การจัดการเรียนรู้แบบคละอายุ โดยส่วนมากผู้ปกครองจะพบเห็นได้บ่อยในช่วงเปิดซัมเมอร์ หรือการจัดกิจกรรมประเภท Workshop ซึ่งผู้ปกครองอาจจะสงสัยว่า ทำไมเขาถึงนำเด็กมาเรียนรวมกัน และเขามีวิธีการอย่างไรนั้น เรามาดูกันค่ะ

การเรียนร่วมแบบคละอายุ หมายถึง เด็กที่มีอายุต่างกันแต่สามารถเรียนรู้ และอยู่ในชั้นเรียนเดียวกันได้ ซึ่งการเรียนร่วม เด็กทุกคนจะต้องได้รับการจัดการศึกษาโดยเท่าเทียมกัน ทั้งสภาพแวดล้อม การดูแล การสนับสนุนให้เด็กได้เรียนรู้ และมีส่วนร่วม โดยแชร์ประสบการณ์ร่วมกันในทุกด้านของการเรียนรู้

การจัดการเรียนแบบคละอายุ สำหรับเด็กวัยอนุบาล โดยปกติโรงเรียนทั่วไป จะแบ่งเด็กตามเกณฑ์อายุ และจำแนกไปตามระดับชั้น หรือบางโรงเรียนก็จะจัดแบบกลุ่มเด็กปกติเรียนร่วมกับเด็กพิเศษ วันนี้ครูแหม่มจะมาเล่าถึง ข้อดี และแนวทางการจัดการเรียนรู้แบบคละอายุ สำหรับเด็กวัยอนุบาล จากประสบการณ์ของครูแหม่มกันค่ะ

การเรียนร่วมแบบคละอายุ สำหรับเด็กปฐมวัย
การเรียนร่วมแบบคละอายุ สำหรับเด็กปฐมวัย

เมื่อพูดถึงการจัดการเรียนรู้ของเด็กปฐมวัย ไม่จำเป็นต้องจัดเด็กเป็นกลุ่มแบบตามอายุเท่านั้น แม้จะเป็นห้องเรียนที่มีแต่เด็กวัยเดียวกัน ก็ใช่ว่าจะช่วยส่งเสริมพัฒนาการทางสังคม หรือด้านสติปัญญาของเด็กได้ดีเสมอไป เท่าที่ครูแหม่มสังเกต และลองเปรียบเทียบดู ระหว่างห้องเรียนแบบปกติที่เด็กมีเกณฑ์อายุเท่า ๆ กัน กับ ห้องเรียนร่วม ที่เด็กมีอายุต่างกันเฉลี่ย 1-2 ปี

ครูแหม่มสังเกตเห็นว่า การเรียนร่วม ของเด็กที่มีอายุแตกต่างกันนั้น ทำให้เด็กได้แสดงออกทางพฤติกรรมเฉพาะของแต่ละบุคคลอย่างเห็นได้ชัด ไม่ว่าจะออกมาทางคำพูด สีหน้า หรือท่าทาง ซึ่งในมุมมองของครูแหม่มเองคิดว่า ยิ่งเด็ก ๆ แสดงพฤติกรรมออกมามากเท่าไหร่ ยิ่งทำให้เราได้เห็นข้อดีและข้อเสียของเด็ก ๆ และสามารถนำพฤติกรรมที่ไม่ดีบางอย่าง มาปรับปรุงแก้ไขไปในทางที่ดีได้ ดีกว่าการที่ตัวเด็กไม่แสดงความเป็นตัวตนของตัวเองออกมาให้เราเห็น

การเรียนร่วม ของเด็กทีอายุต่างกัน ทำให้เห็นการแสดงออกทางพฤติกรรมเฉพาะตัวของเด็กได้
การเรียนร่วม ของเด็กทีอายุต่างกัน ทำให้เห็นการแสดงออกทางพฤติกรรมเฉพาะตัวของเด็กได้

