ผู้ปกครองหรือคุณครู เคยตั้งคำถามกันมั้ยคะ ว่าทำไมนักวิชาการบางกลุ่ม หรือแม้กระทั้งผู้ปกครองบางคน ถึงมีมุมมองว่า การเร่งให้เด็กหัดเขียน หัดอ่านให้ได้ภายในวัยอนุบาลนั้น เป็นสิ่งที่ไม่เหมาะสม
คำพูดประมาณนี้ ครูแหม่มได้ยินมาโดยตลอด ตั้งแต่สมัยยังเรียนในมหาลัย มาวัยทำงาน จนวันนี้กลายเป็นผู้ปกครอง มีลูกสาวโตเลยช่วงปฐมวัย (อนุบาล) แล้ว ในความคิดเห็นส่วนตัวของครูแหม่มนั้น เห็นด้วยอย่างยิ่งค่ะ เพราะการเร่งให้เด็กเรียน เขียน อ่าน ในตอนที่เด็กยังไม่พร้อมนั้น ไม่มีผลดีต่อตัวเด็กอย่างแน่แท้ จากประสบการณ์การสอนที่ครูแหม่มเคยเจอกับตัวเอง การคะยั้นคะยอให้เด็ก ๆ ต้องอ่านให้ออก เขียนให้ได้ โดยที่ตัวเด็กยังไม่พร้อม ทั้งทางร่างกายและจิตใจ เป็นเรื่องที่ไม่สมควรทำอย่างยิ่ง เพราะจะทำให้เด็กเกิดความเครียด และมีผลต่อพัฒนาการโดยรวมของเด็กในอนาคตได้
ในปัจจุบันโรงเรียนอนุบาลหลายแห่ง มีการจัดประสบการณ์แบบเตรียมความพร้อม ให้ความสำคัญกับการส่งเสริมทักษะในทุก ๆ ด้าน แบบค่อยเป็นค่อยไปให้กับเด็ก และก็ยังมีโรงเรียนบางแห่งที่เห็นว่า เด็กควรเริ่มอ่านเขียนอย่างจริงจังได้ตั้งแต่อนุบาล จึงจัดประสบการณ์ที่เน้น การอ่านเขียนอย่างจริงจัง ฝึกให้เด็กจดจำตัวอักษร เขียนและอ่านประสมคำให้ได้ เช่นเดียวกับการเรียนในชั้นประถมศึกษา เด็กจึงถูกเร่งให้เรียนโดยที่เด็กยังไม่พร้อม หรือยังไม่มีสัญญาณบ่งบอกถึงความสนใจจากตัวเด็กเลย
การจัดประสบการณ์แบบเร่งให้เด็กอ่านเขียนแบบผิดวิธีนี้ จึงอาจจะส่งผลให้เด็กเกิดความเครียด และมีทัศนคติที่ไม่ดีต่อการเรียน จนไม่อยากมาโรงเรียนเลยก็มี ซึ่งเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นภายในชั้นเรียนของครูแหม่มอยู่บ่อยครั้ง ในช่วงที่ครูแหม่มยังเป็นครูประจำชั้นอนุบาล ครูแหม่มก็ต้องหาแนวทางแก้ไขเรื่องนี้ทุกปี เป็นสิ่งที่ครูแหม่มหรือครูท่านอื่น ๆ ก็น่าจะเจอแบบเดียวกัน เพราะเป็นเรื่องความคาดหวัง ทั้งจากโรงเรียน หรือจากตัวผู้ปกครองเองก็มี ยิ่งถ้ามีการมองว่าเด็กจะต้องไปสอบต่อในระดับประถมศึกษาด้วยแล้วละก็ จะยิ่งทำให้ช่วงวัยอนุบาล 3 นั้น มีแรงกดดันอย่างหนักกับตัวเด็กเพิ่มมากขึ้นตามไปอีก
แต่จะทำอย่างไรได้บ้าง ถ้าเรามีความจำเป็นที่จะต้องให้เด็ก ๆ หรือลูกของเรา มีความพร้อมตั้งแต่ในวัยปฐมวัย โดยที่ไม่ทำให้เด็ก ๆ นั้น เกิดอาการต่อต้านและยังมีความสุขกับการเรียนที่เราจัดหาให้ อันนี้ ครูแหม่มยอมรับเลยค่ะ ว่าสมัยที่ครูแหม่มยังไม่มีลูก และยังทำงานเป็นครูในโรงเรียนอนุบาล มุมมอง ความคิดของครูแหม่ม ในการทำงานในแต่ละวัน ครูแหม่มจะเตรียมการสอน โดยใช้หลักสำคัญคือ ทำอย่างไรก็ได้ ให้เด็กเรียนรู้อย่างมีความสุข สนุกกับการเรียน มีความสนใจในชั่วโมง และมีความอยากที่จะมาโรงเรียนในทุก ๆ วัน เพียงเท่านั้น ครูแหม่มไม่เข้าใจในความต้องการของผู้ปกครอง อย่างแท้จริง จนบางครั้ง ครูแหม่มก็มักหาโอกาสไปปรึกษาผู้เชี่ยวชาญว่าจะเร่งกันไปทำไม ?
