จากบทความ สีเทียนสำหรับเด็ก 2 ตอนที่ผ่านมา พี่ออยได้พูดถึง การเลือกสีเทียนให้เหมาะกับช่วงวัย และการเลือกโทนสี สำหรับ การระบายสีเทียนแบบไล่สี กันไปแล้ว ครั้งนี้พี่ออยจะมาแนะนำให้ทุกคนรู้จักกับ สีเทียนระบายน้ำ กันค่ะ พี่ออยจะมาบอกทั้งวิธีการใช้ และเทคนิคในการระบายของพี่ออยเอง ให้ออกมาเป็นผลงานภาพระบายสี จากสีเทียนระบายน้ำ สวย ๆ ตามตัวอย่างด้านล่างนี้ ที่ทุกคนสามารถทำตามได้ง่าย ๆ ในไม่กี่ขั้นตอนเลยค่ะ ถ้าพร้อมแล้วเราไปทำความรู้จักกับ สีเทียนระบายน้ำกันเลยดีกว่า

ผลงาน ภาพระบายสี ด้วยสีเทียนระบายน้ำ Master Art (มาสเตอร์อาร์ต)
ผลงาน ภาพระบายสี ด้วย สีเทียนระบายน้ำ Master Art

สีเทียนระบายน้ำ กับ สีเทียนทั่วไป แตกต่างกันยังไง?

สีเทียนระบายน้ำ เป็นสีเทียนที่เจือจางได้ด้วยน้ำ สามารถล้างออกได้ เนื้อสีมีความนิ่ม ระบายลื่น และด้วยความที่เนื้อของสีนั้นนิ่มมาก ๆ สีเหล่านี้ส่วนใหญ่จึงถูกออกแบบให้แท่งสีอยู่ในปลอกพลาสติก เหมือนลิปติก ที่ต้องหมุนให้สีออกมาตอนจะใช้งาน ซึ่งต่างจากสีเทียนทั่วไป หรือ wax crayons ที่จะหล่อเป็นแท่งคล้ายแท่งดินสอ สามารถใช้มือจับได้เลย โดยที่สีไม่เลอะมือ อีกข้อแตกต่างที่เห็นได้ชัดของสีเทียนสองแบบนี้คือ สีเทียนทั่วไปที่ทำจาก wax หรือ ขี้ผึ้งจะมีคุณสมบัติกันน้ำ แต่สีเทียนระบายน้ำ สามารถละลายและกระจายตัวไปกับน้ำได้ คล้ายสีน้ำค่ะ

เนื้อของสีเทียนระบายน้ำ silky pastel master art ก่อนและหลัง ระบายทับด้วยน้ำ
เนื้อของสีเทียนระบายน้ำ ก่อนและหลัง ระบายทับด้วยน้ำ
เปรียบเทียบสีเทียนทั่วไป ที่กันน้ำ กับ  สีเทียนระบายน้ำ ที่ละลายไปกับน้ำ
เปรียบเทียบสีเทียนทั่วไป ที่กันน้ำ กับ สีเทียนระบายน้ำ ที่ละลายไปกับน้ำ

ยี่ห้อของสีเทียนระบายน้ำ

ยี่ห้อของสีเทียนระบายน้ำ ที่พี่ออยเคยลองใช้มีอยู่ 3 ยี่ห้อด้วยกันนะคะ นั่นก็คือ Master Art , AMOS แล้วก็ GRASP ความแตกต่างของ 3 ยี่ห้อนี้ ในเรื่องการใช้งาน ใช้ได้ดี มีความนิ่ม ระบายได้ลื่นคล้าย ๆ กันเลยค่ะ จะมีของ GRASP ที่เนื้อสีอาจจะนิ่มมากไปหน่อย ทำให้เลอะได้ง่ายกว่าตัวอื่น ๆ แต่ก็ใช้ได้ดี ไม่เป็นอันตรายต่อเด็ก ๆ นะคะ เพราะสีทั้ง 3 ยี่ห้อนี้เป็น สีเทียนระบายน้ำ Non-toxic ปลอดภัยไร้สารพิษ ทั้งยังทำความสะอาดง่าย ล้างออกได้ทั้งบนผิว และบนเสื้อผ้าด้วยค่ะ ในส่วนของราคา ในแบบ 12 สี เหมือนกัน AMOS ราคาประมาณ 420 บาท, Master Art ราคาประมาณ 280 บาท และ GRASP ราคาประมาณ 200 บาทค่ะ

สีเทียนระบายน้ำ ยี่ห้อ Master Art, AMOS และ GRASP แบบ 12 สี
สีเทียนระบายน้ำ ยี่ห้อ Master Art , AMOS และ GRASP แบบ 12 สี

