ความสามารถในการใช้กล้ามเนื้อมือมัดเล็กของเด็กปฐมวัยนั้น มีความจำเป็นและความสำคัญต่อการใช้ชีวิตประจำวันในแต่ละวัน เช่น การหยิบจับสิ่งของ การแปรงฟัน การติดกระดุมเสื้อผ้า การผูกเชือกรองเท้า การจับช้อน-ส้อมตักอาหาร รวมไปถึงการจับดินสอเขียนหนังสือ การระบายสี เป็นต้น หากเด็กมีกล้ามเนื้อมือมัดเล็กที่มีความแข็งแรง คล่องแคล่วแล้ว ถือเป็นพื้นฐานที่ดีในการนำไปสู่การพัฒนาการเรียนรู้ให้กับเด็ก ๆ และยังช่วยส่งเสริมพัฒนาการด้านร่างกาย อารมณ์-จิตใจ สังคม และสติปัญญาให้ดีขึ้น

คุณพ่อคุณแม่และคุณครูสามารถช่วยส่งเสริมและพัฒนากล้ามเนื้อมัดเล็กให้กับเด็ก ๆ ได้ผ่านการทำกิจกรรมต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น กิจกรรมการเคลื่อนไหวร่างกาย กิจกรรมกลางแจ้ง กิจกรรมในร่ม หรือกิจกรรมศิลปะสร้างสรรค์ ซึ่งเราขอแนะนำงานกระดาษคือ การฉีก ตัด ปะ กระดาษ เพราะนอกจากเด็กจะได้สนุกไปกับการทำกิจกรรมแล้ว ยังช่วยฝึกกล้ามเนื้อมือมัดเล็ก กระตุ้นจินตนาการและส่งเสริมการทำงานของมือกับตาให้ประสานสัมพันธ์กันอีกด้วย

เด็กและผู้ปกครองช่วยกัน ปะ กระดาษสีลงในกระดาษ A4 ตามจินตนาการ
ฉีก ตัด ปะ กิจกรรมฝึกกล้ามเนื้อมือ

แต่ก่อนที่จะเริ่มกิจกรรม คุณพ่อคุณแม่และคุณครูควรทำความเข้าใจถึงพัฒนาการในการใช้กล้ามเนื้อมัดเล็กของเด็กในแต่ละช่วงวัย ว่ามีความแตกต่างกันอย่างไร มีความสามารถในการทำงานของกล้ามเนื้อมือมากน้อยเพียงใด เพื่อจะได้ส่งเสริมเด็กได้อย่างถูกต้องและเหมาะสมค่ะ

เด็กอนุบาล 1 (อายุ 3 - 4 ปี) ในการควบคุมการทำงานของกล้ามเนื้อมือกับตาของเด็กวัยนี้จะยังทำงานแบบไม่สัมพันธ์กันค่ะ ในการฉีกกระดาษขั้นแรกแนะนำให้เริ่มจากการให้เด็กฝึกฉีกกระดาษเป็นเส้นตรงและยาวต่อกันจนสุดของปลายกระดาษค่ะ ซึ่งในเด็กเล็ก ๆ จะมีสมาธิในการทำสิ่งใดสิ่งหนึ่งได้เพียงเวลาสั้น ๆ ดังนั้น จึงไม่ควรเร่งรัดให้เด็กทำได้ในครั้งเดียว แต่ควรค่อย ๆ ฝึกเด็กไปทีละนิดค่ะ (สำหรับเด็กที่ไม่สามารถฉีกกระดาษเป็นเส้นยาวไปจนถึงสุดปลายของกระดาษได้ ไม่เป็นไรนะคะ หากเด็กได้รับการฝึกและทำซ้ำ ๆ ก็สามารถทำได้เองค่ะ)

เด็กฉีกกระดาษสีเป็นเส้นตรง
เด็กอายุ 3-4 ปี มีความสามารถในการควบคุมกล้ามเนื้อมือฉีกกระดาษให้เป็นเส้นตรง

เด็กอนุบาล 2 (อายุ 4 - 5 ปี) กล้ามเนื้อมือเริ่มมีความกระฉับกระเฉง มีความคล่องแคล่วในการหยิบจับสิ่งของต่าง ๆ ไม่ว่าจะชิ้นเล็กหรือชิ้นใหญ่ได้ดีมากขึ้น คุณพ่อคุณแม่และคุณครูสามารถเพิ่มความท้าทายและความยากในการฉีกกระดาษให้ยากขึ้นมาอีกระดับหนึ่งได้ด้วยการวาดภาพรูปทรงเรขาคณิต เช่น สี่เหลี่ยม สามเหลี่ยม วงกลม ฯลฯ ลงในกระดาษ เพื่อเป็นแนวทางในการฉีกกระดาษตามรูปร่างต่าง ๆ ที่กำหนดไว้ให้ และเด็ก ๆ ยังได้เรียนรู้เรื่องรูปทรงเรขาคณิตควบคู่กันไปอีกด้วย

ฉีก กระดาษเป็นรูปทรงเรขาคณิตง่าย ๆ
เด็กอายุ 4-5 ปี สามารถฉีกกระดาษเป็นรูปทรงง่าย ๆ ได้

