พัฒนาการทางด้านร่างกายสำหรับเด็กปฐมวัย คือการเจริญเติบโตทางด้านต่าง ๆ ของร่างกาย และการพัฒนาทักษะทางกายภาพ ให้มีความสามารถในการเคลื่อนไหว การรักษาความสมดุลของร่างกาย และการควบคุมการทรงตัวได้ดี รวมถึงช่วยประสานสัมพันธ์ของร่างกาย ให้ทำกิจกรรมต่าง ๆ ได้อย่างทะมัดทะแมงอีกด้วย ซึ่งการพัฒนาการทางร่างกายแบ่งออกเป็น 2 ส่วน ดังนี้

1. การเจริญเติบโตของร่างกาย คือการเปลี่ยนแปลงทางด้านร่างกายไม่ว่าจะเป็นน้ำหนัก และส่วนสูงที่เพิ่มขึ้น รวมถึงมวลกล้ามเนื้อ มวลกระดูก และระบบข้อต่อต่าง ๆ จะมีความแข็งแรงมากขึ้น

2. การพัฒนาทักษะทางกายภาพ คือการพัฒนาการเคลื่อนไหวของเด็ก ๆ ที่สามารถควบคุมร่างกาย ให้ทำกิจกรรมที่ซับซ้อนและยากขึ้นได้อย่างคล่องแคล่ว โดยพัฒนาการของการเคลื่อนไหวต้องขึ้นอยู่กับ รูปร่างและความแข็งแรงของกล้ามเนื้อด้วย

เด็กกำลังเล่นฟุตบอลอย่างเพลิดเพลิน
เด็กกำลังเล่นฟุตบอลและสามารถเคลื่อนไหวร่างกายได้อย่างคล่องแคล่ว

ความสำคัญของการพัฒนาการด้านร่างกาย

เด็กในวัยอนุบาลธรรมชาติของเค้าจะเรียนรู้ผ่านการเคลื่อนไหว การทำกิจกรรมต่าง ๆ โดยปกติในช่วงเช้าที่โรงเรียนจะมีกิจกรรมให้เด็ก ๆ ได้ทำการเคลื่อนไหวเข้าจังหวะประมาณ 20 นาที เพื่อทำให้ร่างกายของเด็กพร้อมที่จะเรียนหนังสือ ทำกิจกรรมในห้องเรียนได้อย่างคล่องแคล่ว ดังนั้นการเตรียมความพร้อมและพัฒนาร่างกายของเด็กให้เจริญเติบโตแข็งแรง จึงเป็นสิ่งสำคัญในชีวิตประจำวันสำหรับเด็ก โดยผู้ปกครองและคุณครูอาจมีส่วนร่วมกับเด็ก ๆ ทำกิจกรรมทั้งในร่มและกลางแจ้ง ไม่ว่าจะเป็นการออกกำลังกายที่บ้านหรือที่โรงเรียน เพื่อสังเกตการเคลื่อนไหวร่างกาย แล้วหาแนวทางส่งเสริมกิจกรรมที่เหมาะสมให้กับเด็ก ควรพิจารณาจากความพร้อมและความแข็งแรงของร่างกายของเด็กด้วยค่ะ

เด็ก ๆ กำลังเล่นว่าวกันอย่างสนุกสนานร่าเริง
เด็ก ๆ เล่นว่าวกันอย่างสนุกสนานและทำให้ร่างกายแข็งแรง

องค์ประกอบหลักในการทำงานของร่างกาย

กล้ามเนื้อมัดใหญ่ คือกล้ามเนื้อบริเวณ แขน ขา ลำตัว รวมไปถึงความสัมพันธ์ของอวัยวะต่าง ๆ ในร่างกายที่สามารถทำให้เคลื่อนไหวได้อย่างคล่องแคล่ว เช่น การวิ่ง การเดิน การทรงตัว การออกกำลังกาย และการเล่นกีฬาต่าง ๆ เป็นต้น

