เด็กปฐมวัยหรือเด็กในช่วงอายุ 2-6 ปี เป็นช่วงวัยที่เด็กมักจะเรียนรู้สิ่งต่าง ๆ ได้เร็ว การที่เด็กเรียนรู้เรื่องต่าง ๆ ได้อย่างรวดเร็ว เข้าใจเรื่องราวในห้องเรียนได้ดี จะช่วยให้เด็กพัฒนาต่อยอดการเรียนรู้ไปสู่เรื่องอื่น ๆ ได้หลากหลาย แต่ในบางครั้งความคิดของเด็กอาจจะสับสนและไม่เป็นระบบ ซึ่งการสอนแบบ Mind Map จะช่วยกระตุ้นสมองให้เด็กคิดอย่างสมดุล ทำให้เกิดการเรียนรู้สิ่งใหม่ ช่วยการจดจำของเด็ก และยังส่งเสริมจินตนาการของเด็กได้อีกด้วย

เด็กมีความคิดที่สับสนและไม่เป็นระบบ
เด็กมีความคิดที่สับสนและไม่เป็นระบบ

Mind Map คือ...

เครื่องมือช่วยสอนการคิดแบบมีกระบวนการ ที่นำเอาทักษะของสมองทั้งซีกซ้ายและซีกขวามาใช้ร่วมกัน ทำให้ใช้สมองได้อย่างสมดุล โดยเป็นการเชื่อมโยงทางความคิดจากประสบการณ์เดิม (ข้อมูล) และความคิดที่เป็นอิสระ (จินตนาการ) ของเด็ก กระตุ้นความคิดภายในสมองของเด็กให้ถ่ายทอดสิ่งที่เด็กรู้และเข้าใจ ออกมาในลักษณะคล้ายแผนที่ แผนภาพ ที่แตกแขนงออกเหมือนกิ่งก้านของต้นไม้ และเชื่อมโยงกันเหมือนเซลล์ประสาทในสมอง โดยใช้ภาพ เส้น สี สัญลักษณ์ และคำสำคัญ มาใช้วาดจากตรงกลางแล้วกระจายความคิดออกไปเรื่อย ๆ จากการระดมหาข้อมูลความคิด (Brainstorm) ที่มีอยู่ในตัวของเด็กแต่ละคน จากประสบการณ์ตรงหรือประสบการณ์ใหม่ที่เด็กจะได้รับ
สมองซีกซ้ายเน้นเรื่องตรรกะ ภาษา และการตัดสินใจ  ส่วนสมองซีกขวาเน้นเรื่องการสร้างสรรค์ ความจำ และอารมณ์ความรู้สึก
สมองซีกซ้ายเน้นเรื่องตรรกะ ส่วนสมองซีกขวาเน้นเรื่องการสร้างสรรค์

สิ่งสำคัญของการทำ Mind Map

สิ่งสำคัญของการทำ Mind Map คือ ความสัมพันธ์ของแนวคิด มีการจัดลำดับความสำคัญของข้อมูล โดยการนำมาสอนแบบไดอะแกรมหรือแผนที่ความคิดที่แสดงความคิดเห็นในหัวเรื่องเดียวกัน ซึ่งวิธีการสอนที่นิยมนำมาสอนเด็กปฐมวัย ก็คือการสอนแบบ Project Approach เป็นการสอนโดยแตกความคิดของเด็กแต่ละคนออกมาเป็น Mind Map ซึ่งช่วยให้ผู้สอนรู้ในสิ่งที่เด็กรู้ หรือต้องการเรียนรู้เกี่ยวกับหัวข้อที่กำหนด โดยผู้สอนจะถามคำถามเพื่อกระตุ้นให้เด็กคิดและตอบ นอกจากนี้การเรียนการสอนแบบ Project Approach ยังช่วยให้ผู้สอนสะท้อนความรู้ จากประสบการณ์ของตนเองเป็นพื้นฐานในการชี้นำ

ทั้งนี้แนวคิดและหัวข้อหลักจะต้องสามารถเชื่อมโยง และเหมาะสมกับกระบวนการคิดวิเคราะห์ รวมถึงการจัดระบบความรู้ของเด็ก โดยผู้สอนจะต้องสอดแทรกเทคนิคต่าง ๆ เพื่อช่วยให้เด็กเห็นรูปแบบของการเชื่อมโยง รูปแบบของโครงสร้าง และแสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์ที่มีอยู่ระหว่างข้อมูลใน Map ซึ่งหัวข้อจะอยู่เป็นแกนกลางหรือในวงกลมของแผ่นกระดาษ แล้วจะถูกล้อมไปด้วยความคิด คำถาม และคำพูดของเด็กในหัวข้อนั้น ๆ การสอนแบบ Mind Map จะทำให้เด็กสื่อสารความคิดออกมาเป็นรูปภาพ เส้น สีและสัญลักษณ์ ซึ่งจะง่ายต่อการจดจำของเด็ก ช่วยให้เด็กเห็นและเข้าใจการเชื่อมโยงความสัมพันธ์ระหว่างความคิดได้เป็นอย่างดี

แนวทางการเขียน  Mind Map เรื่องสัตว์ต่าง ๆ โดยจำแนกสัตว์เป็น 4 ประเภทใหญ่ๆ
แนวทางการเขียน Mind Map เรื่องสัตว์

Mind Map ช่วยในการเรียนรู้อย่างไร...

