กระบวนการเรียนรู้ในวัยเด็กนั้นจะเริ่มที่การจดจำเป็นสำคัญ โดยการจดจำนั้น เด็กจะจดจำในทุกมิติที่เด็กสามารถรับรู้ได้ ควบคู่ไปกับ การเรียนรู้เรื่องราวในชีวิตประจำวันด้วยเสมอ เช่น การจดจำในเรื่องอารมณ์ ความรู้สึก และสัมผัส

ดังนั้นในการส่งเสริม การอ่าน และการจดจำของเด็กนั้น ผู้ปกครองควรใส่ใจในเรื่องวิธีการ และขั้นตอนการสอนอย่างมีรูปแบบ เพื่อให้เด็กนั้นเกิดการรับรู้ที่ดี และจะเป็นการปลูกฝังให้เด็ก ชอบและรักการอ่าน ควบคู่ไปกับพัฒนาการด้านอื่นจะดีขึ้นด้วย ในเรื่องรูปแบบและวิธีการนั้น เรามีหลักง่าย ๆ 4 ข้อ คือ

  1. อดทน และเข้าใจ
  2. ส่งเสริม
  3. กระตุ้น และรางวัล
  4. ทำซ้ำ สม่ำเสมอ

อดทน และเข้าใจ

สิ่งแรกที่ต้องทำความเข้าใจก่อนเลย คือ ผู้ปกครองต้องมีความอดทนเป็นเลิศ เนื่องจากถ้าไม่มีความอดทนที่ดีพอแล้ว ทุกสิ่งที่จะเกิดขึ้นนั้น เราจะควบคุมผลที่ตามมาไม่ได้ กฎเหล็ก 1 ข้อคือ อย่าคาดหวังกับตัวเด็กมากจนเกินไป แต่สามารถเปรียบเทียบได้ในเชิงสถิติของการทำกิจกรรมแต่ละครั้ง และอย่านำผลการเรียนรู้ของเด็ก มาเปรียบเทียบให้เด็กฟังหรือแสดงคำพูด สีหน้า ท่าทางในการผิดหวังในตัวเด็กจนเกินพอดี เช่น ทำไมน้องคนนั้นจำได้ เพื่อนในห้องทำไมท่องได้ ทำได้ แย่มาก ไม่เก่งเลย

ดังนั้นไม่ว่าจะเป็นคำพูด สีหน้า ท่าทาง การแสดงออก ผู้ปกครองควรมีสติ และควรทำความเข้าใจด้วยความอดทนและหารูปแบบใหม่ ๆ ช่วยกระตุ้นจะดีกว่า ดังนั้น “อย่าคาดหวังในตัวเด็กจนเกินไป จนเกิดการเปรียบเทียบ ถ้าผู้ปกครองต้องการจะเปรียบเทียบ ควรเปรียบเทียบ ความพร้อมตามวัย จะดีกว่า”

กระทรวงศึกษาธิการ มีการจัดทำเนื้อหา เกณฑ์การประเมินมาตรฐานคุณลักษณะที่พึงประสงค์ ระดับชั้นอนุบาล (เรียกง่าย ๆ คือ พัฒนาการตามเกณฑ์อายุ) ไว้แล้ว ผู้ปกครองสามารถนำไปพิจารณาเปรียบเทียบพัฒนาการของเด็กได้

การหาบทลงโทษที่เด็กทำไม่ได้ตามความคาดหวังของผู้ปกครอง ไม่ใช่สิ่งที่ดีต่อการเรียนรู้ แต่การหาบทลงโทษเนื่องจากเด็กนั้นไม่ตั้งใจ อันนี้ผู้ปกครองควรแยกแยะและหาบทลงโทษ ให้เหมาะสมกับสถานการณ์ ยังไง ลองหาวิธีกันดูนะคะ

ส่งเสริม

การส่งเสริมการอ่านและการจดจำที่ง่ายที่สุด และมีต้นทุนน้อยที่สุด ที่ผู้ปกครองทุกคนสามารถเข้าถึงสื่อเหล่านี้ได้ คือ สมุดภาพ และบัตรคำต่าง ๆ ที่มีขายอยู่ทั่วไปหรือแม้แต่ นิทาน ภาพจากนิตยสารเก่า ผู้ปกครองสามารถนำมาปรับปรุง สร้างเป็นสื่อการเรียนรู้ใหม่ ๆ ให้เด็ก ๆ ได้สนุกกับการจดจำ และอ่านได้โดยไม่ต้องไปเสียเงินซื้อสื่อที่มีราคาแพงแต่อย่างใด เด็ก ๆ โดยทั่วไปจะมีสมาธิ อยู่กับสิ่งหนึ่งสิ่งใดได้น้อยตามเกณฑ์อายุ และจะมีความเบื่อง่าย ดังนั้น การสร้างมุมเรียนรู้ หรือ การหาภาพบัตรคำ สติ๊กเกอร์หรือกระดานไวท์บอร์ดมาไว้ในบ้าน เพื่อให้เด็ก ๆ ได้หยิบมาเล่น อ่านหรือเขียน ตามมุมบ้าน กำแพงหรือแม้แต่บันได จะเป็นการส่งเสริมการเรียนรู้ การจดจำ ได้อย่างดีที่สุด

