จากครั้งที่แล้ว ผู้เขียนได้แนะนำคุณพ่อคุณแม่เกี่ยวกับการเตรียมความพร้อมอย่างไรให้เด็ก ๆ ไม่กลัวน้ำ และสามารถว่ายน้ำได้อย่างสนุกสนานในบทความ การจัดกิจกรรมการว่ายน้ำ ตอนที่ 1 เตรียมตัวลูกก่อนไปว่ายน้ำ ให้เด็กคุ้นเคยกับน้ำพร้อมที่จะฝึกว่ายน้ำในขั้นพื้นฐานค่ะ และในบทความนี้ผู้เขียนมีเทคนิคดี ๆ ที่ช่วยให้คุณพ่อคุณแม่สวมบทบาทเป็นคุณครูสอนว่ายน้ำได้ง่าย ๆ ด้วย ทักษะพื้นฐานการว่ายน้ำ ซึ่งมีเพียงไม่กี่ทักษะ ก็สามารถสอนเด็ก ๆ ว่ายน้ำตามขั้นตอนได้อย่างถูกวิธี ถ้าพร้อมแล้วเรามาเริ่มสอนว่ายน้ำให้เด็กกันเลยค่ะ

กิจกรรมการว่ายน้ำสำหรับเด็ก ตอนที่ 2 สอนลูกว่ายน้ำด้วยทักษะพื้นฐาน
กิจกรรมการว่ายน้ำสำหรับเด็ก ตอนที่ 2 สอนลูกว่ายน้ำด้วยทักษะพื้นฐาน

การยืดกล้ามเนื้อก่อนว่ายน้ำ

การยืดกล้ามเนื้อก่อนลงว่ายน้ำเป็นสิ่งจำเป็นอย่างมาก เพราะเมื่อกล้ามเนื้อสัมผัสความเย็นของน้ำจะทำให้กล้ามเนื้อหดตัวอย่างรวดเร็วจนรู้สึกแน่นและตึง ก็อาจจะเกิดการเป็นตะคริวได้ค่ะ ซึ่งการยืดกล้ามเนื้อทำให้กล้ามเนื้อมีความยืดหยุ่น ป้องกันการบาดเจ็บ สร้างความอบอุ่นให้ร่างกาย และเพิ่มประสิทธิภาพในการเคลื่อนไหวของร่างกายได้อย่างคล่องแคล่วอีกด้วย ดังนั้นควรทำประมาณ 10-15 นาที

ผู้สอนกำลังสอนเด็กออกกำลังกายใน ท่าหมุนไหล่
ผู้สอนพาเด็กออกกำลังกายเพื่อยืดกล้ามเนื้อก่อนลงว่ายน้ำ

การยืดกล้ามเนื้อควรเป็นท่าที่ง่ายสำหรับเด็ก ยืดให้ครบทุกส่วนของร่างกาย เน้นกล้ามเนื้อบริเวณสะโพกและขาเพราะการว่ายน้ำจะใช้ขาในการเตะน้ำตลอดเวลา จึงทำให้กล้ามเนื้อบริเวณนี้ใช้งานมากกว่าบริเวณส่วนอื่น ๆ ค่ะ

ทักษะพื้นฐานการว่ายน้ำ

เป็นทักษะพื้นฐานที่เน้นการสอนให้เด็กได้ฝึกว่ายน้ำอย่างถูกวิธี ซึ่งการฝึกว่ายน้ำแบ่งเป็นทักษะต่าง ๆ ได้ดังนี้

การฝึกกลั้นหายใจ

ก่อนฝึกว่ายน้ำต้องเริ่มให้เด็กรู้จักควบคุมลมหายใจ และการกลั้นหายใจในน้ำให้ได้ก่อน เพราะการหายใจบนบกกับการหายใจในน้ำ จะมีความแตกต่างกัน คือการหายใจบนบกเราหายใจทางจมูก ซึ่งเป็นเรื่องธรรมชาติของมนุษย์แต่ขณะที่ว่ายน้ำนั้น เราจะหายใจทางปาก เพื่อป้องกันไม่ให้น้ำเข้าจมูก โดยมีวิธีการฝึกดังนี้ค่ะ