การอยู่ร่วมกันของเด็กที่มีอายุต่างกัน การแสดงออกทางอารมณ์ของเด็กเล็ก และเด็กโต จะค่อนข้างแตกต่างกัน มีงอแงบ้างในสถานการณ์ และเรื่องราวที่ไม่เหมือนกัน ผู้ปกครองหรือครูผู้ดูแล ต้องค่อย ๆ สอดแทรกคำสอน บอกข้อดี ข้อเสียของอารมณ์ต่าง ๆ ที่เด็กแสดงออกมา ให้เค้าได้เข้าใจว่า สิ่งไหนควรทำ และสิ่งไหนไม่ควรทำ

อย่างไรแล้ว เราก็ยังสังเกตเห็นได้ว่า ในห้องเรียนนั้นจะมีทั้งเด็กที่มีวินัย รู้หน้าที่ ปฏิบัติตามคำสั่งได้ดี หรือบางคนที่อาจไม่มีวินัย และดูแลช่วยเหลือตัวเองไม่ได้เลยก็มี เมื่อเด็ก ๆ อยู่ในห้องเรียนที่มีการเรียนแบบคละอายุ ผู้ดูแลหรือผู้สอนสามารถปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเด็ก ๆ ให้รู้หน้าที่ว่าต้องทำอะไรก่อน-หลังเป็นลำดับในทุก ๆ วันได้ เด็กจะค่อย ๆ เรียนรู้ และปรับเปลี่ยนพฤติกรรมได้เองโดยอัตโนมัติ สำหรับเด็กที่โตกว่า ครูแหม่มก็จะพยายามฝึกให้ทำกิจกรรมที่หลากหลาย และอาจมีบางกิจกรรมที่จัดให้อยู่ในระดับที่ใกล้เคียง หรือสอดคล้องกันกับเด็กเล็ก เพื่อให้เด็กที่โตกว่าเป็นต้นแบบให้กับน้องเล็กต่อไป

ในการเรียนร่วม เด็กที่โตกว่าสามารถเป็นต้นแบบในการทำกิจกรรมให้กับน้อง ๆ ได้
เด็กที่โตกว่าสามารถเป็นต้นแบบในการทำกิจกรรมให้กับน้อง ๆ ได้

ข้อดีของการเรียนร่วมแบบคละอายุ

การจัดการเรียนรู้ในเด็กที่มีเกณฑ์อายุแบบคละกลุ่ม เด็ก ๆ จะได้เล่น เรียนรู้ กับกลุ่มเด็กที่มีอายุและกิจกรรมที่หลากหลาย เด็กจะต้องปฏิบัติตามข้อตกลงของห้องเรียน ดังนั้นการจัดการชั้นเรียนสำหรับเด็กปฐมวัย จึงเป็นการจัดเตรียม สภาพแวดล้อมทางกายภาพทั้งภายใน และภายนอกห้องเรียน เป็นบรรยากาศทางสภาพแวดล้อมที่ดีให้เหมาะสมกับทั้งเด็กเล็กและเด็กโตโดยจำแนกได้ดังนี้

  • เด็กได้ถ่ายทอดประสบการณ์ และเรียนรู้สิ่งต่าง ๆ จากกันและกัน เด็กโตจะส่งต่อข้อมูลและความรู้ที่มีจากประสบการณ์เดิมให้เด็กเล็ก
  • เด็กเล็กได้เรียนรู้ความคาดหวังทางสังคม และพฤติกรรมที่เหมาะสมเมื่ออยู่ร่วมกับเด็กโต เด็กโตจะกำหนดสิ่งเหล่านี้ผ่านแรงกดดันทางสังคมในกลุ่มโดยไม่รู้ตัว
  • เด็กโตได้พัฒนาทักษะการเป็นผู้นำ และยังแสดงให้เห็นถึงทักษะการเอาใจใส่และการดูแลน้องในบางครั้ง เมื่อผู้ดูแลให้เด็กโตดูแลช่วยเหลือน้อง ๆ เล็กน้อย
  • กรณีถ้าเด็กเรียนอยู่ในสถานศึกษา ในบางที่อนุญาตให้ครูผู้สอนคนเดิมตามขึ้นไปสอนเด็ก ในระดับชั้นที่สูงขึ้นได้นานกว่าหนึ่งปี ซึ่งจะนำไปสู่การพัฒนาที่มากขึ้นในทุกด้านอย่างสม่ำเสมอ

