การทดลองถือเป็นกิจกรรมที่ช่วยฝึกทักษะการคิดให้กับเด็กปฐมวัย เพราะในธรรมชาติเด็กจะมีความอยากรู้อยากเห็น และตั้งคำถามกับสิ่งรอบตัวอยู่ตลอดเวลา ดังนั้น ผู้ปกครองและคุณครูสามารถช่วยส่งเสริมให้เด็กได้ด้วยการหากิจกรรมทดลองวิทยาศาสตร์สนุก ๆ ให้เด็กได้ลองทำค่ะ

ภูขาไฟลาวาจำลอง จากน้ำส้มสายชูและเบคกิ้งโซดา

อย่างการทำกิจกรรมทดลอง ภูเขาไฟลาวา ที่เด็ก ๆ จะได้สนุกจากการลงมือทำจริงทุกขั้นตอนด้วยตัวเองและยังช่วยกระตุ้นให้เด็ก ๆ เกิดความสนใจ ได้พัฒนาสติปัญญาและเกิดความคิดสร้างสรรค์ ทั้งนี้ การทดลองยังช่วยฝึกทักษะการสังเกตและทักษะการลงความเห็นผ่านการทดลองปฏิกิริยาทางเคมีที่น่าทึ่งอีกด้วย ว่าแล้วก็อย่าช้า มาลงมือทำภูเขาไฟลาวากันเลยค่ะ

วัสดุและอุปกรณ์สำหรับการทดลอง

อุปกรณ์การทดลองวิทยาศาสตร์ภูเขาไฟลาวา
อุปกรณ์การทดลองวิทยาศาสตร์ภูเขาไฟลาวา
  • 1

    ดินน้ำมันหรือแป้งโด
  • 2

    เบคกิ้งโซดา
  • 3

    น้ำส้มสายชู
  • 4

    สีน้ำหรือสีผสมอาหาร
  • 5

    ขวดน้ำพลาสติก
  • 6

    ปิเปตต์หรือไซริงค์ฉีดยา
  • 7

    ถาดหรือจานรอง (สำหรับทำเป็นฐานของภูเขาไฟ)
  • 8

    ภาชนะสำหรับผสมสีกับน้ำส้มสายชู

ขั้นตอนการทดลอง

1. ก่อนเริ่มการทดลองให้คุณครูหรือผู้ปกครองแนะนำวัสดุและอุปกรณ์ที่จะใช้ทำการทดลอง เพื่อให้เด็กเกิดความสนใจแล้วถามเด็ก ๆ ถึงการทดลองในครั้งนี้ ว่าจะทำอะไร และสิ่งที่เกิดขึ้น เกิดขึ้นได้อย่างไร พร้อมจดบันทึกคำตอบไว้เพื่อดูพัฒนาการของเด็กในการทดลองครั้งต่อไป

การถาม-ตอบกับเด็ก ๆ จะเป็นการเปิดโอกาสให้เด็กได้ใช้ความคิดวิเคราะห์ ช่วยกระตุ้นให้เด็กอยากค้นหาคำตอบด้วยตัวเอง และเป็นการฝึกทักษะการลงความเห็นผ่านข้อมูลหรือประสบการณ์เดิมให้กับเด็ก ๆ ได้อีกด้วยค่ะ ทั้งนี้คุณครูและผู้ปกครองอาจให้เด็ก ๆ ตั้งสมมติฐานก่อนการทดลอง โดยให้เด็กอาศัยการสังเกต ความรู้และประสบการณ์เดิมเป็นพื้นฐานในคำตอบที่เด็กคาดการณ์ไว้ล่วงหน้า
คุณครูหรือผู้ปกครองพูดคุยกับเด็ก ๆ ถึงวัสดุและอุปกรณ์ในการทดลอง
พูดคุยกับเด็กถึงวัสดุและอุปกรณ์ในการทดลองภูเขาไฟลาวา

2. หลังจากพูดคุยกับเด็ก ๆ แล้ว เราก็มาทำภูเขาไฟจำลองกันค่ะ โดยให้เด็ก ๆ นำขวดน้ำพลาสติกมาวางบนถาดหรือจานรอง จากนั้นใช้ดินน้ำมันแปะตามขวดน้ำให้เป็นรูปทรงของภูเขาไฟ (ให้เริ่มแปะดินน้ำมันจากฐานหรือจานรองไปถึงขอบปากขวดค่ะ) ซึ่งในขั้นตอนนี้คุณครูหรือผู้ปกครองสามารถให้เด็ก ๆ ตกแต่งภูเขาไฟตามจินตนาการได้เลยค่ะ

ใช้ดินน้ำมันแปะตามขวดน้ำเพื่อทำป็นรูปทรงของภูเขาไฟสำหรับใช้ในการทดลอง
ใช้ดินน้ำมันแปะตามขวดน้ำเพื่อทำป็นรูปทรงของภูเขาไฟ