ผู้สอนกำลังสอนเด็กการหายใจทางปากโดยให้อ้าปากเอาลมเข้า
ผู้สอนสอนเด็กหายใจทางปากโดยให้อ้าปากเอาลมเข้า
ผู้สอนช่วยพยุงเด็กเพื่อฝึกการกลั้นหายใจใต้น้ำ
ผู้สอนช่วยพยุงเด็กเพื่อฝึกการกลั้นหายใจใต้น้ำ

1. เริ่มจากให้เด็กอ้าปากกว้าง ๆ แล้วหายใจเข้าเอาลมเข้าเต็มปอด เมื่อมีลมอยู่ในปากแก้มจะป่อง ๆ

2. จากนั้นให้เด็กก้มหน้าลงใต้น้ำ ขณะที่ยังอมลมอยู่ในปากแล้วให้เด็กนับเลข 1-5 ในใจแล้วค่อยเป่าลมออกใต้น้ำ

3. ให้ทำตามข้อที่ 1 และ 2 อย่างต่อเนื่อง แล้วทำแบบนี้ซ้ำไปเรื่อย ๆ สัก 5-10 ครั้ง หรือจนกว่าเด็กจะชินค่ะ

หากเด็กชินกับการกลั้นหายใจใต้น้ำแล้ว คุณพ่อคุณแม่สามารถเพิ่มความยากโดยการนับเลขให้มากขึ้น เพื่อฝึกให้เด็กควบคุมการกลั้นหายใจให้ได้นานขึ้น โดยอาจจะหาสิ่งของที่สามารถจมน้ำได้ แล้วค่อย ๆ ให้เด็กก้มเก็บของขึ้นมาเพื่อเป็นการฝึกให้เค้าได้กลั้นหายใจใต้น้ำได้นานขึ้นนั่นเองค่ะ

การเตะขา

การฝึกทักษะการเตะขาให้ถูกต้อง คุณพ่อคุณแม่บางท่านอาจมองว่าเป็นเรื่องที่ไม่สำคัญแล้วปล่อยให้เค้าเตะขาแบบไม่ถูกวิธี ก็จะทำให้เค้าจำและเตะขาแบบผิด ๆ ไปตลอดค่ะ แต่ถ้าหากเด็กได้ฝึกท่าที่ถูกต้องตั้งแต่เริ่มฝึกจะเป็นผลดีกับตัวเด็กเอง เพราะจะช่วยให้เด็กไม่ต้องออกแรงเตะขามาก สามารถเคลื่อนที่ไปข้างหน้าได้เร็วขึ้นนั่นเองค่ะ ซึ่งทักษะการฝึกสามารถแบ่งได้เป็น 2 ทักษะ ดังนี้

01 ทักษะการนอนคว่ำเตะขา
ผู้สอนจับขาเด็กเตะสลับไปมาฝึกทักษะการนอนคว่ำเตะขา

1. เริ่มจากเด็กนอนคว่ำบนขอบสระน้ำ ให้บริเวณตั้งแต่ต้นขายื่นออกมาจากขอบสระ จากนั้นเหยียดขาทั้งสองข้างให้ตรง

2. ให้เด็กค่อย ๆ ออกแรงจากสะโพกเตะขาสลับกันไปมาอย่างสม่ำเสมอ โดยที่ขาทั้งสองข้างยังเหยียดตรงอยู่นะคะ (ไม่งอเข่าขณะที่เตะขา)

ในการฝึกช่วงแรก ๆ คุณพ่อคุณแม่ต้องอยู่บริเวณปลายเท้าของเด็ก แล้วจับปลายเท้าขยับสลับไปมาช้า ๆ และเมื่อเค้าชินกับการเตะขาแล้ว ถึงปล่อยให้เด็กเตะขาเองได้เลยค่ะ
02 ทักษะการเกาะขอบสระเตะขา