การจัดการเรียนร่วมแบบคละอายุ สำหรับเด็ก

ในการสอนของครูแหม่มมีการจัดกิจกรรม การเรียนการสอนของเด็กเรียนร่วมแบบคละอายุ ให้สอดคล้องกับ ทักษะการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 ทั้ง 3 แกนหลัก คือ

ความรู้พื้นฐานทั่วไป เป็นการปูพื้นฐานให้เด็กได้เรียนรู้ เนื้อหาที่จำเป็นและตอบสนองต่อเป้าหมายในการพัฒนาเด็กให้เติบโตอย่างมีคุณภาพโดยบูรณาการเนื้อหาผ่านการเล่น

ความสามารถและทักษะที่เด็กควรมี ในการทำงานร่วมกับผู้อื่นโดยเด็กเล็กหรือเด็กโตจะมีการปรับตัว การริเริ่ม การมีภาวะผู้นำและความรับผิดชอบ

คุณสมบัติและเอกลักษณ์ที่เด็กควรมี โดยเน้นการเรียนรู้แบบการลงมือทำด้วยตนเอง ให้เด็กมีความคิดสร้างสรรค์ คิดวิจารณญาณ การแก้ปัญหา มีทักษะสื่อสาร และสารสนเทศ คือความสามารถในการใช้เทคโนโลยีอย่างรู้เท่าทัน เพื่อให้เกิดประโยชน์ ในการส่งเสริม ทักษะการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 สามารถอ่านข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ การศึกษาในศตวรรษที่ 21 ที่เชื่อมโยงกับ STEAM และ EF

กิจกรรมเล่าเรื่องจากภาพ ที่เด็กได้ใช้ทักษะการทำงานร่วมกัน ใช้ความคิดสร้างสรรค์ และทักษะการสื่อสาร
กิจกรรมเล่าเรื่องจากภาพ ที่เด็กได้ใช้ทักษะการทำงานร่วมกัน ใช้ความคิดสร้างสรรค์ และทักษะการสื่อสาร

แนวทางการจัดการเรียนแบบคละอายุ

การจัดการเรียนการสอนแบบคละอายุมีประโยชน์มากมาย แต่อาจเป็นเรื่องที่ท้าทายสำหรับผู้ปกครอง หรือครูผู้สอนในการจัดการเรียนการสอน ครูแหม่มมีแนวทางที่จะช่วยให้การสอนง่ายขึ้นดังนี้ค่ะ

กำหนดกิจกรรมการสอนปลายเปิด อธิบายให้เข้าใจง่าย ๆ คือ การใช้สื่อหรือของเล่น ที่เด็กต่างวัยเล่นร่วมกันได้ เช่น ตัวต่อบล็อก เลโก้ จิ๊กซอว์ แป้งโด ฯลฯ สื่อเหล่านี้ครูแหม่มเชื่อว่าหลาย ๆ บ้าน หรือทุกโรงเรียนต้องมี เด็กในวัย 3-6 ปี ก็ยังคงให้ความสนใจกับสื่อประเภทนี้และมีการเรียนรู้มากมายจากสิ่งของเหล่านี้