3. หลังจากทำภูเขาไฟจำลองเสร็จแล้ว ให้เด็ก ๆ ใช้ปิเปตต์หรือไซริงค์ฉีดยาดูดสีผสมอาหารมาผสมกับน้ำส้มสายชู โดยกะปริมาณน้ำส้มสายชูให้ให้เกินครึ่งขวดน้ำที่ใช้ทำภูเขาไฟนะคะ เพราะถ้าใส่น้ำส้มสายชูน้อยเวลาที่ลาวาพุ่งออกมาจะไม่ค่อยสูงและทำให้ปริมาณของลาวาที่ไหลออกมาค่อนข้างน้อย

ถ้าคุณครูหรือผู้ปกครองอยากให้ลาวาไหลช้า ๆ และมีฟองเยอะ ๆ แนะนำให้ใส่น้ำยาล้างจานลงไปประมาณ 1-2 ช้อนชาค่ะ นอกจากนี้การใส่น้ำยาล้างจานลงไปจะช่วยกลบกลิ่นของน้ำส้มสายชูได้อีกด้วยนะคะ
ให้เด็ก ๆ ใช้ปิเปตต์ดูดสีผสมอาหารใส่ลงไปในน้ำส้มสายชู
ใช้ปิเปตต์ดูดสีผสมอาหารใส่ลงไปในน้ำส้มสายชู

4. นำน้ำส้มสายชูที่ผสมกับสีผสมอาหารเสร็จแล้ว เทลงไปในภูเขาไฟจำลองที่เตรียมไว้ ทั้งนี้คุณครูหรือผู้ปกครองต้องคอยระวังไม่ให้เด็กเทน้ำสีหกด้วยนะคะ

แนะนำให้คุณครูและผู้ปกครองหาถาดหรือกะละมังใบใหญ่มาลองภูเขาไฟอีกทีนะคะ เพื่อป้องกันไม่ให้น้ำหกลงไปเลอะโต๊ะหรือพื้นค่ะ
 เทน้ำส้มสายชูที่ผสมกับสีผสมอาหารลงไปในภูเขาไฟจำลอง
เทน้ำส้มสายชูที่ผสมกับสีผสมอาหารลงไปในภูเขาไฟจำลอง

5. แล้วก็มาถึงขั้นตอนที่ตื่นเต้นและสำคัญที่สุด นั้นคือการเทเบคกิ้งโซดาลงไปในภูเขาไฟค่ะ ซึ่งเบคกิ้งโซดาจะทำปฏิกิริยากับน้ำส้มสายชูที่เราเทไว้ก่อนหน้านี้ ทำให้เกิดควันและมีลาวาไหลออกมาจากภูเขาไฟของเรานั้นเองค่ะ ในการทดลองภูเขาไฟลาวา คุณครูหรือผู้ปกครองสามารถให้เด็กเทเบคกิ้งโซดาได้เรื่อย ๆ จนกว่าน้ำสายชูภายในภูเขาไฟจะหมดหรือส่วนผสมทั้ง 2 อย่างจะหมดปฏิกิริยาค่ะ ในการเทบางครั้งลาวาอาจไม่ได้ปะทุขึ้นมาทันที คุณครูหรือผู้ปกครองสามารถใช้โอกาสนี้ในการสอนเด็ก ๆ ให้รู้จักเรียนรู้การรอคอยได้อีกด้วยค่ะ

 เทเบคกิ้งโซดาลงไปในภูเขาไฟจำลอง
เทเบคกิ้งโซดาลงไปในภูเขาไฟจำลอง
 เด็กตื่นเต้นและสนุกสนานกับการทดลองภูเขาไฟลาวา
เด็กตื่นเต้นและสนุกสนานกับการทดลองภูเขาไฟลาวา
เมื่อเด็ก ๆ ทำกิจกรรมเสร็จแล้ว เด็กและคุณครูพูดคุยถึงการทดลองที่ผ่านมาว่าเกิดอะไรขึ้นบ้างและให้เด็ก ๆ วาดภาพสรุปตามขั้นตอนที่ได้ทดลองว่ามีอุปกรณ์ ขั้นตอนเป็นอย่างไร เกิดอะไรขึ้นบ้างและเกิดขึ้นได้อย่างไร ตามความรู้ความใจของเด็กเอง
เย้! ลาวาปะทุแล้ว

สิ่งที่สำคัญที่สุดสำหรับการทำกิจกรรมคือ การเปิดโอกาสให้เด็กได้เล่นและคิดอย่างมีอิสระ ให้เด็กเรียนรู้สิ่งต่าง ๆ ผ่านการลงมือทำ เรียนรู้ที่จะแก้ปัญหาด้วยตัวเอง โดยคุณครูหรือผู้ปกครองมีหน้าที่คอยให้คำแนะนำกับเด็ก รวมถึงคอยดูแลความปลอดภัยของเด็กในทุกขั้นตอนด้วยนะคะ เด็ก ๆ จะได้สนุกและเรียนรู้อย่างเต็มที่ เพื่อพัฒนาที่ดีของเด็กต่อไป

ปฏิกิริยาเคมีที่เกิดขึ้น เป็นผลจากการทำปฏิกิริยาทางเคมีระหว่างเบคกิ้งโซดา(ด่าง/เบส)และน้ำส้มสายชู(กรด)ทำให้เกิดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ แล้วก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่ดันตัวออกนี้เองที่ทำให้เกิดภูเขาไฟลาวาของเรานั้นเองค่ะ