แต่พอวันที่เป็นแม่คนขึ้นมา คราวนี้เจอกับตัวเองเลยเข้าใจอะไรมากขึ้นเลยค่ะว่า ทำไมผู้ปกครองส่วนมากจะมีความกังวล และมักหาเวลามาขอคุยกับครูแหม่ม ในเรื่องพัฒนาการของลูกตามช่วงวัยเสมอ ซึ่งสิ่งที่ครูแหม่มเจอกับตัวเองคือ ลูกเรามักแสดงพฤติกรรมให้เราเห็นตอนอยู่ที่บ้าน ไม่เหมือนกับอยู่ที่โรงเรียน เมื่อเปรียบเทียบกับคำบอกเล่าจากครูประจำชั้น พฤติกรรมของเด็กตอนที่อยู่ที่บ้านนั้น เด็กจะมีความเป็นตัวของตัวเองสูง ที่บ้านเด็กจะมีความรู้สึกว่าทุกคนให้ความสำคัญกับเค้าแน่นอน ยิ่งถ้าบ้านไหนที่ผู้ปกครองตามใจมาก ๆ แล้วล่ะก็ เด็กก็มักจะมีปัญหากับผู้ปกครองอยู่เสมอ เพราะเด็กสามารถต่อรองกับผู้ปกครองได้
ในการเรียน เขียน อ่าน ผู้ปกครองมีหน้าที่ส่งเสริมได้ในระหว่างทำกิจกรรมปกติโดยไม่ต้องเพิ่มเวลาเรียนให้เด็ก นอกจากนี้ครูและผู้ปกครองสามารถแสดงให้เด็กเห็นว่าการเรียน เขียน อ่าน เป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวันที่สนุกสนาน เพลิดเพลินได้โดยที่ไม่ได้เกิดจากการบังคับ
ยกตัวอย่าง จากผู้ปกครองที่สอนการบ้านเด็กเอง ผู้ปกครองมักจะพูดว่า “น้องอยู่บ้านสอนการบ้านยากมากค่ะ น้องไม่มีสมาธิเลยค่ะ มีข้อต่อรองมากมาย กว่าจะทำเสร็จแต่ละหน้าใช้เวลานาน” สิ่งนี้ ครูแหม่มเจอมากับตัว เลยเริ่มจะเข้าใจปัญหา เอาเป็นว่า ครูแหม่มพอที่จะมีทางออก ในปัญหานี้บ้างแล้ว เรามาลองฟังวิธีการอยู่ร่วมกับปัญหา และการแก้ไขปัญหาในแบบของครูแหม่มกันค่ะ
ปัญหาส่วนใหญ่ของผู้ปกครองและเด็ก ๆ ที่ครูแหม่มพบเจอ ในเรื่อง การส่งเสริมด้านการเรียน เขียน อ่าน มีดังต่อไปนี้
1. วินัยในวัยเด็ก วินัย เป็นสิ่งสำคัญที่ผู้ปกครอง ควรปลูกฝังให้เด็ก ๆ ตั้งแต่ก่อนเข้าเรียน ซึ่งเป็นเรื่องที่ควรทำอย่างมากค่ะ แต่ไม่ใช่การบังคับให้ทำนะคะ อย่างบ้านครูแหม่มเริ่มสร้างข้อตกลงกับลูกตั้งแต่ 2 ขวบ เราจะมีข้อตกลงกันว่า ตื่นเช้ามาต้องทำกิจวัตรประจำวันให้เรียบร้อย ไม่มีการมาอยู่ในชุดนอน ในทุก ๆ เช้าก่อนที่เค้าจะไปเล่นอิสระหรือไปดูการ์ตูน