จากบทความ "การจัดการเรียนการสอนแบบ มอนเตสซอรี่ สำหรับเด็กปฐมวัย ตอนที่ 1" เราได้อธิบายเกี่ยวกับที่มาและหลักการสอนของมอนเตสซอรี่ รวมถึงการจัดการเรียนการสอนแบบมอนเตสซอรี่ไปแล้ว ในบทความนี้เราจะมาอธิบายถึง การประเมินการสอนและห้องเรียนแบบมอนเตสซอรี่ ให้คุณครูหรือผู้ปกครองได้เข้าใจมากขึ้นกันค่ะ

การประเมินการสอนแบบมอนเตสซอรี่

ในการประเมินผลการสอนแบบมอนเตสซอรี่ จะเป็นการใช้วิธีการสังเกตความสามารถในการทำกิจกรรมของเด็กในแต่ละกลุ่มวิชา โดยจะสังเกตจากการใช้อุปกรณ์การเรียนแต่ละชิ้นของเด็ก รวมทั้งมีการประเมินผลจากการใช้อุปกรณ์ต่าง ๆ ของมอนเตสซอรี่อีกด้วย คุณครูอาจจะใช้เครื่องหมายหรือสัญลักษณ์ต่าง ๆ เช่น วันที่ เครื่องหมายถูก ฯลฯ ลงบันทึกหลังรายการอุปกรณ์เมื่อเด็กสามารถทำได้คล่องแคล่วและเข้าใจในการใช้อุปกรณ์ เมื่อเด็ก ๆ ใช้อุปกรณ์ชิ้นไหนได้คล่องแล้ว คุณครูสามารถสาธิตการใช้อุปกรณ์ในระดับที่ยากขึ้นไปอีกให้เด็กได้เลยค่ะ

การประเมินการสอนแบบมอนเตสซอรี่ montessori สำหรับเด็กปฐมวัย
ประเมินผลการสอนโดยการสังเกตความสามารถในการทำกิจกรรมของเด็ก

การสอน 3 ขั้นตอนของมอนเตสซอรี่

การสอนแบบมอนเตสซอรี่เพื่อเชื่อมโยงภาษากับอุปกรณ์หรือสิ่งของมี 3 ขั้นตอนดังนี้

ขั้นที่ 1 การสังเกตเห็นลักษณะเฉพาะของสิ่งนั้น

โดยคุณครูจะต้องบอกชื่อของวัตถุให้ถูกต้อง ชัดเจน และไม่ควรใช้คำอื่นเข้ามาปะปนมากมายจนทำให้เด็กเกิดความสับสน ขณะเดียวกันคุณครูควรให้เด็กได้ลูบและสัมผัสวัตถุชิ้นนั้นไปด้วย เช่น สิ่งนี้ขรุขระ (ให้เด็กสัมผัสวัตถุชิ้นนั้นไปด้วย) เป็นต้น

ในขั้นตอนการบอกชื่อของวัตถุ ควรทำให้เกิดความเชื่อมโยงระหว่างวัตถุกับชื่อ ดังนั้น ทั้งวัตถุและชื่อจึงควรเป็นสิ่งที่เด็กได้เรียนรู้และเข้าใจไปพร้อมกัน
ขั้นที่ 2 การสังเกตเห็นความแตกต่าง

เพื่อให้มั่นใจว่าเด็กสามารถเชื่อมโยงความสัมพันธ์ระหว่างวัตถุกับชื่อได้ ให้คุณครูใช้คำถาม ถามเด็กอย่างช้า ๆ และชัดเจน เช่น อันไหนเรียบ อันไหนขรุขระ เป็นต้น โดยให้เด็กชี้ไปยังวัตถุชิ้นนั้น วิธีนี้จะทำให้คุณครูรู้ว่าเด็กเข้าใจกับสิ่งที่สอนไปแล้วหรือไม่ และยังเป็นการช่วยส่งเสริมความจำให้กับเด็กได้อีกด้วย

