การจัดกิจกรรมการประกอบอาหารสำหรับเด็กปฐมวัย หรือที่เรียกว่า “ Cooking ” เป็นกิจกรรมที่จะช่วยให้เด็กได้รับประสบการณ์ตรงและเรียนรู้การทำงานอย่างเป็นกระบวนการผ่านการทำอาหาร ช่วยให้เด็กรู้จักวางแผนในการจัดเตรียมวัตถุดิบที่หลากหลาย โดยเน้นการใช้กล้ามเนื้อมือและนิ้วมือในการลงมือปฏิบัติจริง จากการทำกิจกรรมประกอบอาหารตามขั้นตอนต่าง ๆ ที่เหมาะสมสำหรับเด็กปฐมวัย ตลอดจนได้เรียนรู้และรู้จักอุปกรณ์ต่าง ๆ ในการประกอบอาหาร ช่วยให้เด็กเกิดความคิดรวบยอดและพัฒนาทักษะอย่างสมดุล ทั้งยังปลูกฝังให้เด็กมีพฤติกรรมด้านสุขอนามัย และโภชนาการที่ดีอีกด้วย

การจัดกิจกรรมการประกอบอาหาร สำหรับเด็กปฐมวัย
กิจกรรมประกอบอาหารสำหรับเด็ก

ขั้นตอนการจัดกิจกรรมการประกอบอาหาร

ในการจัดกิจกรรมการประกอบอาหารสำหรับเด็กปฐมวัยนั้น คุณครูและผู้ปกครองสามารถกำหนดเป็นขั้นตอนอย่างง่าย ดังตัวอย่างที่ผู้เขียนกำหนดเป็น 3 ขั้นตอนดังนี้

1. ขั้นนำ

เด็กช่วยคิดหาเมนูอาหารที่สนใจร่วมกับคุณครูหรือผู้ปกครอง และสนทนาเกี่ยวกับวัตถุดิบ ส่วนผสม และอุปกรณ์ที่ใช้ในการประกอบอาหาร ว่ามีอะไรบ้าง

2. ขั้นปฏิบัติ

เมื่อเด็กได้จัดเตรียมวัตถุดิบและส่วนผสมที่จะนำมาปรุงอาหารในเมนูที่คิดแล้ว ให้ช่วยกันล้าง หั่น และปรุงสุก ทั้งนี้ ก่อนการประกอบอาหาร ให้คุณครูและผู้ปกครองแนะนำขั้นตอนในการทำอาหาร พร้อมทั้งแนะนำวิธีการใช้อุปกรณ์ต่าง ๆ ให้กับเด็ก เพื่อความปลอดภัยทุกครั้งที่ทำกิจกรรมด้วยค่ะ

3. ขั้นสรุป

เมื่อเด็กทำการประกอบอาหารเสร็จเรียบร้อยแล้ว ให้เด็กเล่าประสบการณ์การทำงานและขั้นตอนการทำงานว่าทำอย่างไร แล้วช่วยกันสรุปว่าเมนูที่ทำนั้นมีสีสัน กลิ่น รสชาติ เป็นอย่างไร ส่วนผสมและเครื่องปรุงใส่อะไรไปเท่าไหร่ รวมทั้งเครื่องปรุงแต่ละชนิดมีรสชาติเป็นอย่างไร เป็นต้น

ประโยชน์ของการจัดกิจกรรมการประกอบอาหาร

กิจกรรมการประกอบอาหาร หรือกิจกรรม Cooking เป็นกิจกรรมที่สนุกสนาน สร้างความตื่นเต้นและเป็นสิ่งเร้าในการจัดการเรียนรู้ของเด็กปฐมวัยเป็นอย่างมาก การจัดกิจกรรมนี้ จะไม่เน้นในผลงานของอาหารที่ทำสำเร็จ แต่อยู่ที่กระบวนการและขั้นตอนในการทำกิจกรรมเป็นสำคัญ ซึ่งมีประโยชน์ต่อการพัฒนาเด็ก ดังนี้