1.เริ่มจากให้เด็กยืนในน้ำ หันหน้าเข้าหาขอบสระน้ำ

2.ใช้มือทั้งสองข้างจับขอบสระ โดยข้อศอกชิดผนังให้หัวไหล่เสมอใต้ผิวน้ำ แล้วเหยียดขาทั้งสองข้างไปข้างหลัง พร้อมเตะขาโดยเข่าไม่งอ

เริ่มการฝึกช่วงแรก ๆ เด็กอาจจะยังเตะขาแล้วตัวไม่ลอย คุณพ่อคุณแม่สามารถใช้มือประคองใต้สะโพก เพื่อให้ลำตัวเด็กตรงขณะเตะขาได้ แต่ไม่ควรยกลำตัวเด็กขึ้น เพราะเราจะฝึกให้เค้าออกแรงเตะขา แล้วลำตัวลอยเองค่ะ
03 ทักษะการเกาะบอร์ดโฟมเตะขา
ผู้สอนกำลังสอนเด็กฝึกทักษะการเกาะโฟมเตะขา

1. ให้เด็กเหยียดแขนตรงวางบนบอร์ดโฟม พร้อมจับบอร์ดโฟมให้แน่น จากนั้นเหยียดลำตัวและขาให้ตรง

2. ให้เด็กออกแรงเตะขาสลับไปมา โดยแขนและขาทั้งสองข้างยังเหยียดตรงนะคะ เพราะถ้าหากงอเข่าขณะเตะขา อาจทำให้ลำตัวจมและทรงตัวไม่ได้นั่นเองค่ะ

ในช่วงแรก ๆ เด็กยังไม่สามารถจับบอร์ดโฟมเองได้ คุณพ่อคุณแม่สามารถช่วยประคองบอร์ดโฟมได้ค่ะ ซึ่งทักษะนี้เด็กต้องเตะขาได้ถูกต้องและเตะได้อย่างสม่ำเสมอแล้ว เพราะถ้าหากเด็กเตะขาไม่สม่ำเสมอกัน จะทำให้ร่างกายไม่สามารถเคลื่อนที่ไปข้างหน้าแล้วตัวก็จะจมลงนั่นเองค่ะ

การลอยตัวคว่ำ

เป็นการฝึกลอยตัวนิ่ง ๆ บนผิวน้ำคล้ายปลาดาว แต่จะคว่ำหน้าลงใต้น้ำ ซึ่งมีวิธีการฝึกเด็กดังนี้
ผู้สอนกำลังสอนเด็กฝึกทักษะการลอยตัวคว่ำ

1. เริ่มจากให้อุ้มตัวเด็ก โดยหันหน้าเข้าหาคุณพ่อคุณแม่

2. ให้เด็กโน้มตัวมาด้านหน้า (ให้คุณพ่อคุณแม่ใช้มือประคองบริเวณต้นแขนของเด็กไว้ด้วยนะคะ) แล้วให้เด็กเหยียดตัวไปด้านหลังนอนคว่ำเหนือผิวน้ำ เหยียดขาให้ตรงกางออกประมาณ 45 องศา และให้คว่ำมือลง เหยียดแขนทั้งสองข้างออกให้ขนานกับผิวน้ำ บอกให้เค้าปล่อยตัวให้สบาย ผ่อนคลาย ไม่ต้องเกร็งตัว

3. สูดลมหายใจเข้าทางปากให้มากที่สุดแล้วกลั้นหายใจ ก้มหน้าลงใต้น้ำให้คางชิดกับหน้าอก นับเลข 1- 5 หรือจนกว่าเด็กจะกลั้นหายใจไม่ไหว จากนั้นให้เด็กค่อย ๆ เป่าลมออกทางปากให้หมดแล้วเงยหน้าขึ้นค่ะ

การลอยตัวหงาย

เป็นการฝึกลอยตัวนิ่ง ๆ บนผิวน้ำคล้ายปลาดาว แต่จะนอนงายบนผิวน้ำ ซึ่งมีวิธีการฝึกเด็กดังนี้