ขั้นที่ 3 การเห็นความแตกต่างระหว่างสิ่งของที่มีความเหมือนกัน

ขั้นนี้จะเป็นขั้นตอนเพื่อยืนยันความเข้าใจของเด็กในการเรียนรู้จากขั้นตอนที่ 1 และขั้นตอนที่ 2 โดยคุณครูอาจจะตั้งคำถามกับเด็กอีกครั้ง เช่น “สิ่งนี้คืออะไร” เด็กอาจตอบว่า “สิ่งนี้ขรุขระ” เป็นต้น คุณครูสามารถถามคำถามหลาย ๆ ครั้งได้ เพื่อเป็นการเน้นความจำให้กับเด็กและเพื่อเป็นการยืนยันว่าเด็กสามารถจำชื่อสิ่งต่าง ๆ ที่ครูสาธิตให้ดูได้อย่างถูกต้อง

คุณครูควรเข้าใจพัฒนาการของเด็กและดูความแตกต่างระหว่างเด็กแต่ละคน ถ้าเด็กคนไหนยังไม่พร้อมที่จะก้าวไปในขั้นต่อไปก็ไม่ควรบังคับ แต่ควรให้เด็กได้ลองทำใหม่ในครั้งต่อไปค่ะ

คุณครูในระบบมอนเตสซอรี่

ความสำเร็จของการสอนแบบมอนเตสซอรี่ คือ คุณครูจะต้องได้รับการฝึกฝนมาโดยเฉพาะ ให้รู้แนวทางในการจัดห้องเรียนและจะต้องได้รับการฝึกฝนและเรียนรู้ทั้งทฤษฎีและการปฏิบัติซึ่งจะเน้นย้ำความสำคัญของคุณครูในระบบมอนเตสซอรี่ ดังนี้

  • คุณครูจะต้องมีเจนคติที่ดีต่อการทำงานกับเด็กและมีความรักเด็ก
  • คุณครูต้องรู้จักสังเกต เพราะการสังเกตคุณครูจะรู้ถึงความต้องการของเด็กว่าอยากเรียนรู้เรื่องใด ทำอะไรได้บ้าง หรือต้องการให้คุณครูช่วยเหลืออะไรบ้างและคุณครูสามารถจะช่วยเด็กได้อย่างไร
  • คุณครูต้องให้อิสระเด็กในการตัดสินใจ เปิดโอกาสในการเลือก เพื่อให้เด็กได้ค้นพบผลของการทำงานของตนเอง
  • จัดเตรียมสิ่งแวดล้อมให้เด็กในสภาพที่สมบูรณ์ที่สุด จัดเก็บอุปกรณ์ที่ไม่ใช้แล้วออกไปตามความเหมาะสม
  • จัดประสบการณ์ให้สอดคล้องกับพัฒนาการและความต้องการของเด็กและประเมินผลสม่ำเสมอ
  • สังเกตและประเมินผลเด็กเป็นรายบุคคลและรายงานความก้าวหน้าของเด็กให้ผู้ปกครองทราบ
  • เคารพต่อเด็กและควรรู้ว่าเวลาใดไม่ควรรบกวนเด็ก โดยไม่ขัดจังหวะเมื่อเด็กกำลังพักผ่อน
  • ให้ความสนับสนุนเด็ก ให้ความรักและให้การดูแลอย่างเท่าเทียมไม่ลำเอียง
  • ประพฤติตนเป็นแบบอย่างที่ดีให้กับเด็ก แสดงให้เด็กรู้ว่าครูเคารพในสิทธของเด็กทุกคน
  • เป็นผู้รู้จักประนีประนอม มีความสุภาพอ่อนโยน รู้จักวินัย ไม่ตัดสินเด็กแต่ละคนจากความรู้สึกของตนเอง
  • นำเสนอบทเรียนที่น่าสนใจ และกระตุ้นความสนใจเด็กให้อยากรู้อยากทำอุปกรณ์ที่คุณครูสาธิตให้ดู โดยไม่ต้องกระตุ้น