1.ส่งเสริมทักษะด้านร่างกาย

การที่เด็กได้หั่นผัก หั่นผลไม้ ตักเกลือหรือน้ำตาลใส่ลงในหม้อ เทเครื่องปรุงและส่วนผสมลงไปในกระทะ การปั้นแป้งทำขนมหรือแม้กระทั้งการล้างผักหรือล้างอุปกรณ์ต่าง ๆ นั้น ล้วนเป็นกิจกรรมที่ช่วยส่งเสริมและพัฒนาการใช้กล้ามเนื้อมัดเล็กให้กับเด็ก นอกจากนี้ยังช่วยฝึกในเรื่องการประสานสัมพันธ์มือและตาของเด็กให้ดียิ่งขึ้นอีกด้วยค่ะ

กิจกรรม Cooking ช่วยพัฒนากล้ามเนื้อมือ
การปั้นแป้งทำขนมต่าง ๆ จะช่วยส่งเสริมทักษะด้านร่างกายให้กับเด็ก
2.ส่งเสริมทักษะด้านอารมณ์

เด็กจะได้ฝึกการควบคุมอารมณ์และรอคอย เช่น เด็กบางคนใจร้อน อยากให้อาหารสุกเร็ว ๆ แต่ถ้าเอาอาหารออกจากเตาก่อนเวลา ก็จะได้กินอาหารที่ไม่สุก เป็นการให้เด็กได้เรียนรู้จากประสบการณ์ตรงของตัวเอง ว่าทำไมต้องรอ ส่งผลให้เด็กมีพฤติกรรมการแสดงออกทางอารมณ์ที่ดีและอยู่ในสังคมได้อย่างมีความสุข

3.ส่งเสริมทักษะด้านสังคม

เด็กจะได้รับการพัฒนาทักษะทางสังคม ผ่านการทำงานร่วมกับผู้อื่นหรือการทำงานเป็นกลุ่ม ช่วยกันคิด ช่วยกันทำ พัฒนาการสื่อสารระหว่างกัน เด็ก ๆ จะได้วางแผนและรู้จักการแบ่งหน้าที่ความรับผิดชอบ มีการแบ่งปัน มีน้ำใจ ช่วยเหลือและมีพฤติกรรมการเอื้อเฟื้อ มีความรับผิดชอบ รู้จักการปฏิบัติตามข้อตกลงของกลุ่ม ซึ่งสิ่งเหล่านี้ จะช่วยส่งเสริมให้เด็กมีความมั่นใจในตัวเองอีกด้วยค่ะ

4.ส่งเสริมทักษะด้านภาษา

เด็กจะได้เรียนรู้คำศัพท์ใหม่ ๆ จากวัตถุดิบ อุปกรณ์ และส่วนผสมที่นำมาใช้ในการประกอบอาหาร เช่น ถ้วย ชาม กระทะ เตาอบ ผักกาด แครอท น้ำปลา น้ำตาล เป็นต้น นอกจากนี้เด็ก ๆ ยังได้พัฒนาทักษะการพูดและการฟัง ผ่านการพูดคุยสนทนาตอบโต้กับคุณครูหรือผู้ปกครอง และเพื่อน ๆ หรือการแสดงความคิดเห็นในระหว่างการทำกิจกรรม Cooking

5.ส่งเสริมทักษะด้านวิทยาศาสตร์

เด็กจะได้เรียนรู้และสังเกตดูการเปลี่ยนแปลงของวัตถุดิบ เมื่อนำมาปรุงจนสุกจะมีการเปลี่ยนแปลงอย่างไร การใส่เครื่องปรุงต่าง ๆ เช่น เกลือ น้ำตาล น้ำปลา ฯลฯ ถ้าใส่มากจะมีรสชาติอย่างไร ใส่น้อยจะมีรสชาติอย่างไร นอกจากนี้ ยังได้ฝึกฝนทักษะการเปรียนเทียบ การจำแนกประเภท การจัดกลุ่มของวัตถุดิบและส่วนผสมที่ใช้ในการประกอบอาหาร

กิจกรรมประกอบอาหาร ช่วยกระตุ้นประสาทสัมผัสเด็ก
เด็กสัมผัสและสังเกตการเปลี่ยนแปลงของแป้ง ก่อนและหลัง ใส่น้ำมัน
6.ส่งเสริมทักษะด้านคณิตศาสตร์

เด็กจะได้เรียนรู้ทักษะด้านคณิตศาสตร์ จากการชั่ง ตวง วัดเครื่องปรุง และส่วนผสมต่าง ๆ การเรียงลำดับ การนับจำนวน และการกะปริมาณ

