การสอนแบบมอนเตสซอรี่ (Montessori) เป็นแนวคิดที่เน้นเด็กเป็นหลักสำคัญในการจัดการเรียนการสอน เพื่อให้เด็กสามารถเรียนรู้ด้วยตัวเองได้อย่างอิสระ และซึมซับการเรียนรู้จากสิ่งแวดล้อมรอบ ๆ ตัว ทำให้เด็กเกิดความอยากรู้ อยากเห็นและแสวงหาความอยากรู้อย่างมีสมาธิ มีวินัยในตัวเองและเกิดพัฒนาการทุก ๆ ด้านในเวลาเดียวกัน

ที่มาของการสอนแบบมอนเตสซอรี่

ดร.มาเรีย มอนเตสซอรี่ เป็นแพทย์หญิงคนแรกชาวอิตาลีและเป็นผู้คิดวิธีการสอนแบบมอนเตสซอรี่ (Montessori) โดยเริ่มจากการทำงานกับเด็กที่มีความบกพร่องทางสติปัญญา จากการสังเกตอย่างใกล้ชิดและค้นคว้าทดลอง ทำให้ค้นพบว่าปัญหาของเด็กที่มีความบกพร่องทางสติปัญญาคือการดูแลเอาใจใส่ และคิดว่าการดูแลเด็กเหล่านี้ หากเด็กได้รับการกระตุ้นทางสติปัญญาน่าจะดีขึ้น มอนเตสซอรี่จึงคิดหาวิธีการที่จะช่วยเด็กให้มีพัฒนาการ ทางสติปัญญาและอารมณ์ให้ดีมากยิ่งขึ้น และได้มีการพัฒนาการสอนสำหรับเด็กปกติด้วย

การสอนแบบมอนเตสซอรี่

เริ่มจากการสังเกต ศึกษาพัฒนาการของเด็กของแต่ละคน การสอนแบบมอนเตสซอรี่จะไม่เน้นการเรียนรู้แบบท่องจำ แต่จะเน้นการเล่นหรือการทำกิจกรรมเป็นหลัก โดยการให้เด็กได้เลือกทำกิจกรรมต่าง ๆ ตามที่ตัวเองสนใจ มอนเตสซอรี่ได้จัดทำอุปกรณ์ต่าง ๆ ที่หลากหลายตามความสนใจและตามวุฒิภาวะของเด็กที่แตกต่างกัน ซึ่งจะช่วยพัฒนาทางด้านประสบการณ์ชีวิต งานวิชาการ และทางประสาทสัมผัส เช่น การแต่งกาย การทำความสะอาด การขัดและอุปกรณ์ในการทำงานบ้าน สำหรับอุปกรณ์จะมีการออกแบบให้เด็กได้พัฒนาสติปัญญา และพัฒนาการคิดอย่างมีระบบมีเหตุผล เช่น อุปกรณ์ทางคณิตศาสตร์ อุปกรณ์ทางภาษาและหลักภาษา การมองเห็น การชิมรส การได้ยิน การดมกลิ่น เป็นความรู้สึกที่ใช้ประสาทสัมผัสร่วมกัน

แนวการสอนแบบมอนเตสซอรี่จะเริ่มจากการเรียนรู้แบบรูปธรรมไปสู่แบบนามธรรม และอุปกรณ์ของมอนเตสซอรี่สามารถนำมาใช้ได้หลายรูปแบบ อุปกรณ์เป็นสิ่งที่ช่วยควบคุมตัวเด็กในการทำงาน เด็กจะพอใจเมื่อทำงานต่าง ๆ ได้ถูกต้อง และในการจัดเก็บอุปกรณ์จะต้องมีที่เฉพาะสำหรับวางอุปกรณ์ เพื่อที่เด็กจะได้จัดเก็บอุปกรณ์เข้าที่ให้เรียบร้อย เมื่อเล่นเสร็จแล้วซึ่งจะช่วยส่งเสริมให้เด็กรู้จักการเรียนรู้การใช้อุปกรณ์ร่วมกัน

