกอย่างแน่นอน