เชาวน์ปัญญาในเด็กปฐมวัย หมายถึงความสามารถทางสติปัญญา ความสามารถในการเข้าใจ มีไหวพริบ มีความสามารถในการแก้ปัญหา และมีความสามารถในการใช้ความจำ รวมไปถึงความสามารถในการปรับตัวและอยู่รวมกับผู้อื่นในสังคมได้อย่างมีความสุข ดังนั้น จึงจำเป็นอย่างมากที่จะต้องเสริมสร้างทักษะทางเชาวน์ปัญญาให้กับเด็ก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงแรกเกิด ถึง 6 ปี เป็นช่วงวัยที่มีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ รวมถึงมีพัฒนาการทางสติปัญญาที่ซึมซับได้อย่างดีเยี่ยมและเป็นวัยแแห่งการวางรากฐานของพัฒนาการทั้ง 4 ด้าน คือ ร่างกาย อารมณ์ สังคม และสติปัญญา

พัฒนาการทางความคิดจะเกิดขึ้นด้วยการเรียนรู้จากสิ่งแวดล้อม ผู้ปกครอง ครู และผู้ที่เกี่ยวข้องควรให้ความสำคัญ การจัดสิ่งแวดล้อมที่เอื้อต่อการเรียนรู้ย่อมเป็นสิ่งที่ดีต่อเด็ก ทั้งในปัจจุบันและอนาคต ทั้งยังช่วยให้เด็กได้พัฒนาเชาวน์ปัญญาอย่างเต็มที่ ซึ่งวันนี้เราก็มีวิธีง่าย ๆ ในการช่วยพัฒนาเชาวน์ปัญญาให้เด็ก ๆ มาฝากกันค่ะ

เข้าใจพัฒนาการและจัดกิจกรรมตามความสนใจของเด็ก
เข้าใจพัฒนาการและจัดกิจกรรมตามความสนใจของเด็ก

1. เข้าใจธรรมชาติของเด็ก

เด็กแต่ละคนย่อมมีการเรียนรู้และพัฒนาการที่แตกต่างกัน แต่สิ่งสำคัญที่สุดคือ ผู้ปกครองต้องเข้าใจศักยภาพที่แท้จริงของเด็ก แล้วค่อยจัดหากิจกรรมและสื่อการเรียนรู้ที่ตรงกับความสนใจหรือความถนัดของเด็ก ต้องไม่ยากหรือเน้นวิชาการมากจนเกินความสามารถของเด็ก เพื่อส่งเสริมพัฒนาการของเด็กให้ค่อย ๆ พัฒนาไปทีละเล็กละน้อย โดยที่ไม่ทำให้เด็กรู้สึกกดดันหรือเครียดจนเกินไป

การเก็บของช่วยฝึกให้เด็กมีระเบียบวินัย
การเก็บของช่วยฝึกให้เด็กมีระเบียบวินัย

2. เริ่มต้นจากกิจวัตรประจำวัน

ผู้ปกครองสามารถฝึกเชาวน์ปัญญาให้กับเด็กจากกิจวัตรประจำวันได้ค่ะ เช่น ฝึกให้เด็กจำแนกสิ่งของในครัว เก็บให้เป็นหมวดหมู่ เช่น การแยกเก็บช้อน ส้อม จาน ชาม ฯลฯ จัดเก็บเสื้อผ้าใส่ตู้ โดยจำแนกกางเกงขาสั้น-ยาว เสื้อแขนสั้น-ยาว วางใส่ตู้ในแถวเดียวกัน ซึ่งนอกจากเด็กจะได้ฝึกพัฒนาการทางการคิดแล้ว ยังเป็นการฝึกให้เด็กมีระเบียบวินัย รู้จักจัดเก็บสิ่งของเครื่องใช้ส่วนตัวได้ด้วยตัวเอง เป็นการฝึกช่วยทำงานบ้านเล็ก ๆ น้อย ๆ อีกด้วยค่ะ

3. หากิจกรรมที่หลากหลายช่วยฝึกเชาวน์ปัญญา

กิจกรรมฝึกเชาวน์ปัญญาของเด็กมีหลากหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็น การเล่นเกมนับจำนวน เล่นเกมจับคู่ ต่อโดมิโน เกมเรียงลำดับ ผู้ปกครองสามารถคัดเลือกกิจกรรมที่ตรงกับความสนใจและความถนัดของเด็ก โดยผู้ปกครองทดลองเล่นกับเด็ก หากเด็กชื่นชอบและสามารถทำได้ ให้ผู้ปกครองเพิ่มระดับความยากมากขึ้นไปอีก เพื่อท้าทายความสามารถของเด็ก แต่หากเด็กทำไม่ได้ หรือรู้สึกเครียด ผู้ปกครองสามารถสลับสับเปลี่ยนบรรยากาศให้เด็กไม่เบื่อ โดยหาเกมอื่นที่ผ่อนคลายสมองและไม่ยากจนเกินไป แต่ถ้าเป็นแบบออนไลน์ผู้ปกครองไม่ควรปล่อยให้เด็ก ๆ เลือกเล่นเกมตามลำพัง เนื่องจากเกมบางประเภทนั้นอาจสอดแทรกเนื้อหา และพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม เด็กอาจจดจำและทำเลียนแบบ นอกจากต้องอยู่ใกล้ชิดแล้วผู้ปกครองควรมีส่วนร่วมกับเด็ก คอยให้คำแนะนำกับเด็กในการเล่นเกมบนสื่อออนไลน์ และควรกำหนดเวลาให้กับเด็ก ๆ ในการเล่นแต่ละครั้งด้วย เพื่อเด็กจะได้ไม่จดจ่ออยู่กับหน้าจอมากเกินไปเพราะอาจทำให้เสียสายตา และยังจะช่วยฝึกให้เด็กได้รู้จักควบคุมตนเองได้อีกด้วย ทั้งนี้ผู้ปกครองสามารถ ดาวน์โหลด Flash Card จับคู่ภาพกับเงา ชุด สัตว์โลกน่ารัก เพื่อไปทำกิจกรรมร่วมกับเด็ก ๆ จากลิงก์ด้านล่างได้เลยค่ะ