ห้องเรียนแบบมอนเตสซอรี่

กิจกรรมก่อนเข้าห้องเรียนในโรงเรียนอนุบาลแบบมอนเตสซอรี่ โดยปกติแล้วกิจกรรมก็จะเป็นเหมือนโรงเรียนอนุบาลทั่วไปค่ะ คือ ตอนเช้าก่อนเข้าเรียนจะมีคุณครูคอยรับเด็ก เมื่อเด็กมาถึงห้องเรียนก็จะนำสิ่งของของตัวเองออกจากกระเป๋านำไปใส่ในตะกร้าหรือล็อคเกอร์ที่คุณครูกำหนดไว้ให้ ก่อนเข้าแถวเด็ก ๆ ก็จะได้วิ่งเล่นในบริเวณสนามตามปกติ เมื่อได้ยินเสียงสัญญานหรือเสียงเพลงของแต่ละโรงเรียนที่บ่งบอกว่าหมดเวลาเล่นถึงเวลาเข้าแถว เด็กก็จะหยุดเล่นไปเข้าห้องน้ำทำความสะอาดร่างกายล้างมือ ล้างหน้า แล้วมาเข้าแถวประจำที่ห้องของตัวเอง

เมื่อเข้าห้องเรียน ในการทำกิจกรรมต่าง ๆ เด็กจะมีอิสระในการเลือกอุปกรณ์ของมอนเตสซอรี่ที่จัดเตรียมไว้บนชั้นที่แยกไว้ตามกลุ่มวิชา โดยคุณครูจะให้เด็กได้เลือกอุปกรณ์ตามความสนใจและให้เด็กไปนั่งทำงานตามสถานที่ที่ตัวเองต้องการ เช่น บางคนอาจมีการปูเสื่อ ปูผ้าและนำอุปกรณ์มาเล่น หรือบางคนอาจเลือกทำงานบนโต๊ะ ก็จะไปนั่งทำงานบนโต๊ะค่ะ

กิจกรรมแบบมอนเตสซอรี่ montessori
ในการทำกิจกรรมแบบมอนเตสซอรี่ เด็กจะมีอิสระในการทำสิ่งต่าง ๆ ด้วยตัวเอง

งานบนโต๊ะส่วนใหญ่แล้วจะเป็นกิจกรรมการเจาะกระดาษเป็นรูปต่าง ๆ ที่คุณครูจัดเตรียมวางไว้ให้หรือไม่ก็เป็นงานฝึกเขียนชื่อ ศิลปะ วาดรูปทรงเลขาคณิต ฯลฯ ในการหยิบจับอุปกรณ์คุณครูจะให้เด็กเป็นคนจัดการเองทุกอย่าง เด็กจะหมุนเวียน เปลี่ยนอุปกรณ์การเล่นไปเรื่อย ๆ อุปกรณ์ที่เล่นนั้นจะมีทั้งแบบเดี่ยวและแบบกลุ่มที่ทำร่วมกับเพื่อนและถ้าเป็นการเริ่มอุปกรณ์ชิ้นใหม่ในขั้นที่ยากขึ้น คุณครูจะเรียกเด็กมาเป็นกลุ่ม กลุ่มละ 5-6 คน เพื่อสาธิตการเล่นอุปกรณ์ชิ้นนั้น โดยจะเรียกสลับกับเด็กที่นั่งทำกิจกรรมอยู่จนกว่าจะครบทั้งห้อง ซึ่งกิจกรรมแบบมอนเตสซอรี่จะมีอยู่ 3 กลุ่มด้วยกัน คือ

1. กลุ่มกิจกรรมประเภทประสบการณ์ชีวิต เช่น การขัดรองเท้า เช็ดกระจก แต่งตัวตุ๊กตา การเทน้ำ การตำ ฯลฯ (สิ่งเหล่านี้เป็นประสบการณ์ในชีวิตจริงที่จะช่วยส่งเสริมให้เด็กมีทักษะการใช้ชีวิต เด็กจะเรียนรู้ศักยภาพและความสนใจของตัวเองผ่านประสบการณ์จริงค่ะ) โดยกลุ่มนี้จะเป็นการฝึกให้เด็กรู้จักเรียนรู้การช่วยเหลือตนเอง ดูแลกิจวัตรประจำวัน และดูแลสิ่งแวดล้อมรอบ ๆ ตัว ฝึกการใช้กล้ามเนื้อมัดเล็ก มัดใหญ่ อีกทั้งยังเป็นการเชื่อมโยงเด็กระหว่างที่บ้านและโรงเรียนผ่านการทำกิจกรรมค่ะ