กล้ามเนื้อมัดเล็ก กล้ามเนื้อบริเวณข้อมือจนถึงปลายนิ้วมือ ทำหน้าที่ในการกด นวด ขยำ หยิบ จับ สิ่งของต่าง ๆ เช่น การจับดินสอ การปั้น การเล่นเปียโน การดีดกีต้าร์ และกล้ามเนื้อบริเวณตาใช้ในการกลอกตาไปมา ช่วยให้ลูกตาเคลื่อนที่เห็นสิ่งต่าง ๆ รอบตัวได้อีกด้วยค่ะ

การประสานงานของระบบประสาทกับกล้ามเนื้อในการทำงาน คือระบบประสาทส่วนกลางทำหน้าที่ ควบคุมการทำงานของกล้ามเนื้อแขน ขา ลำตัว และกล้ามเนื้อการหายใจ ทำให้ร่างกายสามารถเคลื่อนไหวได้อย่างสัมพันธ์กัน เช่น การวาดภาพ การระบายสี การฝึกเขียน การล้างหน้าแปรงฟัน การผูกเชือกรองเท้า การยิงประตูฟุตบอล เป็นต้น

กิจกรรมส่งเสริมพัฒนาการทางด้านร่างกาย

ผู้ปกครองและคุณครูสามารถส่งเสริมและพัฒนากล้ามเนื้อ โดยหากิจกรรมเล่นกับเด็ก ๆ ไม่ว่าจะเป็น การทรงตัว การเดิน การวิ่ง การกระโดด การคลาน การนอน การเอียงตัว ฯลฯ เพราะจะช่วยให้กล้ามเนื้อมีความแข็งแรงเพิ่มขึ้น และยังช่วยเสริมสร้างการประสานงานของ ระบบประสาทส่วนกลางกับกล้ามเนื้อ ส่งผลให้มือ เท้า ตา เคลื่อนไหว สัมพันธ์กันค่ะ ซึ่งการทำกิจกรรมไม่จำเป็นต้องทำที่บ้านเท่านั้น แต่ผู้ปกครองอาจจะพาเด็ก ๆ ไปทำกิจกรรมวันหยุด นอกบ้านได้ค่ะ เพราะการเรียนรู้นอกบ้านเปรียบเสมือนห้องเรียนที่กว้างใหญ่ ให้เค้าได้เรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ รอบตัว มากมาย จะช่วยให้เด็กรู้จักการสังเกต การปรับตัวอยู่ร่วมกันกับผู้อื่น และยังสร้างความทรงจำดี ๆ ได้อีกด้วยค่ะ ซึ่งกิจกรรมต่าง ๆ สามารถแบ่งเป็น

กิจกรรมการเล่น

คือกิจกรรมที่สอดคล้องกับธรรมชาติของเด็ก ที่สามารถเรียนรู้ได้ด้วยตนเอง เช่น กิจกรรมเล่นปีนป่าย กิจกรรมวิ่งเล่นในสนาม กิจกรรมการเล่นว่าว กิจกรรมการเดินทรงตัวบนเส้นตรง กิจกรรมการเล่นต่อบล็อค
- การเล่นบทบาทสมมติ (Role Playing) กิจกรรมสร้างสรรค์ สำหรับ เด็กปฐมวัย
- เสริมสร้างกล้ามเนื้อให้กับเด็ก ๆ ด้วย กิจกรรมนักสำรวจรูปเรขาคณิต
- ส่งเสริมทักษะการทรงตัวสำหรับเด็กปฐมวัย ด้วยกิจกรรมการยืนขาเดียวเก็บถุงทราย