ให้เด็ก ๆ เรียนรู้ผ่านสื่อที่เขาสนใจ เช่น ตัวต่อบล็อก เลโก้ จิ๊กซอว์ แป้งโด ฯลฯ
ให้เด็ก ๆ เรียนรู้ผ่านสื่อที่เขาสนใจ เช่น ตัวต่อบล็อก เลโก้ จิ๊กซอว์ แป้งโด ฯลฯ

จัดการเรียนรู้โดยยึดเด็กเป็นศูนย์กลาง สามารถตอบสนองความต้องการของเด็ก ๆ ได้เป็นอย่างดี การเรียนรู้ด้วยสื่อการสอน ที่มีระดับความยากง่ายต่างกัน เปิดโอกาสให้เด็กเล็กได้รับประสบการณ์ใหม่จากเด็กโต และเด็กโตได้เรียนรู้บทบาทหน้าที่ของการเป็นผู้นำ โดยคุณครูหรือผู้ปกครอง เป็นผู้อำนวยความสะดวกให้เด็กได้สำรวจ สืบเสาะหาความรู้ด้วยตัวเอง ทั้งยังช่วยกระตุ้นความสนใจให้เด็กได้ดี

จัดสภาพแวดล้อมในการเรียน ด้วยสื่อการสอนที่หลากหลาย
จัดสภาพแวดล้อมในการเรียน ด้วยสื่อการสอนที่หลากหลาย

ส่งเสริมการเรียนรู้ของกันและกัน ยกตัวอย่างกิจกรรมง่ายๆ ที่ครูแหม่มใช้ในศูนย์วิจัยฯ อย่างกิจกรรมระบายสี หากเด็กโตระบายสวยและได้รับคำชม เด็กเล็กก็จะเกิดพฤติกรรมเลียนแบบโดยอัตโนมัติ เพื่อที่จะได้รับคำชมตามพี่ แล้วเมื่อพี่เห็นน้องทำตาม พี่ก็จะคอยแนะนำวิธีระบายให้น้อง ซึ่งพฤติกรรมเหล่านี้ทำให้เด็กมีปฏิสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน ให้เด็ก ๆ ได้ช่วยเหลือซึ่งกันและกันอย่างธรรมชาติ โดยไม่เข้าไปสั่งให้เด็กทำอย่างโน้นอย่างนี้ ถึงเด็กจะมีอายุต่างกันแต่ความสามารถและทักษะที่ต่างกันก็ทำให้เด็กเล็กและเด็กโตอยู่ร่วมกันได้ด้วยความเห็นอกเห็นใจ และการมีส่วนร่วม เปิดโอกาสให้เด็กทุกคนเข้าสู่บทบาทความเป็นผู้นำและผู้ตามตามความเหมาะสม

เด็ก ๆ อยู่ร่วมกันได้ด้วยความเห็นอกเห็นใจ มีการช่วยเหลือซึ่งกันและกัน
เด็ก ๆ อยู่ร่วมกันด้วยความเห็นอกเห็นใจ มีการช่วยเหลือซึ่งกันและกัน

การเรียนร่วมแบบคละอายุ ผ่านกิจกรรมที่หลากหลาย เป็นอีกวิธีที่เป็นทางเลือกให้สำหรับเด็ก ๆ ในการเรียนรู้การมีปฏิสัมพันธ์กับเพื่อน ไม่เพียงแต่เพิ่มแรงจูงใจ และการมีส่วนร่วมเท่านั้น แต่ยังช่วยให้เด็กพัฒนาทักษะทางสังคม เด็กจะเรียนรู้ เข้าใจมุมมองที่แตกต่างกัน ซึ่งสิ่งนี้สามารถส่งเสริมความสัมพันธ์ทางสังคมเชิงบวกในกลุ่มเพื่อน ช่วยให้เด็กเรียนรู้การทำงานเป็นทีม ยอมรับความแตกต่างของแต่ละบุคคล ยอมรับความคิดเห็นของกันและกัน และได้พัฒนาตนเองอย่างเต็มศักยภาพ