เนื่องจากธรรมชาติสมองของคนเรามักจำเป็นรูปภาพและสีสัน ซึ่งตรงกับการสอนแบบ Mind Map ที่สอนให้คิดเป็นภาพและสี ใช้วิธีการเชื่อมโยงความคิด จินตนาการ และพื้นฐานการจำ ทำให้สมองทั้ง 2 ซีก ถูกกระตุ้นให้สามารถทำงานประสานกันได้เป็นอย่างดี นอกจากนี้การเชื่อมโยงและแตกย่อยของ Mind Map ช่วยทำให้เด็กเห็นถึงประเด็นสำคัญและสามารถมองภาพรวมทั้งหมดได้ อีกทั้งเส้นในการเชื่อมโยง จะทำให้เด็ก ๆ เข้าใจสิ่งต่าง ๆ ได้ดีขึ้น สามารถเชื่อมโยงและจดจำข้อมูลได้ง่ายและมากขึ้น

การสอนเด็กเขียน Mind Map ช่วยทำให้เด็กคิดอย่างเป็นระบบมากขึ้น
การสอนเด็กเขียน Mind Map ทำให้สมองเด็กทำงานอย่างสมดุลและเป็นระบบ

ประโยชน์ของ Mind Map

  • ช่วยกระตุ้นการทำงานของสมอง ทั้งซีกซ้ายและซีกขวา
  • ช่วยเด็กระดมสมอง (Brainstorm) รู้จักสำรวจแนวคิดหรือปัญหาที่มี
  • ช่วยพัฒนาทักษะการคิด วิเคราะห์ แยกแยะ
  • ช่วยให้เด็กจดจำข้อมูลได้ง่าย และช่วยให้จำเรื่องราวหรือประเด็นนั้น ๆ ได้แบบไม่ต้องท่องจำ
  • ช่วยให้เด็กเข้าใจความสัมพันธ์การเชื่อมต่อระหว่างความคิด (สิ่งที่ปรากฏเห็นขึ้นในใจ ซึ่งเกิดจากการใคร่ครวญไตร่ตรอง ) และแนวคิด (ความคิดที่วางไว้เป็นแนวทางปฏิบัติ)
  • ช่วยให้เด็กรู้จักวางแผนงานและง่ายต่อการจัดระบบความคิด ช่วยให้เด็กจับประเด็นหรือจับใจความได้
  • ช่วยให้เด็กมีความเข้าใจในการเผยแพร่ความรู้
  • ช่วยให้เด็กมีปฏิสัมพันธ์ทางสังคมในการสื่อสารและการทำงานเป็นทีม
  • ช่วยให้ผู้สอนสามารถประเมินการเรียนรู้ในตอนท้ายของหน่วยการสอนในหน่วยนั้น ๆ ว่าเด็กมีความเข้าใจมากน้อยเพียงใด

จากที่กล่าวมาสรุปได้ว่า Mind Map เป็นเครื่องมือที่มีประโยชน์ในการช่วยสอนให้เด็กเห็นแนวคิดและความสัมพันธ์ระหว่างตัวเองกับความคิด เป็นการประเมินพัฒนาการทางความคิด ความเข้าใจในการเรียนรู้ ซึ่งสร้างองค์ความรู้ใหม่ ๆ เมื่อสมองได้รับข้อมูลใหม่ สมองจะค้นหาสิ่งที่เหมือนหรือคล้ายกันในความทรงจำ เพื่อให้สามารถเข้าใจได้ว่าสิ่งนั้นคืออะไร จากนั้นเด็กจะนำข้อมูลมาเชื่อมโยงกับองค์ความรู้เก่าอย่างเป็นระบบ เป็นขั้นตอน ก็จะเป็นการต่อยอดในการเรียนรู้ให้มีประสบการณ์เรียนรู้เพิ่มมากขึ้น เปรียบเหมือนเกมการเรียนรู้และเป็นรูปแบบการเล่นของเด็กอีกรูปแบบหนึ่งก็ว่าได้ แถมยังช่วยให้การทำงานของสมองทั้งหมด ทำงานควบคู่กัน ทั้งซีกซ้ายและซีกขวา เด็กจะได้ทั้งจินตนาการและวิชาการในการเรียนรู้เกี่ยวกับสิ่งต่าง ๆ ไปพร้อม ๆ กัน

การสอนแบบ Mind Map ให้เด็ก ๆ ไม่ใช่เรื่องยากและเป็นเรื่องที่ผู้ปกครองสามารถเริ่มสอนให้กับเด็กได้ตั้งแต่อายุ 2 ปี เพราะวิธีการสอนที่ให้เด็กคิดแบบ Mind Map จะช่วยเพิ่มเส้นใยสมองให้เด็ก ๆ ได้อย่างดีมากค่ะ ในบทความต่อไปครูแหม่มมีวิธีการเขียน Mind Map สำหรับสอนเด็ก ๆ ที่บ้าน ในหัวเรื่องที่รับรองว่าเป็นที่น่าสนใจสำหรับเด็กแน่นอนค่ะ อย่าลืมติดตามบทความตอนต่อไปนะคะ