ครูแหม่มจะชวนลูกมาวาดรูป ขีดเขียนตามจินตนาการ และช่วยกันแต่งเรื่องราวง่าย ๆ ช่วยกันเล่าเรื่องอย่างสนุกสนาน ไม่ต้องมีสาระมาก เด็กจะชอบเรื่องที่มีจินตนาการมากกว่าเรื่องราวที่จริงจังนะคะ ต่อมาเมื่อเริ่มเข้าโรงเรียน ทุกเย็นที่กลับมาจากโรงเรียนจะต้องอาบน้ำ ทำการบ้าน ทบทวนบทเรียนที่ทางโรงเรียนให้มา ก่อนที่จะไปเล่นอิสระหรือทำกิจกรรมต่าง ๆ ที่ตัวเค้าสนใจ ซึ่งครูแหม่มก็ปฏิบัติอย่างนี้เรื่อยมา จึงไม่ค่อยเจอพฤติกรรมที่ต่อต้านในการเรียน เขียน อ่าน ค่ะ เด็กจะทำได้มากน้อยแค่ไหน เราไม่ควรบังคับ ค่อย ๆ ให้เด็กปรับตัวไปอย่างช้า ๆ นะคะ
2. แบบเรียน แบบฝึกหัดเชื่อว่าหลาย ๆ ท่านคงจะเคยเห็นแบบเรียนที่เป็นแบบคัด เขียนจริงจัง อย่างเช่น เรียนรู้พยัญชนะไทย ก-ฮ ในหนึ่งหน้านั้น ก็จะมี ก . ไก่ ที่เป็นรอยประทั้งหน้า สีเป็นขาว-ดำ ในหนึ่งแถวนั้นมี 5 ตัวอักษร และมี 5-6 บรรทัด เมื่อก่อนที่ครูแหม่มสอนเด็กในโรงเรียน ใน 1 วัน เด็กจะต้องเขียน ก. ไก่ ตามรอยประหน้านั้นทั้งหน้า ผู้ใหญ่เห็นยังเหนื่อย แล้วเด็กเล็ก ๆ จะไม่ท้อได้อย่างไร ซึ่งแบบเรียนที่ครูแหม่มคิดว่าเหมาะสมสำหรับเด็กนั้น ควรมีสีสันสดใส รูปภาพประกอบน่ารัก เพราะสิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่ช่วยกระตุ้นให้เด็ก ๆ สนใจโดยอัตโนมัติ ส่วนตัวพยัญชนะตามรอยประที่ให้เด็กเขียนควรไม่เกิน 5 ตัวอักษร ก็พอนะคะ เราเน้นทำทุกวัน ทำบ่อย ๆ เด็ก ๆ บางคน อาจจะทำแบบฝึกมาจากที่โรงเรียนเยอะอยู่แล้ว ถ้ากลับมาบ้านยังเจอผู้ปกครองให้ทำเยอะอีก เป็นใครก็ต้องต่อต้าน ดังนั้น ครูแหม่มเลยย้ำว่า ทำน้อย ๆ ก็พอ และทำให้ได้ทุกวัน จะได้ส่งเสริมเรื่องวินัยไปในตัวเด็กด้วยค่ะ หากผู้ปกครองจะหาแบบฝึกหัด มาสอนเสริมเด็ก ๆ ที่บ้าน ควรเน้นเรื่องความเหมาะสมของแบบฝึกด้วยนะคะ