เด็กอนุบาล 3 (อายุ 5 - 6 ปี) ส่วนมากเด็กวัยนี้จะควบคุมกล้ามเนื้อมือได้ดีอยู่แล้ว สามารถฉีกกระดาษเป็นรูปต่าง ๆ ได้ คุณพ่อคุณแม่และคุณครูสามารถเพิ่มความสนุกสนานได้ด้วยการให้เด็กวาดภาพตามจินตนาการของตัวเอง แล้วให้เค้าฉีกกระดาษตามรอยที่วาดไว้ได้เลยนะคะ (สำหรับเด็กที่วาดภาพไม่คล่องหรือไม่ถนัดในการวาดภาพ แนะนำให้วาดเป็นแนวทางให้เด็กดูก่อน แล้วให้เด็กนำไปสร้างสรรค์ผลงานตามจินตนาการของตัวเองต่อก็ได้นะคะ)

ฉีก กระดาษเป็นรูปเครื่องบิน แมลง ดอกไม้หรือต้นหญ้า ตามจินตนาการ
เด็กอายุ 5-6 ปี สามารถฉีกกระดาษตามจินตนาการได้

เมื่อทราบความแตกต่างในการใช้กล้ามเนื้อมือของเด็กในแต่ละช่วงวัยกันแล้ว เรามาเตรียมอุปกรณ์แล้วชวนเด็ก ๆ มาทำกิจกรรมกันค่ะ

อุปกรณ์

อุปกรณ์ในการทำกิจกรรมฉีก ตัด ปะ สำหรับเด็กปฐมวัย
อุปกรณ์การทำกิจกรรมฉีก ตัด ปะ
  • 1กระดาษสีต่าง ๆ สำหรับฉีกและตัด
  • 2กาว
  • 3ดินสอ
  • 4กรรไกร
  • 5ไม้บรรทัด

ขั้นตอนการทำ

1. ให้คุณพ่อคุณแม่หรือคุณครูตัดกระดาษสีต่าง ๆ ให้มีรูปทรงสี่เหลี่ยมขนาด 4x4 นิ้ว (เพื่อที่เวลาเด็กฉีกหรือตัดกระดาษจะได้จับถนัดมือค่ะ) จากนั้นให้เด็กวาดภาพตามจินตนาการของตัวเองลงในกระดาษสีได้เลยค่ะ

ก่อนเริ่มทำกิจกรรม คุณพ่อคุณแม่หรือคุณครูอาจพูดคุยหรือใช้คำถามในการถามเด็กเกี่ยวกับสิ่งที่จะวาดลงบนกระดาษ เพื่อเป็นการทบทวนความรู้และประสบการณ์เดิมให้กับเด็ก แนะนำให้ใช้คำถามที่เด็กสามารถตอบได้อย่างอิสระและไม่ควรกำหนดคำตอบตายตัว เพื่อที่เด็กจะได้กล้าตอบและสร้างสรรค์ออกมาตามจินตนาการของตัวเอง เพราะคำตอบของเด็กในบางครั้งจะเป็นสื่อที่นำไปสู่การเรียนรู้ประสบการณ์ใหม่ ๆ ที่คุณพ่อคุณแม่และคุณครูสามารถนำมา กระตุ้นความสนใจของเด็กได้ค่ะ
เด็กวาดภาพลงบนกระดาษสีตามจินตนาการของตัวเอง
วาดภาพลงบนกระดาษสีตามจินตนาการของตัวเอง

2. เมื่อวาดภาพเสร็จแล้ว ให้เด็กค่อย ๆ ฉีกหรือตัดกระดาษตามรอยที่วาดไว้ได้เลยค่ะ

เด็กตัดดระดาษสีตามรอยที่ตัวเองวาดไว้
เด็กตัดดระดาษสีตามรอยที่ตัวเองวาดไว้

3. จากนั้นทากาวกระดาษที่ฉีกหรือตัดเสร็จแล้ว (แนะนำให้ค่อย ๆ ทากาวลงกระดาษที่ฉีกเป็นรูปต่าง ๆ ทีละนิดค่ะ) จากนั้นนำมาติดลงกระดาษ A4 หรือกระดาษสีตามจินตนาการของเด็ก ๆ ได้เลยนะคะ

หากต้องการฉีกกระดาษสีให้มีสีขาวติดอยู่ในกระดาษสีขณะฉีกด้วย แนะนำให้ค่อย ๆ ฉีกกระดาษทีละนิด อย่างช้า ๆ
เด็กและผู้ปกครองช่วยกันติดกระดาษที่ตัดและฉีกแล้ว ลงบนกระดาษ
นำกระดาษสีที่ฉีกและตัดเสร็จแล้วมาติดลงบนกระดาษ
เด็กและผู้ปกครองช่วยกันทากาวและติดกระดาษสี
ช่วยกันทากาว จะได้เสร็จเร็ว ๆ
เด็กแสดงภาพฉีก ตัด ปะ ฝีนมือตนเองด้วยความภูมิใจ
เย้ ภาพฉีก ตัด ปะ ของหนูเสร็จแล้วค่ะ
ภาพฉีก ตัด ปะ แบบต่าง ๆ ที่เด็กทำในกิจกรรมศิลปะสร้างสรรค์สำหรับเด็กปฐมวัย
ภาพฉีก ตัด ปะ แบบต่าง ๆ อย่าลืมไปลองทำกันนะคะ

จากที่กล่าวมา การพัฒนาความสามารถในการควบคุมการเคลื่อนไหวของกล้ามเนื้อมือกับตาของทั้งสองส่วนนี้ให้สัมพันธ์กัน ช่วยพัฒนาให้เด็กมีความสามารถในการหยิบจับสิ่งของต่าง ๆ ได้อย่างมั่นคง และคล่องแคล่วแล้ว ยังช่วยให้เด็กมีพัฒนาการทางด้านต่าง ๆ ที่ดีไปพร้อมกันได้อีกด้วยนะคะ