ถ้าจะให้แนะนำหากในบ้านเรามี printer เราสามารถหาภาพจาก internet ที่แจกฟรี นำมา print แล้วติดตามฝาผนังบ้าน ผนังห้อง โดยใช้สติ๊กเกอร์ใสเคลือบอีกชั้น โดยรูปที่เราหามาในวัยเด็กเล็ก เราไม่จำเป็นต้องมีตัวอักษร เอาเป็นรูป ที่มีสีสันสดใส และเป็นรูปสิ่งที่อยู่รอบตัวเด็ก ที่เด็กเคยผ่านสายตามาบ้าง จะให้ผลลัพธ์ที่ดีที่สุด

เมื่อเด็กโตขึ้นเรายังสามารถนำตัวอักษรหรือชื่อ มาติดเพิ่มใต้รูปเหล่านั้น หรือเปลี่ยนรูปใหม่ให้เหมาะสมตามวัย เพื่อเพิ่มความสนุกและความท้าทาย ให้เด็ก ไม่เบื่อ ในกรณีที่เราอยากจะสร้างเงื่อนไข ให้เด็กได้ลองพยายามแข่งขันกับผู้ปกครองหรือสมาชิกภายในครอบครัวได้ค่ะ

สิ่งสำคัญของการส่งเสริมนอกจากอุปกรณ์และสถานที่แล้ว บรรยากาศและเวลาในการเรียนรู้ ต้องเหมาะสม ด้วย เช่น สถานที่ต้องสะอาด มีอุณหภูมิห้องที่ไม่ร้อนไม่หนาวจนเกินไป ผู้ปกครองมีเวลาและสมาธิอยู่กับเด็กได้ครบตลอดเวลาทำกิจกรรม

ดังนั้น การส่งเสริมด้วยการสร้างกิจกรรมเล็ก ๆ ใช้เวลาสั้น ๆ ซัก 5 นาที บางครั้ง อาจจะให้ผลลัพธ์ที่ดีมากกว่า กิจกรรมที่ใช้เวลานาน ๆ เพราะเด็กจะไม่เบื่อง่าย แต่เด็กบางคนอาจจะชอบอยู่กับกิจกรรมที่ใช้เวลานาน ๆ ได้ อันนี้ ผู้ปกครองต้องคอยสังเกตการเรียนรู้ของเด็กควบคู่กันไป เพื่อจะได้ส่งเสริมได้ตรงจุด และให้เด็กยังคงสนุกกับการเรียนรู้ การอ่านและการจดจำ ได้โดยไม่เบื่อ

กระตุ้น และรางวัล

การกระตุ้นเด็กให้อยากอ่าน เป็นเรื่องที่ดีและที่สำคัญผู้ปกครองสามารถทำได้บ่อยครั้ง ไม่มีข้อกำหนดว่าทำบ่อยแล้วจะไม่ดี ทำไปเลยค่ะ เพื่อให้เด็กพัฒนาเป็นผู้อ่านที่ดี แต่บางครั้งการกระตุ้นควรจัดหากิจกรรมสนุก ๆ มาร่วมทำกับเด็ก จะทำให้เด็กสนุกกับการอ่านมากขึ้น การจัดกิจกรรมที่ช่วยกระตุ้นการใช้ภาษาในการสื่อสาร บางครั้งอาจช่วยส่งเสริมการแสดงออกของเด็กให้เด็กเป็นคนกล้าแสดงออกได้อีกทาง

ถ้าถามว่าการกระตุ้นที่ทำได้ภายในครอบครัว มีอะไรน่าสนใจบ้างที่ทำได้เองง่าย ๆ ก็อยากจะบอกว่า กิจกรรมบทบาทสมมุติ นั้นทำง่ายที่สุด กิจกรรมบทบาทสมมุติ คิดง่าย ๆ คือการปล่อยให้เด็กมีจินตนาการคิดสิ่งที่ตัวเองคิด แล้วสมมุติบทบาทขึ้นมาโดยการเล่า หรือ อธิบายให้เราหรือคนในครอบครัวได้ฟัง เช่น พื้นฐานเลยคงเป็นการเล่นขายของ กิจกรรมนี้เป็นกิจกรรมที่สนุกและเด็ก ๆ เกือบทุก ๆ บ้านต้องชอบนอกจากจะช่วยกระตุ้นการใช้ภาษาในการสื่อสารให้กับเด็กแล้ว ยังสามารถฝึกให้เด็กรู้จักเรียบเรียงประโยคในการสื่อสารให้เป็นประโยคยาว ๆ ได้ดีมากขึ้น