3. รางวัลหรือสิ่งเร้าครูแหม่มเคยเจอเด็กชอบแสดงพฤติกรรมหมดแรง หาว ง่วง เมื่อให้ทำแบบเรียน จากการสังเกตน้องไม่ค่อยให้ความสนใจในการเรียนรู้ เหม่อลอย เมื่อเวลาให้เรียน เขียน อ่าน ครูก็เข้าใจนะคะว่า เด็กในวัยนี้จะให้มาขีดเขียนอะไรมากมาย แต่ปัญหาเหล่านี้จะหมดไป เมื่อเราตั้งข้อสังเกตว่า ที่เด็กแสดงพฤติกรรมอย่างนี้มาจากสาเหตุอะไร เช่น ยังไม่พร้อมเรียน ไม่อยากเรียน หรือไม่มีสมาธิ ฯลฯ สำหรับครูแหม่มเมื่อรู้ถึงสาเหตุแล้ว ก็พอจะมีวิธีขจัดสิ่งเหล่านี้ออกไปได้คือ ต้องใจเย็น มีความอดทนสูง ชวนเด็กพูดนอกเรื่องไปบ้างเล็กน้อย แล้ววนกลับมาในเรื่องบทเรียนที่เราจะสอน สร้างความเป็นกันเองให้กับเด็ก เมื่อเด็กเริ่มสนุกกับเรา พอเราให้เค้าทำอะไรก็จะปฏิบัติตามได้ ในวัยเด็กเล็ก ๆ สิ่งที่ช่วยกระตุ้นเสริมแรง ให้เด็กมีพลังในการทำสิ่งใดสิ่งหนึ่งอย่างมุ่งมั่น คือ รางวัลเล็ก ๆ น้อย และคำชื่นชม เมื่อเด็กสามารถทำงานที่ได้รับมอบหมายได้สำเร็จทุกครั้ง รางวัลเล็ก ๆ น้อย และคำชมถือว่าเป็นยาวิเศษที่ดีสำหรับเด็ก ๆ เลยนะคะ ส่วนตัวครูแหม่มจะมีขนม หรือเยลลี่ที่ลูกชอบ ติดไว้ที่บ้านเสมอ พอลูกทำเสร็จเราก็ให้เลยไม่ต้องให้เค้าร้องขอ สิ่งนี้ จะช่วยให้เด็กรู้ว่า มันเป็นช่วงเวลาพัก หลังจากทำงานของตัวเองเสร็จ มากกว่าการทำเพื่อต่อรองแลกของกับพ่อแม่
4. การต่อรอง อารมณ์เด็กที่มีอายุประมาณ 4-6 ปี เริ่มมีความคิดในหัว และกล้าที่จะพูดบางสิ่งบางอย่างมาต่อรอง เมื่อเราให้เค้าทำอะไรที่มันเยอะไปสำหรับเค้า ขอเล่าจากประสบการณ์ของครูแหม่ม ตอนสอนเด็กระดับชั้นอนุบาล 2 สิ่งที่เจอบ่อยที่สุดคือ เวลาให้เด็กทำแบบเรียนเขียนพยัญชนะ 1 หน้า (มีประมาณ 20 ตัว) เวลาครูแหม่มสอนเด็กจะให้เด็กมานั่งทำแบบตัวต่อตัวทีละคน เพื่อที่จะสังเกตเด็กได้ตามสภาพจริงค่ะ เมื่อยื่นแบบเรียนให้ เด็กเขียนไปได้ 1 แถว เด็กนั่งนิ่งแล้วถามครู
เด็กเริ่มคิดทำท่าเหมือนจะร้องไห้ ครูแหม่มเลยยื่นข้อเสนอไปว่า เอาอย่างนี้แล้วกันเรามาเขียนคนละตัว หนูเขียน 1 ตัว ครูเขียน 1 ตัว จะได้เสร็จวันนี้ พรุ่งนี้จะได้ไม่ต้องเขียนเยอะ เด็กเริ่มมีกำลังใจ ยิ้มออก อารมณ์ดี และยอมรับข้อเสนอของครู ในระหว่างการเขียน ครูก็ชวนเด็กพูดคุยอย่างเป็นกันเอง เกี่ยวกับการเขียนว่าเริ่มจากไหน เขียนอย่างไรให้ถูกวิธี (ในกรณีที่สังเกตว่าเด็กเขียนจากหลังไปข้างหน้าหรือม้วนหัวไม่ถูกทาง ไม่ควรดุหรือต่อว่าเด็กนะคะ)