การสอนแบบมอนเตสซอรี่จะช่วยพัฒนาทางด้านประสบการณ์ชีวิตให้กับเด็ก
การถูบ้านช่วยพัฒนาทางด้านประสบการณ์ชีวิต

หลักการสอนของมอนเตสซอรี่

เด็กได้รับการยอมรับนับถือ เพราะเด็กแต่ละคนมีความแตกต่างกัน เด็กจึงควรได้รับการยอมรับในลักษณะเฉพาะของตัวเอง คุณครูควรจัดกิจกรรมพัฒนาให้เด็กแต่ละคนตามความสามารถ และพัฒนาการความต้องการตามธรรมชาติของเด็กในแต่ละช่วงวัย

จิตซึมซับ เด็กมีจิตแห่งการหาความรู้ที่เปรียบเสมือนฟองน้ำ โดยเด็กจะซึมซับเอาข้อมูลต่าง ๆ จากสิ่งแวดล้อมเข้าไปในจิตของตัวเอง

ช่วงเวลาหลักของชีวิต เด็กแรกเกิดจนถึง 6 ปี เป็นช่วงเวลาสำคัญที่สุดสำหรับการเรียนรู้ของการพัฒนาด้านสติปัญญาและจิตใจ ในช่วงเวลานี้ เด็กควรมีอิสระในการเลือกกิจกรรมที่ตัวเองสนใจ

การเตรียมสิ่งแวดล้อม เด็กจะได้รับการพัฒนาให้เกิดการเรียนรู้ได้ดีที่สุด จากการจัดสภาพแวดล้อมที่มีความพร้อมอย่างมีระบบและมีจุดมุ่งหมายไปตามขั้นตอน โดยมีสื่ออุปกรณ์มอนเตสซอรี่เป็นตัวกำหนดขอบเขตในการทำงาน

การศึกษาด้วยตัวเอง เด็กได้รู้จักเรียนรู้ระเบียบวินัยของการอยู่ร่วมกันภายในสังคม และมีอิสระในการทำงาน รู้จักเรียนรู้การแก้ปัญหาด้วยตัวเอง เรียนรู้ที่จะรับผิดชอบ และมีความภาคภูมิใจต่อความสำเร็จในการทำงาน จนทำให้เด็กเกิดความเชื่อมั่นและเห็นคุณค่าในตัวเอง

การวัดประเมินผล คุณครูในชั้นเรียนจะเป็นผู้ประเมินผล โดยใช้วิธีการสังเกตและวิเคราะห์เด็กเป็นรายบุคคล ในสภาพแวดล้อมที่เป็นจริง ซึ่งครูผู้มีประสบการณ์และผ่านการฝึกอบรมหลักสูตรการศึกษาแบบมอนเตสซอรี่ จะมีความเชี่ยวชาญในการสังเกต จดบันทึก และวิเคราะห์พฤติกรรมของผู้เรียน

การจัดการเรียนการสอนแบบมอนเตสซอรี่

การจัดการเรียนการสอนแบบมอนเตสซอรี่นั้น จะเน้นการจัดสภาพแวดล้อมภายในโรงเรียนให้เหมือนบ้าน โดยมีคุณครูเป็นผู้ให้การสนับสนุน ให้คำปรึกษา และกระตุ้นให้เด็กคิดแก้ปัญหาด้วยตัวเอง โดยใช้จิตซึมซับกับสิ่งแวดล้อม และคำนึงถึงความสนใจความต้องการของเด็กในการเรียนรู้ ยึดความแตกต่างระหว่างบุคคล และส่งเสริมให้เด็กเรียนรู้ด้วยตนเองอย่างอิสระ โดยจะจัดสิ่งแวดล้อมและอุปกรณ์ให้เด็กได้ฝึกทักษะด้านกลไกผ่านประสาทสัมผัสทั้งห้า ที่ช่วยให้เด็กรู้จักควบคุมการทำงานด้วยตัวเอง