ผู้สอนกำลังสอนเด็กฝึกทักษะการลอยตัวหงาย

1. เริ่มจากให้อุ้มตัวเด็ก โดยหันหลังเข้าหาตัวของคุณพ่อคุณแม่

2. ให้เด็กเอนตัวมาด้านหลัง (คุณพ่อคุณแม่ใช้มือประคองบริเวณต้นแขนของเด็กไว้นะคะ) แล้วค่อย ๆ ให้เด็กดันตัวขึ้นนอนหงายเหนือผิวน้ำ เหยียดขาให้ตรงกางออกประมาณ 45 องศา และให้หงายมือขึ้น เหยียดแขนทั้งสองข้างออกให้ขนานกับผิวน้ำ

3. เงยหน้าจนคางชี้ขึ้นฟ้าให้ได้มากที่สุด แล้วบอกให้เด็กปล่อยตัวให้สบาย ผ่อนคลาย ไม่ต้องเกร็งตัวค่ะ (คุณพ่อคุณแม่ยังสามารถใช้มือประคองไว้ที่บริเวณต้นแขนของเด็กได้อยู่นะคะ) นับเลข 1-10 จากนั้นให้เด็กสูดลมหายใจเข้าทางปากแล้วกลั้นหายใจพร้อมพลิกตัวลง

กรณีสอนในสระที่เด็กยืนถึง การลอยตัวคว่ำ เริ่มจากให้เด็กยืนหันหน้าเข้าหาเรา แล้วย่อเข่าทั้งสองข้างลง พร้อมโน้มตัวมาด้านหน้า ยกขาข้างใดข้างหนึ่งขึ้นแล้วยกขาอีกข้างตาม ส่วนการลอยตัวหงายทำเหมือนกันกับการลอยตัวคว่ำ เพียงแค่เปลี่ยนจากหันหน้ามาเป็นหันหลังให้เราแทนค่ะ พร้อมเอนตัวมาด้านหลัง และในขณะที่ฝึกช่วงแรก ๆ เราควรประคองตัวเด็กจนเรามั่นใจว่าเค้าจะลอยตัวได้เองก่อนนะคะ และหากเด็กเริ่มฝึกคล่องแล้วค่อยปล่อยมือออก แต่เราควรยืนอยู่ใกล้กับตัวเด็กนะคะ เพราะจะทำให้เค้ารู้สึกไม่กลัวเหมือนว่าเราได้จับเค้าอยู่ตลอดเวลาค่ะ

การพุ่งจรวด

การฝึกพุ่งจรวดจะเป็นการฝึกแบบไม่ใช้อุปกรณ์ในการช่วยฝึก ซึ่งทักษะการฝึกสามารถแบ่งได้เป็น 2 ทักษะดังนี้

01 ทักษะการพุ่งจรวด
เด็กฝึกทักษะพุ่งจรวจแบบไม่เตะขา

1. เริ่มจากให้เด็กนั่งอยู่บนขอบสระน้ำจากนั้นยกแขนทั้งสองข้างขึ้น โดยให้มือขวาทับมือซ้ายแล้วเหยียดแขนตรงแนบบริเวณหลังหู

2. ให้เด็กสูดลมหายใจเข้าทางปากแล้วกลั้นหายใจ จากนั้นก้มตัวลงไปด้านหน้าใช้เท้าถีบตัวออกจากขอบสระ ให้ขาทั้งสองข้างเหยียดตรงชิดกันโดยไม่ต้องเตะขา ในขณะที่ร่างกายเคลื่อนที่เด็กต้องทรงตัวให้ลอยตรงไปข้างหน้าค่ะ

การฝึกทักษะนี้จะเป็นการฝึกที่ยากนิดนึงของเด็ก ๆ เลยก็ว่าได้ค่ะ เพราะเด็กจะต้องลอยตัวคว่ำได้ก่อนและอาศัยการทรงตัวให้ได้ขณะที่ตัวเคลื่อนที่ไปด้านหน้า ในช่วงแรก ๆ คุณพ่อคุณแม่อาจจะช่วยจับมือเด็กแล้วจัดท่าทางให้ถูกต้องก่อนค่ะ เมื่อเค้าชินแล้วถึงค่อยให้เด็กลองฝึกเองโดยให้เค้าพุ่งตัวมาหาเราค่ะ
02 ทักษะการพุ่งจรวดแบบเตะขา
เด็กฝึกทักษะพุ่งจรวจแบบเตะขา