เห็นมั้ยคะ เพียงแค่นี้เราก็สามารถเปลี่ยนข้อต่อรองของเด็ก มาเป็นข้อเสนอของเราได้โดยปริยาย ที่สำคัญไม่สร้างความกดดันให้กับเด็กอีกด้วยค่ะ เพราะฉะนั้นแบบฝึกหัดที่ดีและเหมาะสมกับเด็ก ปริมาณไม่ควรเยอะจนเกินไป เพราะทำให้เด็กท้อแท้ในการทำแบบเรียนได้ สำหรับครูแหม่มถ้าเป็นงานประเภทวิชาการจะให้เด็กทำน้อย ๆ แต่ทำซ้ำ ๆ และในการทำแต่ละครั้งจะใช้เวลาไม่เกิน 20 นาที แค่นี้ก็เพียงพอสำหรับเด็กอนุบาลแล้วค่ะ
5. ไม่สบาย อารมณ์ไม่ดีเมื่อเด็กรู้สึกไม่สบายตัว อารมณ์ไม่ดี ผู้ปกครองและครูสามารถสังเกตพฤติกรรมของเด็ก ๆ ได้ เด็กอารมณ์ไม่ดี หรือแสดงอาการหงุดหงิด อาจเกิดจากอาการไม่สบาย หรืออาจมีเรื่องไม่สบายใจมาจากโรงเรียน ผู้ปกครองก็ไม่ควรคะยั้นคะยอให้เด็ก ทำแบบเรียน เขียน อ่าน ผู้ปกครองสามารถเปลี่ยนวิธีการเป็นเล่านิทานเรื่องต่าง ๆ ให้เด็กฟัง จากนั้นก็อาจชวนเด็กคุยเกี่ยวกับตัวละคร เนื้อเรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ ในนิทานให้เด็กตอบแค่นี้ก็เป็นการเรียนรู้ได้อีกแบบนะคะ
ทั้งหมดนี้เป็นประสบการณ์ และแนวทางการแก้ปัญหาที่ครูแหม่มพบเจอ จากทั้งการสอนภายในโรงเรียน และการสอนลูกตนเองตลอด 20 ปี ที่ผ่านมาครูแหม่มแอบคิดว่า แนวทางของครูแหม่ม ที่นำมาปรับใช้กับลูกของตนเองนั้นไม่ได้ยากที่ผู้ปกครองจะนำไปปรับใช้กับลูกของตนเองไม่ได้ ดังนั้น ลองนำแนวทางของครูแหม่ม ไปปรับใช้กันดูนะคะ ครูแหม่มแค่หวังว่า ถ้าเราเปลี่ยนวิธีคิดในเรื่องการเร่งเรียนไม่ได้ งั้นเราก็มาหาวิธีตรงกลางร่วมกัน โดยยึดความสนใจและความสุขของเด็กเป็นหลัก ทุกอย่างจะดีขึ้นอย่างแน่นอนค่ะ
ในครั้งหน้าครูแหม่มจะมาอธิบาย และ ลงรายละเอียดในเรื่องของแบบฝึกทักษะที่เหมาะสำหรับเด็กตามช่วงวัย ที่ครูแหม่มได้ทำการทดลอง วิจัย และพัฒนาในทุกวันที่ศูนย์วิจัยฯ (ศูนย์วิจัยและพัฒนาศักยภาพเด็กปฐมวัย Youngciety) อย่าลืมติดตามกันต่อนะคะ