กิจกรรมประเภทประสบการณ์ชีวิต มอนเตสซอรี่
กิจกรรมประเภทประสบการณ์ชีวิต จะช่วยฝึกให้เด็กรู้จักเรียนรู้การช่วยเหลือตนเอง

2. กลุ่มกิจกรรมประเภทประสาทสัมผัส เช่น การดมกลิ่น การต่อกระบอกไร้จุกเป็นหอคอย ฯลฯ (ส่วนใหญ่แล้วจะใช้กิจกรรมเหล่านี้สำหรับเด็กเล็กเพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมของกล้ามเนื้อและฝึกทักษะประสาทสัมผัสที่จำเป็นต่อการพัฒนาสมองของเด็กค่ะ) กลุ่มนี้จะเป็นการฝึกการรับรู้และเข้าใจสิ่งต่าง ๆ รอบตัว ด้วยการเน้นพัฒนาด้านประสาทสัมผัสทั้ง 5 ของเด็ก โดยจะฝึกในเรื่องของการสังเกตในรายละเอียดและจำแนกคุณลักษณะของสิ่งต่าง ๆ ที่มีอยู่ตามธรรมชาติรอบตัวเด็กค่ะ

3.กลุ่มกิจกรรมประเภทวิชาการ เช่น แผ่นตัวพยัญชนะ ก-ฮ แขนงไม้คณิตศาสตร์ บัตรตัวเลขกระดาษทราย ฯลฯ และในทุก ๆ สัปดาห์ก็จะมีกิจกรรมต่าง ๆ ให้เด็ก ๆ ได้เรียนรู้ เช่น กิจกรรมวิทยาศาสตร์ ที่เด็กและคุณครูจะทำการทดลอง ส่วนกิจกรรมศิลปะจะเป็นการวาดภาพ ระบายสี ฉีกปะ ปั้นแป้งโด ฯลฯ เมื่อเด็ก ๆ ฝึกกล้ามเนื้อจากอุปกรณ์กลุ่มกิจกรรมประสาทสัมผัสจนมีความพร้อมแล้ว ขั้นตอนต่อไปจะเป็นการปูพื้นฐานสำคัญในการเขียน การอ่าน การประสมคำ และด้านคณิตศาสตร์ โดยจะให้เด็กเรียนรู้การเขียนผ่านประสาทสัมผัสและเรียนรู้พื้นฐานการนับ รู้จักจำนวนตัวเลขจากสิ่งของที่เด็กสัมผัสค่ะ

ในห้องเรียนจะมีการจัดมุมต่าง ๆ เพื่อให้เด็กได้มีจินตนาการและเกิดการเล่นอย่างสร้างสรรค์ผ่านอุปกรณ์การสอนแบบมอนเตสซอรี่ ทั้งนี้ เด็กอาจมีการเลือกเล่นอุปกรณ์ซ้ำ ๆ ด้วยวิธีการของตัวเด็กเอง ซึ่งจะช่วยให้เด็กได้รู้จักการพึ่งพาตัวเอง มีอิสระในการเลือกใช้สื่อหรืออุปกรณ์ต่าง ๆ มีโอกาสในการแสดงความรับผิดชอบด้วยตัวเอง ก่อให้เกิดการเรียนรู้โดยซึมซับจากข้อมูลและสิ่งแวดล้อมรอบ ๆ ตัวเด็ก

ในตอนต่อไปเราจะมาแนะนำเกี่ยวกับ การประยุกต์ใช้สื่อแบบมอนเตสซอรี่ อย่างง่าย ๆ ที่คุณพ่อคุณแม่ก็สามารถทำได้ที่บ้าน อย่าลืมติดตามกันด้วยนะคะ

เอกสารอ้างอิง : การเรียนรู้ของเด็กปฐมวัย ตามแนวคิดมอนเตสซอรี่ รองศาสตราจารย์ ดร. จีระพันธุ์ พูลพัฒน์ และ คำแก้ว ไกรสรพงษ์,สำนักพิมพ์ บริษัทอมรินทร์พริ้นติ้งแอนพับลิซซิ่ง จำกัด(มหาชน),2543