การใช้ สีเทียนระบายน้ำ

การใช้สีเทียนระบายน้ำ คล้ายกับ สีไม้ระบายน้ำ ที่พี่ออยเคยแนะนำไปในบทความ เทคนิค​การระบายสี ตอนที่ 3 สีไม้ระบายน้ำ แต่มีเทคนิคบางอย่างที่แตกต่างกันเล็กน้อย ด้วยเนื้อสีของสีเทียนระบายน้ำ มีความนิ่ม และระบายติดง่ายกว่า ในตอนที่ระบายจึงไม่ต้องออกแรงกดมากนัก ทำให้ระบายได้ลื่นไหล ถูกใจเด็ก ๆ ส่วนสีไม้ระบายน้ำ เนื้อสีนิ่มกว่าสีไม้ทั่วไปก็จริง แต่ยังมีความแข็งอยู่ เวลาระบาย หรือ กดแรงเกินไป อาจทำให้เนื้อสีฝังแน่นอยู่บนกระดาษ จนน้ำไม่สามารถละลายได้หมด จนเห็นรอยขีดของสีเป็นปื้นได้ แน่นอนว่ากระดาษที่ใช้กับงานระบายที่มีน้ำ จะต้องเป็นกระดาษวาดเขียน 200 แกรมขึ้นไป เพื่อที่กระดาษจะได้ไม่เปื่อยยุ่ย เมื่อเราระบายน้ำลงไปค่ะ

ขั้นตอนการระบาย สีเทียนระบายน้ำ

ในการระบายสีเทียนระบายน้ำ ที่พี่ออยจะสอนนั้น มีอยู่ 4 ขั้นตอนง่าย ๆ ซึ่งรูปที่จะสอนระบายก็คือ รูปแมวน้อยค่ะ ผู้ปกครองสามารถดาวน์โหลด ภาพระบายสี สีเทียนระบายน้ำ ได้ที่ด้านล่างของบทความเลยค่ะ แนะนำให้ปริ้นแบบ Laser นะคะ ตัวหมึกจะได้ไม่ละลายตอนที่เราระบายน้ำทับค่ะ ส่วนสีเทียนระบายน้ำ ที่พี่ออยเลือกมาใช้ระบายเป็นตัวอย่างคือ สีเทียนระบายน้ำ ยี่ห้อ มาสเตอร์อาร์ต (Master Art) silky pastel แบบ 12 สีค่ะ เป็นแท่งสีแบบหมุน ใช้งานง่าย ด้ามจับมีกันลื่น ทำให้จับถนัดมือ แถมหาซื้อได้ง่าย ตามร้านขายอุปกรณ์เครื่องเขียนด้วย

ในภาพระบายสีจะมีส่วนที่ลงสีไว้ให้แล้ว และแบ่งส่วนการระบายออกเป็น 3 ส่วน
ในภาพระบายสีจะมีส่วนที่ลงสีไว้ให้แล้ว และแบ่งส่วนการระบายออกเป็น 3 ส่วน

ในภาพระบายสี มีการไกด์สี และตำแหน่งในการระบายให้ โดยจะมีส่วนที่ให้ระบายสีหลัก ๆ 3 ส่วน และมีบางส่วนที่ลงสีไว้ให้เรียบร้อยแล้ว ส่วนที่ 1 คือส่วนที่แสงกระทบ ส่วนที่ 2 คือส่วนหัวกับตัวของแมว และส่วนที่ 3 คือเงาค่ะ ส่วนสีที่พี่ออยจะระบายใช้เพียง สีส้ม และ สีน้ำตาล เท่านั้นนะคะ ถ้าพร้อมแล้วก็ไปเริ่มระบายสีเทียนระบายน้ำกันเลย

ขั้นตอนที่ 1 ระบายสีส้มให้ทั่วทั้งส่วนที่ 2 โดยให้เว้นส่วนที่ 1 ไว้ไม่ต้องลงสี เพราะเป็นส่วนที่แสงตกกระทบค่ะ

ระบายสีส้มให้ทั่วทั้งส่วนที่ 2
ระบายสีส้มให้ทั่วทั้งส่วนที่ 2

ขั้นตอนที่ 2 ระบายสีน้ำตาลในส่วนที่ 3 ซึ่งเป็นส่วนของเงา ที่จะมีสีเข้มที่สุดในภาพ ส่วนนี้จะมีพื้นที่ระบายค่อนเล็ก ต้องค่อย ๆ ระบายใจเย็น ๆ นะคะ

