การสอนแบบภาษาธรรมชาติ (Whole Language) เป็นแนวการสอนแบบสอนภาษาโดยองค์รวม ทั้งด้านการฟัง พูด อ่าน เขียน ซึ่งเกิดจากหลักการและแนวคิดของนักการศึกษาและนักวิจัยทางภาษา ไม่ว่าจะเป็น ดิวอี้,เปียเจต์,ไวก๊อตสกี้ ฯลฯ ที่ชี้ให้เห็นถึงความสำคัญของการจัดประสบการณ์ เพื่อพัฒนาการคิดและภาษาของเด็กปฐมวัยในทางด้านสังคม วัฒนธรรม รวมทั้งการสร้างปฏิสัมพันธ์ระหว่างครูและเด็กปฐมวัย ตลอดจนการสร้างบรรยากาศการเรียนรู้ที่ตอบสนองธรรมชาติ และเหมาะสมกับพัฒนาการของเด็กแต่ละวัย เมื่อนำหลักการเหล่านี้มาเป็นแนวคิดในการปรับเปลี่ยนการสอนภาษาจะทำให้เด็กเกิดแรงจูงใจที่จะเรียนรู้ภาษาได้ดีขึ้น

แนวการสอนภาษาแบบธรรมชาติ

คือการที่เด็กเรียนรู้ภาษาได้จากสิ่งแวดล้อมรอบด้านในชีวิตประจำวันและการเลียนแบบ โดยการสอนภาษาธรรมชาติสำหรับเด็กปฐมวัยนั้น จะไม่เน้นให้เด็กต้องท่องตัวอักษรได้ ไม่เน้นการท่องจำเพื่อให้อ่านออกเขียนได้เหมือนการเรียนการสอนทั่วไป แต่จะพัฒนาทักษะการฟัง พูด อ่าน และเขียนไปพร้อม ๆ กัน เช่น

1. ทักษะการฟัง

เด็กจะได้ฟังจากการเล่านิทาน ฟังเพลงนิทาน และเพลงต่าง ๆ ซึ่งจะช่วยพัฒนาทักษะทางการฟังภาษา โดยจะต้องเป็นภาษาที่ถูกต้อง ชัดเจน และเมื่อเด็กฟังแล้วจะได้เชื่อมโยงสิ่งที่อยู่รอบตัวเข้ากับคำที่ได้ยิน เช่น ใช้ช้อนตักอาหารรับประทาน เด็กก็จะเชื่อมโยงคำว่าช้อนเข้ากับการใช้ช้อนตักอาหารรับประทาน เป็นต้น

การเล่านิทาน การสอนภาษาแบบธรรมชาติที่ช่วยพัฒนา ทักษะการฟัง เด็ก
สอนภาษาแบบธรรมชาติผ่านการเล่านิทาน
2. ทักษะการพูด การอ่าน

ผู้ปกครองหรือครูจะใช้คำถามเพื่อให้เด็กตอบและกล้าแสดงความคิดออกมาเป็นคำพูด อาจใช้การแสดงบทบาทสมมติกับเด็ก ๆ สลับกับการเล่านิทาน เพื่อเปิดโอกาสให้เด็ก ๆ ได้เปิดหนังสือดูภาพและเล่าเรื่องจากภาพเอง ซึ่งสิ่งที่เด็กเล่าออกมา อาจมาจากจินตนาการของตัวเด็กเอง เนื้อเรื่องอาจไม่ได้ตรงตามหนังสือ แต่จะเน้นให้เด็กได้เห็นภาพและเชื่อมโยงออกมาเป็นคำพูด เพราะการอ่านและการพูดนั้นไม่มีถูกหรือผิด แต่ผู้ปกครองและคุณครูผู้ดูแลจะต้องคอยสนับสนุนให้เด็กกล้าใช้ภาษา และหากคำไหนพูดไม่ชัด ผิดเพี้ยน ผู้ปกครองและคุณครูก็จะช่วยแนะนำให้เด็กพูดตามได้ชัดเจนแบบค่อยเป็นค่อยไป

เด็กเล่านิทานผ่านจินตนาการของตัวเองช่วยพัฒนาทักษะการพูด การอ่าน
ให้เด็กเล่านิทานผ่านจินตนาการของตัวเอง
3. ทักษะการเขียน