7.ส่งเสริมจินตนาการและความคิดสร้างสรรค์

การให้เด็กมีส่วนร่วมในการจัดจานอาหาร เป็นการเปิดโอกาสให้เด็กใช้ความคิดสร้างสรรค์อย่างหนึ่ง ไม่ว่าจะเป็นการจัดวางผัก การราดซอสและการจัดเรียงผลไม้ นอกจากนี้การให้เด็ก ๆ ได้มีส่วนร่วมในการเลือกเมนูอาหาร ก็ถือเป็นการกระตุ้นจินตนาการและความคิดสร้างสรรค์ให้กับเด็กอีกด้วยค่ะ

8.ช่วยกระตุ้นการใช้ประสาทสัมผัสทั้ง 5

กิจกรรมการประกอบอาหาร จะช่วยกระตุ้นการใช้ประสาทสัมผัสของเด็กได้เป็นอย่างดี เช่น “ตา” มองเห็นวัตถุดิบและส่วนผสมต่าง ๆ “มือ” ได้สัมผัสผิวของวัตถุดิบ ผักและผลไม้ต่าง ๆ ว่ามีลักษณะเป็นอย่างไร “หู” ฟังคำสั่งและคำแนะนำจากคุณครูหรือผู้ปกครอง ว่าขั้นตอนถัดไปคืออะไร ต้องทำอะไรต่อ เสียงสับหมู เสียงเครื่องครัวทำงาน “จมูก” ได้กลิ่นของอาหาร กลิ่นของเครื่องปรุงต่าง ๆ “ปาก” ชิมรสชาติของวัตถุดิบ เช่น เกลือมีรสเค็ม น้ำตาลมีรสหวาน หรือชิมเพื่อรู้ว่าอาหารที่ทำมีรสชาติอย่างไร ต้องเติมรสชาติไหนจึงจะได้รสอย่างที่ต้องการ

กระตุ้นกระบวนการเรียนรู้เด็กปฐมวัย ผ่านการจัดกิจกรรมการประกอบอาหาร
เด็กใช้มือสัมผัสแป้งหลังใส่น้ำมัน ว่ามีลักษณะเป็นอย่างไร
9.ช่วยสร้างสุขนิสัย สุขอนามัย และโภชนาการ

เด็กได้เรียนรู้เกี่ยวกับโภชนาการและอาหารหลัก 5 หมู่ เช่น การทำผัดผักรวม เด็กจะเรียนรู้ว่าผักมีประโยชน์ให้วิตามินและแร่ธาตุต่างๆ เนื้อหมูให้สารอาหารประเภทโปรตีน และไขมัน เป็นต้น นอกจากนี้ยังช่วยสอนให้เด็กเลือกรับประทานอาหารที่ดีมีประโยชน์ และช่วยปลูกฝังทัศนคติที่ดีต่อการรับประทานอาหารให้กับเด็ก

การจัดกิจกรรมการประกอบอาหารนอกจากจะช่วยส่งเสริมทักษะด้านต่าง ๆ ให้กับเด็กแล้ว ยังช่วยส่งเสริมให้เด็กมีความคิดรวบยอด ช่วยให้เด็กเกิดการเรียนรู้จากรูปธรรม ส่งผลให้เด็กมีพัฒนาการที่ดีและเหมาะสมตามวัย

กิจกรรม Cooking พัฒนากล้ามเนื้อมือ
เด็กใช้แม่พิมพ์กดแป้ง เพื่อให้เกิดรูปตามจินตนาการ
การจัดกิจกรรมการประกอบอาหาร ส่งเสริมทักษะด้านอารมณ์เด็ก
เด็กสนุกกับกิจกรรมการประกอบอาหาร

กระบวนการเรียนรู้สำหรับเด็กปฐมวัยนั้น เกิดได้จากสภาพแวดล้อมรอบ ๆ ตัวของเด็กเป็นหลัก ดังนั้น การเรียนรู้ที่มีประสิทธิภาพมากที่สุด คือ การเรียนรู้โดยการให้เด็กลงมือปฏิบัติจริง (การเรียนรู้จากประสบการณ์ตรง) ทั้งนี้ คุณครูหรือผู้ปกครองควรเป็นผู้จัดหากิจกรรมที่เหมาะสมให้กับเด็ก ด้วยการเปิดโอกาสให้เด็กได้ลงมือทำและรับประสบการณ์ที่หลากหลายด้วยตัวเด็กเอง จะช่วยพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพของเด็กให้มากขึ้น