กิจกรรมการออกกำลังกาย

คือกิจกรรมนันทนาการต่าง ๆ ที่เล่นได้ทั้งกลางแจ้งและในร่ม รวมถึงกิจกรรม การเล่นกีฬา เช่น การปั่นจักรยาน การเล่นฮูลาฮูป การวิ่งแข่ง การเล่นปิงปอง การเล่นแบดมินตัน กิจกรรมการโยนรับลูกบอล กิจกรรมโยนบอลเข้าตะกร้า
- กิจกรรมการว่ายน้ำสำหรับเด็ก ตอนที่ 1 เตรียมตัวลูกก่อนไปว่ายน้ำ
- กิจกรรมการว่ายน้ำสำหรับเด็ก ตอนที่ 2 สอนลูกว่ายน้ำด้วยทักษะพื้นฐาน
- โยคะเด็ก กิจกรรมเสริมสร้างศักยภาพเด็กปฐมวัย
- 6 ท่าออกกำลังกายที่พาลูกทำง่าย ๆ ได้ที่บ้าน
- ICE BALL เกมทุบน้ำแข็ง กิจกรรมเสริมสร้างพัฒนาการทางด้านร่างกาย
- วิ่งแข่งเก็บบอลสี กิจกรรมพัฒนากล้ามเนื้อมัดใหญ่ สำหรับเด็กปฐมวัย
- มินิกอล์ฟ กิจกรรมส่งเสริมพัฒนากล้ามเนื้อมัดใหญ่

กิจกรรมการเข้าจังหวะ คือกิจกรรมที่มีการเคลื่อนไหวส่วนต่าง ๆ ของร่างกายตามจังหวะเสียงเพลง เสียงดนตรี โดยมีอารมณ์และความรู้สึกร่วมกับการเคลื่อนไหวนั้น ๆ ด้วย เช่น กิจกรรมเต้นแอโรบิค กิจกรรมเก้าอี้ดนตรี กิจกรรมเล่นงูกินหาง กิจกรรมมอญซ่อนผ้า และกิจกรรมการเต้นประกอบเพลงต่าง ๆ เป็นต้น

จากที่กล่าวมาสรุปได้ว่า แนวทางจัดกิจกรรมพัฒนาการด้านร่างกายสำหรับเด็กปฐมวัย ที่ช่วยพัฒนากล้ามเนื้อมัดใหญ่ กล้ามเนื้อมัดเล็ก รวมถึงกระดูก และข้อต่อต่าง ๆ ให้มีความแข็งแรงเพิ่มขึ้น ส่งผลให้เด็กมีการเจริญเติบโตสมวัย มีพัฒนาการทั้ง 4 ด้าน (พัฒนาการด้านร่างกาย ด้านอารมณ์ ด้านสังคม และด้านสติปัญญา) อย่างสมบูรณ์ ทั้งนี้ผู้ปกครองและคุณครูควรปล่อยให้เด็ก ๆ ได้ทำกิจกรรมอย่างอิสระ เรียนรู้การอยู่ร่วมกันกับผู้อื่นอย่างมีความสุข อย่างน้อยวันละ 40-50 นาที ควรเน้นกิจกรรมที่ใช้การทำงานระหว่างมือ เท้า และตา ให้สัมพันธ์กันเป็นส่วนมากนะคะ และหลีกเลี่ยงการทำกิจกรรมกลางแดด ที่มีระยะเวลาการเล่นนาน ๆ รวมถึงหลีกเลี่ยงการเล่นแบบปะทะกัน เพื่อไม่ให้เกิดอันตราย เพราะกล้ามเนื้อ มวลกระดูก และข้อต่อของเด็ก ๆ เติบโตยังไม่เต็มที่ค่ะ

ผู้ปกครองและคุณครูไม่ควรปิดกั้นจินตนาการการเล่นของเด็ก ๆ ไม่ควรห้ามเด็กมากเกินไป แต่ให้คอยสังเกตแนะนำสิ่งที่ถูกต้อง ว่าสิ่งไหนควรปฏิบัติ สิ่งไหนไม่ควรปฏิบัติ อยู่ห่าง ๆ ค่ะ และการทำกิจกรรมแต่ละกิจกรรมนอกจากจะเน้นความสนุกสนานแล้ว ควรคำนึงถึงความปลอดภัยของเด็กเป็นสิ่งสำคัญด้วยนะคะ