ระบายสีน้ำตาลในส่วนที่
ระบายสีน้ำตาลในส่วนที่ 3
Tip & Trick
ในสองขั้นตอนแรก พี่ออยไม่ได้ระบายสีให้เต็มจนชิดเส้นขอบของภาพนะคะ เพราะว่าสีเทียนมีหัวที่ค่อนข้างใหญ่ การพยายามระบายให้เต็มถึงขอบภาพ อาจทำสีเลอะหรือเกินออกนอกภาพได้ พี่ออยเลยใช้วิธีเว้นขอบไว้นิดหน่อย แล้วค่อยใช้พู่กันเกลี่ยสี เก็บรายละเอียดในตอนระบายน้ำแทนค่ะ

ขั้นตอนที่ 3 การระบายน้ำ ให้นำพู่กันจุ่มน้ำเล็กน้อย แล้วใช้ระบายทับลงบนส่วนที่ 2 โดยระบายให้มีสีส้มติดเข้ามาในส่วนที่ 1 จาง ๆ เพื่อให้ดูกลมกลืนกัน

ระบายน้ำทับลงบนส่วนที่ 2 โดยระบายให้มีสีส้มติดเข้ามาในส่วนที่ 1 จาง ๆ
ระบายน้ำทับลงบนส่วนที่ 2 โดยระบายให้มีสีส้มติดเข้ามาในส่วนที่ 1 จาง ๆ

ขั้นตอนที่ 4 ใช้น้ำระบายส่วนที่ 3 แล้วเกลี่ยสีของส่วนที่ 2 และ 3 ให้กลมกลืนกัน จากนั้นเก็บรายละเอียดรอบ ๆ ภาพ และส่วนที่สียังไม่สม่ำเสมอ เท่านี้ก็เสร็จเรียบร้อยแล้วค่ะ

ระบายน้ำในส่วนที่ 3 แล้วเกลี่ยสีของส่วนที่ 2 และ 3 ให้กลมกลืนกัน
ระบายน้ำในส่วนที่ 3 แล้วเกลี่ยสีของส่วนที่ 2 และ 3 ให้กลมกลืนกัน

เมื่อเปรียบเทียบภาพก่อน และหลังการระบายน้ำ เราจะเห็นความแตกต่างได้ชัดเจนมาก ๆ ว่าสีเทียนที่เราระบายลงไปในตอนแรกนั้น ได้ละลายไปกับน้ำที่เราระบาย กลายเป็นภาพสีน้ำ ที่สีสดชัด และดูมีมิติมากขึ้นกว่าเดิมแล้วค่ะ

เปรียบเทียบภาพแมว ก่อนและหลังระบายน้ำ
เปรียบเทียบภาพแมว ก่อนและหลังระบายน้ำ

นอกจากรูปแมวน้อยแล้ว พี่ออยยังได้สอนระบายสีรูปอีก 4 ชุด รวมทั้งหมด 16 รูป พร้อมมี ภาพระบายสี ทั้งชุดสัตว์เลี้ยง ชุดขนมหวาน ชุดไดโนเสาร์ และชุดดอกไม้ ให้ผู้ปกครองดาวน์โหลดไปฝึกระบายกับเด็ก ๆ ให้จุใจกันไปเลยค่ะ และนอกจากเทคนิคการระบายสีเทียนระบายน้ำที่ออยสอนไปในบทความนี้แล้ว ยังสามารถนำเทคนิคการระบายสี จากบทความอื่น ๆ มาปรับใช้กับ สีเทียนระบายน้ำด้วยก็ได้นะคะ ให้เด็ก ๆ ได้ลองการระบายสีที่หลากหลาย ทั้งทำตามแบบ และระบายแบบอิสระ เด็ก ๆ จะได้ใช้จินตนาการ ความคิดสร้างสรรค์ และลงมือลองสิ่งใหม่ ๆ ด้วยตัวเองค่ะ ให้การใช้สีเทียนระบายน้ำ เป็นอีกหนึ่งกิจกรรมที่ช่วยฝึกกล้ามเนื้อมือให้กับเด็ก มีสมาธิจดจ่อกับสิ่งใดสิ่งหนึ่งได้นาน ๆ ฝึกความอดทนให้พร้อมกับการทำกิจกรรมดี ๆ อีกมากมายในอนาคตด้วยค่ะ ส่วนในบทความหน้า พี่ออยจะมาสอนหรือชวนทำกิจกรรมอะไรอีก ฝากติดตามกันด้วยนะคะ

คลิกดูขั้นตอนการระบาย สีเทียนระบายน้ำ

ดาวน์โหลด
4 รายการ