สมุดสื่อสารของครูถึงผู้ปกครอง ?

  • ช่องทางการสื่อสารสองทางจากโรงเรียนสู่บ้านสื่อสารเกี่ยวกับการจัดกิจกรรมการเรียนการสอน
  • สื่อสารการเรียนรู้ของเด็กที่โรงเรียน
  • สื่อสารติดตามความก้าวหน้าของเด็ก ๆ
  • แจ้งข่าวสารประจำสัปดาห์ของโรงเรียน

สื่อสารโดยใคร...?

ระหว่างครูและผู้ปกครองหรือผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับเด็ก

จะรู้ไปทำไม...!

เพื่อติดตามการเรียนรู้ ใน 1 สัปดาห์เด็กได้เรียนรู้เรื่องอะไรกันบ้าง เด็กอยู่ที่โรงเรียนมีพัฒนาการเป็นอย่างไรเด็กอยู่บ้านมีพัฒนาการเป็นอย่างไร ผู้ปกครองและครูหรือผู้มีส่วนเกี่ยวข้องจะได้ช่วยกันส่งเสริมสิ่งที่ขาดหายไปหรือช่วยกันแก้ไขในสิ่งที่ควรแก้ไข เช่น ในเรื่องพฤติกรรมทางด้านลบ เป็นต้น

แล้วจะส่งเสริมอะไรได้บ้าง

ส่งเสริมพัฒนาการของเด็กทั้ง 4 ด้าน ที่ขาดหายไป 4 ด้าน คือ ร่างกาย อารมณ์-จิตใจ สังคม สติปัญญา เพื่อที่ผู้ปกครองกับครูช่วยกันส่งเสริมพัฒนาไปในทิศทางเดียวกัน

สมุดสื่อสารสำคัญมากไหม

สำคัญมาก....เด็กที่เริ่มเข้าโรงเรียนเป็นครั้งแรก คือเด็ก ๆ เตรียมอนุบาล แต่บางครอบครัวอาจจะมาอนุบาล 1 เลยก็ได้เพราะฉะนั้นเป็นเรื่องปกติที่ผู้ปกครองอยากรู้เป็นธรรมดาว่าเมื่อส่งเด็ก ๆ มาโรงเรียนแล้วมีพฤติกรรมเป็นอย่างไร....อยู่ร่วมในสังคมกับเพื่อน ๆ และร่วมทำกิจกรรมได้หรือไม่....การรับประทานอาหารทานเป็นอย่างไร....ตอนผู้ปกครองมาส่งแล้วกลับไปร้องไห้นานแค่ไหน.......ครู...ก็คือผู้ที่ต้องเขียนบรรยายสื่อสารเพื่อให้ผู้ปกครองรับรู้ว่าพฤติกรรมการมาโรงเรียนของเด็ก ๆ ในวันแรก ราบรื่นมากน้อยแค่ไหน ผู้ปกครองจะได้อุ่นใจไม่เป็นกังวล เมื่อส่งเด็ก ๆ มาโรงเรียน

ในส่วนของคุณครู


ครูควรจะมีไหวพริบและรู้หน้าที่ว่าในช่วงสัปดาห์ที่ 1 – 2 ควรจะเขียนสื่อสารให้พ่อ-แม่รับรู้พฤติกรรมของเด็ก ๆ อย่างละเอียด ถ้าเขียนสื่อสารได้ทุกวันในช่วง 1-2 สัปดาห์แรกก็จะยิ่งเพิ่มความไว้ใจให้ผู้ปกครองมากขึ้นแต่ก็เข้าใจนะคะ ว่าเป็นครูนั้นงานเยอะและยุ่ง ไม่ใช่แค่สอนเด็กเพียงอย่างเดียวถ้าไม่สะดวกเขียนสื่อสารรายวันได้ก็อาจจะเป็นหนึ่งสัปดาห์เขียนส่งผู้ปกครองซัก 2-3 ครั้ง แต่ในปัจจุบันที่เกือบทุก ๆ โรงเรียนจะส่งสมุดสื่อสารกลับมาให้ผู้ปกครองสัปดาห์ละ 1 ครั้ง

