เด็กจะมีความสุขและรู้จักรับมือกับปัญหาง่าย ๆ ได้ดีขึ้น เมื่อพวกเขาเรียนรู้ที่จะจัดการอารมณ์ของตนเองได้ เมื่อเด็กไม่สามารถจัดการกับอารมณ์ของตัวเองได้ เค้าก็จะแสดงออกถึงอารมณ์ที่รุนแรง จากความคับข้องใจ ความโกรธ หรือความผิดหวัง เด็กมักจะแสดงอารมณ์เหล่านี้ผ่านพฤติกรรม ที่เราพบเห็นกันทั่วไปได้ เช่น เมื่อต้องการอะไรแล้วไม่ได้ดังใจ ก็จะร้องหรือกรีดเสียงออกมาดัง ๆ เพื่อสร้างการรับรู้ และให้ผู้ใหญ่เข้าใจว่า ฉันไม่พอใจ หรือถ้าฉันไม่ได้ดั่งใจก็จะแสดงพฤติกรรมนั้นออกมา วันนี้ครูแหม่มจะมาแชร์ประสบการณ์ที่ได้พบเจอในชั้นเรียน กับเด็กที่ยังไม่รู้จักควบคุมอารมณ์ พอเพื่อนทำอะไรไม่ถูกใจ ก็ใช้มือตีเพื่อนเลย หรือที่เรียกว่า การทำไปตามอำเภอใจโดยใช้กำลัง และครูแหม่มก็มี หลักการง่าย ๆ ที่จะช่วยฝึก พัฒนาการทางด้านอารมณ์ และสังคม ให้เด็ก ๆ อยู่ร่วมกับผู้อื่นได้อย่างมีความสุข มาแนะนำด้วยค่ะ

การจัดการกับอารมณ์ของตัวเอง มีผลกับพฤติกรรมที่เด็กจะแสดงออกมา
การจัดการกับอารมณ์ของตัวเอง มีผลกับพฤติกรรมที่เด็กจะแสดงออกมา

ยกตัวอย่างเด็กในชั้นเรียนของครูแหม่ม ที่ตีหรือหยิกเพื่อน เพราะเห็นว่าเพื่อนทำบางสิ่งบางอย่างไม่ถูกต้อง หรือไม่ถูกใจ แล้วเด็กที่โดนตีเดินมาหาครูแหม่ม ครูแหม่มให้เล่าเรื่องราวเกี่ยวกับเหตุการณ์ว่ามันเกิดขึ้นเพราะอะไร เด็กทั้งสองก็เล่าเรื่องราวทั้งหมดให้ครูแหม่มฟัง เมื่อรับฟังเรื่องราวทั้งหมด ครูแหม่มก็ไม่ได้ดุหรือต่อว่าเด็กที่ทำร้ายเพื่อน แต่อธิบายและบอกเหตุผล ให้ทั้งสองฝ่ายรับฟัง เด็กอีกคนยอมรับผิดและขอโทษ แต่อีกฝ่ายไม่ยอมรับคำขอโทษจากเพื่อน ครูแหม่มจึงถามว่า จะให้ครูทำอย่างไรคะ? เพราะเพื่อนยอมรับผิดและกล่าวคำขอโทษหนูแล้ว สิ่งที่ครูแหม่มได้คำตอบมา คือ หนูจะต้องตีเพื่อนกลับคืน เหมือนที่เพื่อนตีหนู เพราะหนูโกรธ และจะไม่ยอมให้อภัย

สำหรับเคสนี้ ครูแหม่มถือว่าผู้ถูกกระทำมีการยับยั้งชั่งใจ และควบคุมตัวเองได้ แต่ก็ยังมีข้อที่ต้องปรับความคิดอยู่บ้าง เพราะบทสรุปคือ ต้องให้อีกฝ่ายตีมือเพื่อน เรื่องถึงจบ พฤติกรรมแบบนี้เราสามารถเปลี่ยนมุมมองให้เด็กได้ โดยการสอนและอธิบายถึงเหตุผลให้เค้าเข้าใจ และซึมซับไปทีละน้อย ว่าการใช้กำลังในการเอาคืน ไม่ใช่วิธีที่ดีที่สุด ในเรื่องนี้อย่างน้อย ๆ ก็ให้ข้อคิดกับครูแหม่ม คือ ควรปรับเปลี่ยนมุมมองความคิดให้เด็กที่เป็นผู้กระทำ ให้เค้ารู้ว่าการแสดงพฤติกรรมอย่างนี้ คนอื่นเค้าจะรู้สึกอย่างไร หากเราถูกแกล้งหรือถูกตี เราก็จะมีอารมณ์โกรธเหมือนเพื่อน และถ้าเห็นว่าเพื่อนทำอะไรที่ไม่ถูกไม่ควร ให้เดินมาบอกครู ไม่ควรลงมือตีเพื่อนโดยพลการ