เด็กจะได้วาดภาพตามจินตนาการหรือปฏิบัติตามคำสั่ง อาจทำเป็นงานเดี่ยวหรือทำกิจกรรมเป็นกลุ่ม เช่น การช่วยกันวาดภาพแต่งนิทานและเขียนเล่าเรื่องลงในภาพ อาจจะมีการสะกดคำง่าย ๆ ซึ่งไม่ใช่การท่องจำแต่จะเป็น การสอนในรูปประโยคที่ทำให้เด็กเชื่อมโยงไปสู่การฟัง การพูด และการอ่าน เช่น สอนคำว่า ข้าว จะไม่สอนแค่ ขอ สระอา วอ ขาว ไม้โท ข้าว แต่จะสอนว่าข้าวหมายถึงอะไร และยกตัวอย่างประโยคให้เด็กเข้าใจ เช่น ข้าวคือเมล็ดสีขาวเล็ก ๆ เป็นอาหารที่เด็ก ๆ รับประทานและมีประโยชน์ เพื่อเชื่อมโยงไปสู่คำอื่น รวมถึงทำให้เด็กสร้างประโยคขึ้นเองได้ และจะค่อย ๆ เรียนรู้ความหมายและพัฒนาไปอย่างต่อเนื่องได้เองในที่สุด

พัฒนาทักษะการเขียนเด็ก ผ่านการสอนแบบธรรมชาติ
วาดภาพตามจินตนาการ

แนวทางการสอนภาษาแบบธรรมชาติภายในโรงเรียน

โรงเรียนที่จัดการเรียนการสอนภาษาธรรมชาตินั้น โดยส่วนมากจะจัดสภาพแวดล้อมและบรรยากาศให้เด็กได้คุ้นเคยกับการใช้ภาษา โดยไม่บังคับหรือสอนให้ท่องจำ แต่จะส่งเสริมให้เด็กกล้าใช้ภาษาได้ด้วยตัวเอง ซึ่งภายในชั้นเรียนจะจัดให้มีมุมที่มีการส่งเสริมเรื่องภาษาอย่างชัดเจน เช่น มุมอ่าน มุมบทบาทสมมติ มุมบล็อก มุมวิทยาศาสตร์ ฯลฯ ในทุก ๆ มุมจะติดป้ายหรือสัญลักษณ์ มีทั้งภาพและตัวอักษรที่มีความหมายในการสื่อสารกับเด็ก ในการเรียนรู้เด็ก ๆ จะมีโอกาสและมีเวลาในการตัดสินใจที่จะเลือกกิจกรรมที่อยากปฏิบัติด้วยตัวเด็กเอง เพราะคุณครูจะเป็นผู้ที่ทำหน้าที่เป็นผู้ช่วยในการเรียนรู้ให้กับเด็ก เช่น การจัดเตรียมมุมต่าง ๆ ให้เด็กได้เรียนรู้และฝึกภาษาอย่างรอบด้าน

ในมุมศิลปะครูก็จะจัดเตรียมอุปกรณ์ที่เกี่ยวกับศิลปะวางไว้ที่มุม แต่ในมุมนั้นจะมีป้ายหรือสัญลักษณ์ที่ส่งเสริมในการฝึกใช้ภาษา ตัวอย่างเช่น ที่มุมจะมีป้ายคำว่า มุมศิลปะ = Art บนโต๊ะมีอุปกรณ์ศิลปะ เช่น ตะกร้าใส่ดินสอ ก็จะติดป้ายที่ข้างตะกร้าจะมีคำว่า Basket = ตะกร้า, Pencil = ดินสอ, Colors Crayon = สีเทียน, Paintbrush =พู่กัน, Table = โต๊ะ เป็นต้น การติดป้ายคำศัพท์ตามมุมต่าง ๆ จะยิ่งช่วยสนับสนุนการใช้ภาษา เพราะเด็กจะเกิดความคุ้นเคยกับตัวหนังสือและได้รับประสบการณ์ทางภาษาที่มีอยู่จริง

การมีส่วนร่วมของผู้ปกครอง

ผู้ปกครองเป็นผู้ที่มีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งในการเรียนรู้ของเด็ก จึงจำเป็นต้องจัดให้ผู้ปกครองมีส่วนร่วมในการจัดการศึกษา ผู้ปกครองควรศึกษาเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงหลักสูตรและการเรียนรู้ในชั้นเรียนของเด็กอนุบาล ซึ่งครูก็ควรเป็นผู้ที่สื่อสารให้ผู้ปกครองรับทราบ การที่คุณครูแจ้งให้ผู้ปกครองทราบเกี่ยวกับการจัดการศึกษาและแนวทางที่ผู้ปกครองควรปฏิบัติ จะทำให้ผู้ปกครองสามารถพัฒนาเด็กในทิศทางเดียวกันกับทางโรงเรียน