Flash Card จับคู่ภาพกับเงา ช่วยเสริมสร้างทักษะการสังเกตและการจดจำ
Flash Card จับคู่ภาพกับเงา ช่วยเสริมสร้างทักษะการสังเกตและการจดจำ

4. เล่านิทานให้เด็กฟัง

ในวัยเด็กปฐมวัย ส่วนใหญ่ชอบการฟังนิทาน หากผู้ปกครองเล่านิทานพร้อมทั้งชี้ชวนให้เด็ก ๆ รู้จักสังเกต หรือเล่าไปใช้คำถาม ถามไปด้วยพร้อมกัน จะช่วยกระตุ้นให้เด็ก ๆ เกิดกระบวนการคิด และมีพัฒนาการด้านสติปัญญาที่ดีขึ้น ในการเล่านิทานถ้าผู้ปกครองหาสื่อที่เป็นรูปธรรมมาเล่าประกอบนิทานให้เด็กจับต้องและสัมผัสได้ ก็จะยิ่งส่งผลที่ดีกับเด็ก เพราะเด็กจะได้เรียนรู้จากสถานการณ์จริงอย่างเป็นรูปธรรม และเป็นการเรียนรู้ที่มีความหมายต่อเด็กผ่านสื่อจากเนื้อหาในนิทาน ก็จะช่วยให้เด็ก ๆ จดจำและเข้าใจได้ง่ายกว่าการเล่าจากหนังสือเพียงอย่างเดียว นอกจากการเล่านิทานให้เด็ก ๆ ฟังแล้ว การให้เด็กลงมือทำนิทานด้วยตัวเองอย่าง “นิทานหน้าเดียว” ก็สามารถช่วยพัฒนาทักษะทางเชาวน์ปัญญาได้เป็นอย่างดี

การเล่าและฟังนิทานช่วยกระตุ้นกระบวนการคิดของเด็ก
การเล่าและฟังนิทานช่วยกระตุ้นกระบวนการคิดของเด็ก
5. หมั่นใส่ใจพัฒนาการของลูกอยู่เสมอ

สิ่งที่สำคัญคือ การที่ผู้ปกครองมีเวลาทำกิจกรรมร่วมกับเด็ก เพื่อสร้างปฏิสัมพันธ์ที่ดีภายในครอบครัว แม้จะเป็นแค่ระยะเวลาสั้น ๆ ในแต่ละวัน ก็สามารถจะช่วยให้ผู้ปกครองได้ติดตามพฤติกรรม และเห็นพัฒนาการของเด็ก โดยผู้ปกครองอาจใช้การจดบันทึกไว้ในแต่ละวันว่าเด็กมีพัฒนาการอย่างไรบ้าง โดยเฉพาะกิจกรรมการเล่นของเด็กและใช้คำถามต่าง ๆ ที่เด็กสงสัยถาม เพื่อหาคำตอบจากการเล่นของเด็กเอง ผู้ปกครองสามารถใช้การเล่นนี้ส่งเสริมการเรียนรู้ของเด็กได้ เพราะเด็กจะรู้สึกสนุกสนานและเพลิดเพลินผู้ปกครองเฝ้าดูอยู่ห่าง ๆ คอยแนะนำเด็กเมื่อเด็กต้องการ

6. เสริมลูกด้วยแบบฝึกเสริมทักษะ

ผู้ปกครองสามารถเสริมทักษะให้กับเด็กได้อีกทาง ด้วยการหาแบบฝึกทักษะง่าย ๆ ให้เด็กได้ฝึกทำซ้ำ ๆ ซึ่งแบบฝึกทักษะที่ให้เด็กทำควรมีสีสันสดใส เพื่อสร้างแรงจูงใจให้อยากทำมากขึ้น การทำแบบฝึกทักษะจะช่วยฝึก และพัฒนากระบวนการคิดวิเคราะห์ของเด็กให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

แต่สิ่งสำคัญสำหรับการพัฒนาทักษะด้านเชานว์ปัญญา คือการให้เขาได้เรียนรู้อย่างสนุกสนานและไม่รู้สึกเครียดหรือกดดันเกินไป หากเด็กมีทัศนคติเชิงบวกต่อการเรียนรู้ เด็กจะเปิดใจรับสิ่งใหม่ที่ท้าทายความสามารถมากกว่าเดิม แต่หากเด็กรู้สึกไม่ชอบหรือเครียด เด็กจะต่อต้านจนอาจกลายเป็นอุปสรรคต่อการเรียนรู้ และส่งผลให้เด็กมีพัฒนาการล่าช้าในที่สุด

ดาวน์โหลด
32 รายการ