เด็กที่ยังควบคุมอารมณ์ตัวเองไม่ได้ พอเพื่อนทำอะไรไม่ถูกใจก็ใช้มือตีเพื่อน
เด็กที่ยังควบคุมอารมณ์ตัวเองไม่ได้ พอเพื่อนทำอะไรไม่ถูกใจก็จะใช้มือตีเพื่อน

ในฐานะผู้ปกครอง หรือผู้ที่ใกล้ชิด เราต้องหมั่นเป็นสังเกต เมื่อเห็นท่าที หรือสีหน้าเด็กแสดงออกถึงความวิตกกังวล รู้สึกหนักใจ แต่ไม่สามารถอธิบายถึงสิ่งที่เกิดขึ้นในใจ ควรให้เวลาและพูดคุยกับเด็กแบบเป็นกันเอง ค่อย ๆ พูดเหมือนคุยเล่นปกติไม่คาดคั้น หรือทำน้ำเสียงดุจนเกินไป เพราะเด็กอาจกลัวจนไม่กล้าบอก ในบางครั้งก็ยากที่เราจะรู้ได้ว่าจริง ๆ แล้วเมื่อเด็กเค้าอยู่ในสังคมใหญ่ เค้ากำลังเผชิญกับปัญหาอะไรบ้าง ครูแหม่มแนะนำค่ะว่า เมื่อเด็กกลับจากโรงเรียน อย่างน้อยก็ควรถามเด็กว่า วันนี้ที่โรงเรียนเป็นอย่างไร? มีเหตุการณ์อะไรที่หนูชอบหรือไม่ชอบ มาเล่าให้ฟังหน่อย การที่เด็กบอกเล่าเกี่ยวกับสิ่งที่ดีและไม่ดีให้เราฟัง ทำให้เราอธิบายข้อดีข้อเสียของเรื่องนั้น ๆ ให้เด็กได้เรียนรู้ และซึมซับไปทีละน้อย จะทำให้เด็กพร้อมรับมือกับทุกสถานการณ์ที่เกิดขึ้นได้มากอีกด้วยค่ะ ผู้ปกครองสามารถส่งเสริมการเรียนรู้เกี่ยวกับอารมณ์ผ่านกิจกรรมศิลปะ ได้ที่บทความ สอนลูกรู้จักอารมณ์

การพัฒนาอารมณ์เพื่อให้เด็กอยู่ร่วมกับผู้อื่นในสังคม

สำหรับครูแหม่มมี หลักการง่าย ๆ มาแนะนำให้ผู้ปกครองหรือครูนำไปใช้ ในการสร้างเสริมพัฒนาการทางด้านอารมณ์ ของเด็ก ๆ อย่างแรกเลยเริ่มได้จากที่บ้านก่อน คือ

ผู้ปกครองทำเป็นแบบอย่าง ใช้พฤติกรรมของตัวเองชี้นำเด็ก เพราะเด็กอยู่ใกล้ชิดเราอยู่กับเราตั้งแต่แรกเกิด เด็กจะคอยสังเกตและเลียนแบบพฤติกรรมจากผู้ใหญ่หรือผู้ที่ใกล้ชิด การที่เราแสดงออกในสิ่งที่ดีหรือไม่ดีก็จะทำให้เด็กซึมซับพฤติกรรมเหล่านี้ไปใช้ในที่อื่น ๆ ด้วยเช่นกัน

ผู้ปกครองเป็นแบบอย่างของการแสดงออกทางอารมณ์และสังคมที่ดี ให้เด็กซึมซับและทำตาม
ผู้ปกครองเป็นแบบอย่างของการแสดงออกทางอารมณ์และสังคมที่ดี ให้เด็กซึมซับและทำตาม

กิจกรรม ยับยั้งชั่งใจ สามารถทำได้ง่าย ๆ คือ การนำขนมเด็ก ๆ ชอบ มาวางไว้บนโต๊ะ 1 ชิ้น จากนั้นสร้างข้อตกลงกับเด็กว่า ให้เด็กนั่งรอห้ามหยิบจับขนมที่วางอยู่ตรงหน้า ให้รอสัญญาณเท่านั้นถึงจะหยิบจับและรับประทานได้ โดยที่ผู้ปกครองหรือครูจะไม่อยู่ในพื้นที่นั้น เพื่อดูว่าเด็กสามารถควบคุมตัวเองได้หรือไม่ ถ้าเด็กควบคุมตัวเองได้ ก็จะนั่งรอจนกว่าจะได้รับคำสั่งหรือสัญญาณ แต่ถ้าเด็กคนไหนควบคุมตัวเองไม่ได้ ก็จะมีการแอบหยิบจับขนมเอามาดมมาดู ซึ่งอยู่นอกเงื่อนไข กิจกรรมนี้ครูแหม่มเคยลองทำแล้วสนุกมากค่ะ เป็นอีกวิธีในการสร้างการควบคุมตนเองได้ดีสำหรับเด็ก