โดยผู้ปกครองอาจจะเอาของเล่น บัตรคำ หรือ ปั้นแป้งโดมาช่วยกระตุ้นให้เด็กจดจำคำ และเรียบเรียงประโยคให้ถูกต้องมากขึ้น ผู้ปกครองและคนในครอบครัวควรให้เวลาเด็กได้แสดงบทบาทออกมาอย่างเต็มที่ ไม่ควรขัดจังหวะ ถ้าจะเสริมควรใช้วิธีเข้าไปเล่นบทบาทสมมุติด้วยกันกับเด็ก แล้วใช้อุปกรณ์ช่วยเสริมเป็นการชี้นำให้เด็กได้ใช้อุปกรณ์หรือสื่อที่เราหามาเสริมเด็ก ๆ ได้ทางอ้อม อย่าทำแบบยัดเยียดเพราะเด็กจะต่อต้าน

ถึงแม้กิจกรรมต่าง ๆ ที่ได้แนะนำมาข้างต้นจะทำให้เด็กอ่านอย่างสนุกและมีความสุขแล้ว แต่สำหรับเด็กบางกลุ่มที่ยังลังเลและต้องการแรงจูงใจมากกว่า การทำกิจกรรมต่าง ๆ ผู้ปกครองอาจจะหารางวัลเล็ก ๆ น้อย ๆ มาเสริมแรงให้เด็กเพื่อกระตุ้นให้มีความกระตือรือร้นในการอ่านและเพิ่มความสุขทางใจให้เด็กอีกทาง ของรางวัลบางครั้งไม่จำเป็นต้องเป็นสิ่งมีค่ามากมายการวาดดาวบนมือเด็ก หรือแจกสติ๊กเกอร์แผ่น ก็สามารถเป็นรางวัลให้กับเด็ก ๆ ได้แล้ว

แนะนำกิจกรรมสำหรับเด็ก 4-6 ปี

(อ่านจบ ครบ แล้วไปเที่ยว)

กิจกรรมนี้เหมาะในช่วงวันหยุดหรือปิดภาคเรียนของเด็ก ๆ นะคะ เชื่อว่าเมื่อถึงเวลาใกล้ปิดเทอมหรือในวันหยุดหลาย ๆ วันติดต่อกัน จะมีคำถามจากเด็กว่า วันหยุดนี้คุณพ่อ-แม่ พาหนูไปทะเลหรือสวนสัตว์ได้ไหมครับ/คะ ผู้ปกครองอาจสร้างข้อตกลงกับเด็ก เช่น ถ้าหนูอยากไปสวนสัตว์ หนูดูสิว่าในโบว์ชัวร์นี้เค้าเขียนแนะนำอะไรไว้บ้าง โบว์ชัวร์ที่ว่านี้ผู้ปกครองสามารถทำเองแบบง่าย ๆ หาคำศัพท์ที่ไม่ยากเกินไปให้เด็กอ่านเกี่ยวกับสถานที่ ๆ อยากไปถ้าเด็กอ่านได้ครบก็พาเด็กไปในสถานที่นั้นตามข้อสัญญาที่ตกลงไว้กับเด็ก แค่นี้ก็ได้กิจกรรมสนุก ๆ เพิ่มและยังกระตุ้นให้เด็กรักการอ่านอีกด้วย แต่ในเด็กบางคนที่ยังอ่านไม่ได้ อาจจะใช้วิธีให้เด็กลองสะกดตัวอักษรตามคำว่ามีอักษรและพยัญชนะอะไรบาง แล้วผู้ปกครองจึงค่อย ๆ สอนเสริมให้เค้าได้หัดผสมคำจนครบบรรทัดเริ่มจากทีละน้อย ๆ แต่ทำบ่อย ๆ จะได้ผลลัพธ์ที่ดียังไงลองทำกันดูนะคะ

ทำซ้ำ สม่ำเสมอ

การทำซ้ำ คือการเสริมสร้างความมั่นใจให้เด็กในการทำกิจกรรมการเรียนรู้ ผู้ปกครองควรสังเกตว่า ถ้าเด็ก ๆ สามารถทำตามกิจกรรมที่เราจัดให้ได้อย่างถูกต้อง ควรให้ทำซ้ำอีกครั้งในรูปแบบเดิม ถ้าทำได้ ลองทำคล้ายเดิม แต่ให้มีการเปลี่ยนแปลงในรายละเอียดบ้างเพื่อให้เด็กไม่รู้สึกเบื่อหน่าย ควรทำจบแค่นี้ไม่ควรทำต่อ แม้ว่าจะจบกิจกรรมเร็วก็ควรไปทำอย่างอื่นต่อไป และถ้าเป็นไปได้ในกิจกรรมรูปแบบเดิม ควรมีการทำแบบเดิมอย่างสม่ำเสมอในวันถัดไป หรืออาทิตย์ถัดไป เพื่อเป็นการเน้นย้ำว่าเด็กยังสามารถจดจำได้ และสามารถทำกิจกรรมได้อย่างสมบูรณ์ ถ้าเด็กสามารถทำได้ในครั้งต่อมาควรให้คำชมเป็นรางวัลกับเด็กเสมอ และเปลี่ยนกิจกรรมเป็นกิจกรรมอื่นต่อไป หรืออาจจะเปลี่ยนชุดคำ บัตรคำเป็นชุดอื่น ๆ ที่เด็กสนใจต่อไป