มอนเตสซอรี่ ส่งเสริมให้เด็กได้เรียนด้วยตัวเองอย่างอิสระ
ส่งเสริมให้เด็กได้เรียนรู้ด้วยตัวเอง

สิ่งแวดล้อมและอุปกรณ์เป็นองค์ประกอบสำคัญสำหรับการสอนแบบมอนเตสซอรี่ที่ช่วยให้เด็กเรียนรู้ด้วยตัวเอง จากการที่เด็กได้สัมผัสกับงานที่ได้พบเห็นในชีวิตประจำวัน และการเรียนแบบมอนเตสซอรี่นั้นต้องจัดพื้นที่ว่างสำหรับเด็กโดยเฉพาะ เพื่อที่เด็กจะได้นั่งทำงานทั้งบนเก้าอี้และบนพื้น เพราะเด็กจะได้มีส่วนร่วมและรับผิดชอบในการจัดเก็บหรือวางอุปกรณ์ให้เป็นระเบียบ

อุปกรณ์ของมอนเตสซอรี่แต่ละชิ้นจะเน้นอยู่ที่การรับรู้โครงสร้างของอุปกรณ์ที่จัดไว้ โดยผ่านประสาทสัมผัสของการเคลื่อนไหว และในการจะใช้อุปกรณ์แต่ละชนิด คุณครูจะต้องเป็นผู้สาธิตการใช้อุปกรณ์ให้เด็กดูก่อน ซึ่งจะทำให้เด็กเกิดความสนใจและอยากทำกิจกรรมกับอุปกรณ์นั้น ๆ อุปกรณ์แต่ละชนิดจะมีลำดับความยาก-ง่ายต่อเนื่องกันไป

ความยาก-ง่ายใน การจัดการเรียนการสอนแบบมอนเตสซอรี่ ขึ้นอยู่กับการเรียนรู้ของเด็กแต่ละคน
ความยาก-ง่ายในการทำกิจกรรมจะขึ้นอยู่กับการเรียนรู้ของเด็ก

หลักการที่สำคัญที่สุดของการจัดการเรียนการสอนแบบมอนเตสซอรี่ (Montessori) สำหรับเด็กปฐมวัย คือ คุณครูต้องคำนึงถึงความต้องการของเด็ก ปลูกฝังให้เด็กเจริญเติบโตตามความต้องการตามธรรมชาติ และเรียนรู้สิ่งต่าง ๆ รอบตัวได้อย่างอิสระ การจัดการเรียนการสอนแบบมอนเตสซอรี่ (Montessori) เชื่อว่า การที่เด็กได้เรียนรู้ตามความต้องการด้วยตัวเองและซึมซับการเรียนรู้จากสิ่งแวดล้อม จะช่วยทำให้เด็กได้เรียนรู้ในสิ่งที่ต้องการ เด็กจะได้รับอิสระในขอบเขตที่ได้จัดเตรียมไว้ เมื่อเด็กได้รับผลสำเร็จตามความต้องการ จะทำให้เด็กเกิดความพึงพอใจ มีความรู้สึกที่ดีต่อตัวเองและสิ่งแวดล้อมค่ะ

ในบทความ การจัดการเรียนการสอนแบบมอนเตสซอรี่ สำหรับเด็กปฐมวัย ตอนที่ 2 เราจะแนะนำในเรื่องของการสอนสามขั้นตอนของมอนเตสซอรี่ การประเมินการสอน คุณครูในระบบมอนเตสซอรี่ และห้องเรียนแบบมอนเตสซอรี่ อย่าลืมติดตามกันนะคะ

เอกสารอ้างอิง : การเรียนรู้ของเด็กปฐมวัย ตามแนวคิดมอนเตสซอรี่ รองศาสตราจารย์ ดร. จีระพันธุ์ พูลพัฒน์ และ คำแก้ว ไกรสรพงษ์,สำนักพิมพ์ บริษัทอมรินทร์พริ้นติ้งแอนพับลิซซิ่ง จำกัด(มหาชน),2543