ทักษะนี้เราจะให้เด็กฝึกเหมือนกันกับทักษะพุ่งจรวด แต่จะเพิ่มการเตะขาเข้ามาช่วยในการเคลื่อนที่ไปข้างหน้าด้วยนั่นเองค่ะ โดยให้เด็กถีบตัวออกจากขอบสระ ให้ขาทั้งสองขาเหยียดตรงพร้อมเตะขาสลับกันไปมา

การว่ายท่าลูกหมาตกน้ำ

การฝึกว่ายท่าลูกหมาตกน้ำ จะต้องฝึกการกลั้นหายใจ การลอยตัว และการเตะขาในน้ำให้ได้ก่อนนะคะ ซึ่งการว่ายท่าลูกหมาตกน้ำ จะมีวิธีการสอนให้เด็กง่าย ๆ ดังนี้

ผู้สอนช่วยพยุงตัวเด็กฝึกท่าลูกหมาตกน้ำ

1. เริ่มจากเด็กนอนคว่ำตัวลงแล้วให้คุณพ่อคุณแม่ช่วยพยุงใต้ท้อง

2. ให้เด็กใช้มือกวักน้ำเข้าหาตัวเองไปมา ใช้ขาและฝ่าเท้าถีบน้ำสลับกันไปมาเหมือนปั่นจักรยานให้เคลื่อนที่ไปข้างหน้านั่นเองค่ะ

เมื่อเด็ก ๆ ชินกับการฝึกแล้ว ให้กระโดดลงสระแล้วว่ายมาหาเราเอง โดยคุณพ่อคุณแม่ควรยืนห่างจากขอบสระประมาณ 2 เมตรค่ะ ซึ่งเราสามารถเพิ่มความยากโดยเดินถอยหลังทีละนิดขณะที่ว่ายมาหาเราค่ะ

หลังจากฝึกว่ายน้ำเสร็จแล้ว เราควรยืดเหยียดร่างกายเหมือนก่อนว่ายน้ำ เพราะจะช่วยลดการปวดของกล้ามเนื้อหลังออกกำลังกาย ทำให้ระบบไหลเวียนของเลือดและการทำงานส่วนต่าง ๆ ของร่างกายเข้าสู่สภาวะปกติ

เด็กและผู้สอนเล่นน้ำกันอย่างสนุกสนาน
เด็กและผู้สอนเล่นน้ำกันอย่างสนุกสนาน

ทั้งนี้การฝึกว่ายน้ำในแต่ละทักษะ เราไม่ควรบังคับว่าเค้าต้องทำได้ในทันทีที่เราสอนหรือภายในหนึ่งอาทิตย์ เพราะแต่ละทักษะของการฝึกว่ายน้ำ ต้องใช้เวลาฝึกฝนถึงจะเกิดความเคยชินแล้วก็จะทำได้เอง และถ้าเด็กทำได้ในแต่ละทักษะ แล้วคุณพ่อคุณแม่ควรจะมีรางวัลให้เด็กบ้างนะคะ โดยปล่อยให้เค้าได้เล่นอย่างอิสระ หรือหาเกมเล่นในน้ำเพื่อผ่อนคลายความเครียดด้วยค่ะ

สำหรับคุณพ่อคุณแม่ที่อยากทราบว่า ลูกของเราฝึกทักษะว่ายน้ำเบื้องต้นได้ถึงขั้นไหนแล้ว ในบทความต่อไป เรามีวิธีและเกณฑ์ประเมินของแต่ละทักษะ สามารถติดตามในบทความ ตอนที่ 3 วิธีการประเมินผลการฝึกว่ายน้ำ ได้นะคะ