เด็กสามารถที่จะเรียนรู้ภาษาได้ด้วยตนเองจากสิ่งแวดล้อมรอบตัวและเข้าใจในความหมายของคำนั้น ๆ การจัดประสบการณ์การเรียนการสอนให้เด็กได้เรียนรู้ภาษาจากสิ่งต่าง ๆ ที่พบเห็นในชีวิตประจำวันนั้น สามารถทำ ได้ไม่ว่าจะเป็นที่โรงเรียนหรือบ้าน ซึ่งผู้ปกครองสามารถนำมาบูรณาการในการเรียนรู้ให้เด็กสนุกสนานและไม่น่าเบื่อ ทำได้ง่าย ๆ คือ ถ้าผู้ปกครองต้องการจะสอนภาษาง่าย ๆ ให้เด็กที่บ้าน ทำได้โดยการหาพื้นที่ว่างตามห้องต่าง ๆ ภายในบ้าน ผู้ปกครองสามารถทำแผ่นภาพเป็นรูปต่าง ๆ ที่เป็นของใช้ในห้องนั้น ตัวอย่างเช่น ถ้าเป็นห้องครัว ก็อาจจะมีแผ่นภาพรูปกระทะติดอยู่ที่ผนังใกล้ที่แขวนกระทะ พร้อมพิมพ์คำอ่านทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษไว้ใต้ภาพ ผู้ปกครองอาจจะถามนำเด็กว่า

ผู้ปกครอง : เอ๊ะ! นั้นรูปอะไร
เด็ก : รูปกระทะ
ผู้ปกครอง : เรามาลองสะกดอ่านคำว่า กระทะ = กระ-ทะ/ P-a-n เป็นต้น

ผู้ปกครองสามารถติดแผ่นภาพตามสถานที่ต่าง ๆ ภายในบริเวณบ้าน และเป็นคำศัพท์ง่าย ๆ ทำแบบนี้ทุกครั้งเด็ก ๆ ก็สามารถจดจำพยัญชนะและสระได้เอง โดยไม่ต้องถูกกดดันให้อ่านแบบท่องจำและเด็กก็จะเรียนรู้อย่างมีความสุข
ติดแผ่นภาพที่มีคำศัพท์ตามสถานที่ต่าง ๆ ภายในบ้านหรือโรงเรียน
ติดแผ่นภาพคำศัพท์ตามสถานที่ต่าง ๆ
ติดแผ่นภาพตามสถานที่ ที่เด็กพบเห็นบ่อย ๆ
แผ่นภาพคำศัพท์ที่ติดควรเป็นสิ่งของที่เด็กพบเห็นบ่อย ๆ

ทั้งนี้ ผู้ปกครองควรใจเย็นและมีความอดทนเพียงพอที่จะเฝ้ารอดูผลงานของเด็ก ซึ่งจะพัฒนาขึ้นทีละน้อย ผู้ปกครองอาจมีส่วนร่วมในการช่วยพัฒนาภาษาของเด็กได้ โดยการสนทนาและตอบคำถามของเด็กอย่างสม่ำเสมอ จัดหาหนังสือนิทานให้เด็กได้อ่านหรืออ่านหนังสือให้เด็กฟังเป็นประจำทุกวัน ส่งเสริมให้เด็กอ่านจากสิ่งแวดล้อม เช่น ป้ายโฆษณา กล่องสินค้า ป้ายประกาศ ฯลฯ จัดให้เด็กมีโอกาสอ่านและเขียนทุกวัน ให้ความสนใจในสิ่งที่เด็กอ่านหรือเขียน เพื่อเป็นกำลังใจแก่เด็กและเพื่อให้เด็กมีทัศนคติที่ดีต่อการอ่านและการเขียน พยายามไม่วิพากษ์วิจารณ์หรือตำหนิสิ่งที่เด็กเขียน เพราะจะทำให้เด็กขาดความมั่นใจและผู้ปกครองควรเป็นแบบอย่างที่ดีในการใช้ภาษาให้กับเด็กด้วยค่ะ

ดาวน์โหลด
5 รายการ