ฝึกให้เด็กรู้จักยับยั้งชั่งใจ และทำตามข้อตกลง
ฝึกให้เด็กรู้จักยับยั้งชั่งใจ และทำตามข้อตกลง

รู้และปฏิบัติตามกฏระเบียบของการอยู่ร่วมกัน เข้าใจอารมณ์ของผู้อื่น รู้จักเอาใจเขามาใส่ใจเรา และรู้จักควบคุมอารมณ์ของตนเอง มองโลกในแง่ดี รู้จักเห็นอกเห็นใจผู้อื่น รับฟังผู้อื่นอย่างมีเหตุผล รับรู้ถึงความต้องการของคนอื่น และที่สำคัญรู้จักมารยาททางสังคม เช่น เมื่อทำผิดรู้จักกล่าวคำขอโทษ ซึ่งถือเป็นการแสดงออกถึงการรับผิดชอบในการกระทำของตนเองเมื่อรู้สึกผิด

รู้จักรับผิดชอบในสิ่งที่ตัวเองทำ และกล่าวคำขอโทษ
รู้จักรับผิดชอบในสิ่งที่ตัวเองทำ และกล่าวคำขอโทษ

การรับรู้ทางสังคม คือ การรู้จักเคารพสิทธิผู้อื่น เช่นเดียวกันกับที่ผู้อื่นควรเคารพสิทธิของเรา อาจยกตัวอย่างให้เด็กเข้าใจง่าย ๆ เช่น ถ้าเราจะยืมสี หรือดินสอของคนอื่น เราควรขออนุญาต เมื่อเขาอนุญาตเราจึงหยิบไปใช้ได้ และหากเจ้าของไม่อนุญาตก็ไม่ควรหยิบมาใช้ เพราะมีเหตุการณ์ที่ครูแหม่มพบเจอบ่อย ๆ คือ เมื่อไม่ได้รับอนุญาตแล้วหยิบไปใช้ หรือใช้แล้วไม่คืน อาจทำให้เด็กทะเลาะและลงไม้ลงมือกันได้ค่ะ

รู้จักขออนุญาตก่อนหยิบของผู้อื่นไปใช้
รู้จักขออนุญาตก่อนหยิบของผู้อื่นไปใช้

การส่งเสริมให้เด็กมีความภูมิใจในตัวเอง คือ มีความเชื่อมั่น เห็นคุณค่าในตนเอง การให้คำชมเชยเด็กเมื่อเด็กทำสิ่งต่าง ๆ สำเร็จด้วยความพยายาม และเราจะต้องไม่คาดหวังว่าจะต้องดีที่สุด รวมทั้งสอนให้เด็กรู้จักชื่นชมความสำเร็จของผู้อื่นด้วย

กล่าวคำชมเชยให้กับความพยายามของเด็ก เมื่อเค้าทำสิ่งต่าง ๆ สำเร็จ
กล่าวคำชมเชยให้กับความพยายามของเด็ก เมื่อเค้าทำสิ่งต่าง ๆ สำเร็จ

การส่งเสริมพัฒนาการทางด้านอารมณ์ และสังคมของเด็ก คือ การแสดงพฤติกรรมให้สอดคล้องกับสังคมภายนอก และปฏิบัติได้อย่างเหมาะสม การส่งเสริมพัฒนาการทางด้านอารมณ์และสังคม สำหรับเด็กนั้น อย่างที่ครูแหม่มกล่าวไว้ข้างต้นว่า ควรเริ่มจากที่บ้าน ซึ่งจะเป็นพื้นฐานที่ดี ที่จะนำพฤติกรรมนั้นเข้ามาสู่สังคมภายนอก เช่น โรงเรียน ที่เด็กจะได้มาเรียนรู้เรื่องอารมณ์จากเพื่อนในวัยเดียวกัน การสร้างความแข็งแกร่ง ให้เด็กมีเกราะป้องกันที่ดี จะทำให้เด็กกล้าตัดสินใจ แม้จะต้องเผชิญกับแรงกดดันจากสิ่งต่าง ๆ รอบตัว และจะค่อย ๆ ดีขึ้นตามอายุและประสบการณ์ ซึ่งเป็นพื้นฐานสำคัญให้เด็กปรับตัวในสังคมได้ดีเมื่อเติบโตเป็นผู้ใหญ่