อ้อ! มีอีกประเด็นถึงคุณครู เข้าใจว่าสมุดสื่อสารคือสื่อสารในเรื่องสำคัญหรือมีจัดกิจกรรมในวันสำคัญต่าง ๆ ของทางโรงเรียนก็จะสื่อสารมาทางสมุด แต่บางครั้งเมื่อเอกสารทางโรงเรียนออกมาเป็นฉบับแล้วครูก็ไม่ควรที่จะติดเอกสารมาโดยไม่เขียนรายงานพฤติกรรมของเด็ก ๆ เลยในสัปดาห์นั้น ๆ เพราะเจอมากับตัวค่ะ เด็กเพิ่งเข้าโรงเรียนแทนที่คุณครูจะเขียนสื่อสารมาว่าเป็นอย่างไรบ้างใน วันแรกเปิดสมุดสื่อสารมาเจอแต่เอกสารนู่นนี่นั้นเสียบมาในสมุดสื่อสารเต็มไปหมด

พอสัปดาห์ที่สองเหมือนเดิมค่ะมีแต่เอกสารมาทำให้คนที่เป็นผู้ปกครองรู้สึกแย่และเป็นกังวลว่าลูกจะเข้ากับเพื่อน ๆ เข้ากับคุณครูที่โรงเรียนได้หรือเปล่า คุณครูต้องตระหนักนะคะ ว่าอาจมีผู้ปกครองบางท่านไม่ได้ไปรับหรือไปส่งเด็ก ๆ ที่โรงเรียนเอง แต่ให้เด็กขึ้นรถรับส่งโรงเรียนยิ่งทำให้ไม่มีโอกาสที่จะสนทนาสอบถามข้อมูลจากครูได้โดยตรง ครูควรสละเวลาสื่อสารให้ผู้ปกครองได้รู้ความเป็นอยู่ของเด็ก ๆ ให้ผู้ปกครองได้อุ่นใจจะดีมาก ๆ ค่ะ

สมุดสื่อสารไม่ได้สื่อสารเฉพาะเรื่องราวพฤติกรรมของเด็ก ๆ จากครูที่โรงเรียนเท่านั้นผู้ปกครองควรสื่อสารให้ครูทราบถึงพฤติกรรมที่บ้านของเด็กด้วย ว่าพัฒนาการที่บ้านเป็นอย่างไร ความสนใจของเด็กที่มีต่อการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนในห้องเรียนหรือความรู้สึกที่มีต่อครู โรงเรียน เพื่อนร่วมห้อง ควบคู่กันไปกับข้อเสนอแนะต่าง ๆ เพื่อให้ครูนำไปพัฒนาหรือปรับปรุงด้วยเช่นกัน

ดังนั้นคุณครูควรส่งสารอย่างสม่ำเสมอ ผู้ปกครองก็ควรรับสารและส่งกลับไปให้ครูด้วยเช่นเดียวกัน เพื่อการมีส่วนร่วมในการพัฒนาเด็ก ๆ ได้ทั้ง 4 ด้าน เพราะการมีส่วนร่วมของผู้ปกครองจะช่วยพัฒนาให้เด็กมีศักยภาพครบองค์รวมอย่างแท้จริง

ในส่วนของผู้ปกครอง


การที่คุณครูเขียนสื่อสารเพื่อรายงานพฤติกรรมของเด็ก ๆ แบบตรงไปตรงมาในบางครั้งอาจจะเป็นพฤติกรรมทางลบ ซึ่งก็เข้าใจได้ว่าผู้ปกครองบางท่านอาจจะไม่พอใจหรือไม่ชอบให้ครูเขียนในเชิงลบแต่ทั้งนี้ก็เพื่อให้ผู้ปกครองได้รับรู้และร่วมกันหาแนวทางพัฒนาเด็ก ๆ ไปในทิศทางเดียวกัน ผู้ปกครองควรยอมรับความคิดเห็นและยอมรับในพฤติกรรมของเด็กที่ครูรายงานมา และพร้อมทำตามคำแนะนำของครูในบางกรณีที่อาจมีข้อเสนอแนะมา ผู้ปกครองควรให้ความร่วมมือในการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเพื่อให้เด็กเกิดการเปลี่ยนแปลงและพัฒนาไปในทางที่ดีขึ้น ไม่ควรแสดงความไม่พอใจในเรื่องที่ครูเสนอแนะมาผู้ปกครองควรมีหน้าที่พูดคุยสนทนาปรับทัศนคติที่ดีกับเด็ก ส่วนครูที่โรงเรียนก็จะมีวิธีการที่กระตุ้นหรือวิธีปรับเปลี่ยนมุมมองของเด็กให้เป็นไปในทางที่ดีขึ้นซึ่งก่อให้เกิดการมีปฏิสัมพันธ์ที่ดีระหว่างครูและผู้ปกครอง