การทดลองถือเป็นหนึ่งในกิจกรรมที่เด็ก ๆ หลายคนชื่นชอบ เพราะนอกจากความสนุกสนานและตื่นตาตื่นใจที่เด็ก ๆ จะได้จากการทดลองแล้ว ยังช่วยฝึกทักษะการคิด ส่งเสริมให้เด็กเป็นคนช่างสำรวจ สืบเสาะ ค้นหา รู้จักหาคำตอบและเรียนรู้ที่จะแก้ปัญหาได้ด้วยตัวเอง คุณครูและผู้ปกครองสามารถส่งเสริมให้กับเด็ก ๆ ได้ด้วยการหากิจกรรมการทดลองวิทยาศาสตร์สนุก ๆ มาให้เด็กได้ลองทำกันค่ะ
วันนี้ผู้เขียนมีกิจกรรมการทดลองวิทยาศาสตร์สนุก ๆ อย่างกิจกรรมดอกไม้กระดาษบานในน้ำ ที่เพียงแค่มีกระดาษ ปากกาเมจิกและน้ำก็สามารถทำเล่นกับเด็ก ๆ ได้แล้ว เด็ก ๆ จะได้ลุ้นและตื่นเต้นไปกับการบานของดอกไม้กระดาษที่เค้าวางลงบนน้ำ อีกทั้งเมื่อเด็ก ๆ วางดอกไม้ไว้บนน้ำสักพัก สีที่ระบายไว้ก็จะกระจายออกมาอีกด้วยค่ะ ยิ่งระบายหลากสีเวลาหมึกกระจายก็จะยิ่งสวย แค่คิดก็น่าสนุกแล้วใช่ไหมค่ะ ว่าแล้วก็อย่าช้า เตรียมอุปกรณ์ให้พร้อม แล้วมาเริ่มการทดลองกันเลย
อุปกรณ์สำหรับการทดลอง
- 1 Pattern ดอกไม้กระดาษ สำหรับทำกิจกรรม
- 2ปากกาเมจิกหรือปากกาสีน้ำ
- 3ปากกาตัดเส้นสีดำ
- 4กรรไกร
- 5จานหรือถาด สำหรับใส่น้ำ
- 6น้ำ
ขั้นตอนการทดลอง
1. ก่อนเริ่มการทดลองให้คุณครูและผู้ปกครอง แนะนำอุปกรณ์ต่าง ๆ ที่จะใช้ทำการทดลองให้กับเด็ก ๆ เพื่อกระตุ้นให้เด็กเกิดความสนใจ แล้วถามเด็ก ๆ เกี่ยวกับการทดลองในครั้งนี้ ว่าจะทำอะไร จะเกิดอะไรขึ้นแล้วเกิดขึ้นได้อย่างไร ทั้งนี้ คุณครูและผู้ปกครองอาจให้เด็ก ๆ ตั้งสมมติฐานก่อนการทดลอง โดยให้เด็กอาศัยการสังเกต ความรู้และประสบการณ์เดิม เป็นพื้นฐานของคำตอบที่เด็กคาดการณ์ไว้ พร้อมจดบันทึกสมมติฐานของเด็กไว้ (หลังการทดลองก็นำสมมติฐานที่เด็ก ๆ ตั้งไว้มาเปรียบเทียบดูว่าเป็นไปตามที่คิดไว้หรือไม่ ทั้งนี้สมมติฐานของเด็ก ๆ ไม่มีคำว่าผิดนะคะ) เพื่อดูพัฒนาการของเด็กในการทดลองครั้งต่อไป
การถาม-ตอบกับเด็ก ๆ เป็นสิ่งสำคัญที่คุณครูและผู้ปกครองไม่ควรมองข้าม เพราะจะเป็นการเปิดโอกาสให้เด็กได้ใช้ความคิด วิเคราะห์ ช่วยกระตุ้นให้เด็กคิดหาคำตอบด้วยตัวเอง อีกทั้ง ยังเป็นการฝึกทักษะการลงความเห็นผ่านข้อมูลหรือประสบการณ์เดิมให้กับเด็ก ๆ ได้อีกด้วยนะคะ
2. หลังจากพูดคุยกับเด็ก ๆ แล้ว เราก็มาเริ่มทำการทดลองกันเลยค่ะ ขั้นแรกให้คุณครูหรือผู้ปกครองปริ้น Pattern ดอกไม้ลงบนกระดาษ A4 (สามารถดาวน์โหลด Pattern ดอกไม้กระดาษ ได้ที่ด้านล่างของบทความค่ะ) จากนั้นให้เด็กตัดกระดาษตามรอยประรูปสี่เหลี่ยมให้เรียบร้อย แต่ถ้ากล้ามเนื้อมือของเด็กยังไม่แข็งแรงพอ คุณครูและผู้ปกครองสามารถตัดแทนได้เลยค่ะ
แนะนำให้เด็กที่มีอายุ 4 ปีขึ้นไป ตัดกระดาษเองได้เลยนะคะ และเพื่อความปลอดภัยกรรไกรที่นำมาให้เด็กใช้ควรเป็นกรรไกรที่มีปลายมน ขนาดกรรไกรไม่ใหญ่จนเกินไปเลือกขนาดที่พอดีกับมือของเด็กก็จะช่วยให้เด็กตัดได้อย่างถนัดมือค่ะ
3. เมื่อตัดกระดาษเสร็จแล้ว ให้เด็ก ๆ พับกระดาษตามเส้น A เส้น C และเส้น B ให้เรียบร้อย (ให้พับด้านที่ไม่มีรอยกลีบดอกไม้)
4. พลิกกระดาษอีกด้านขึ้นมา แล้วใช้กรรไกรตัดกระดาษตามเส้นทึบรูปกลีบดอกไม้ โดยขั้นตอนนี้แนะนำให้คุณครูหรือผู้ปกครองเป็นคนทำนะคะ เพราะกระดาษที่พับจะค่อนข้างหนา เด็ก ๆ อาจตัดไม่ขาดหรือเกิดอันตรายจากการตัดกระดาษได้ค่ะ
5. คลี่กระดาษที่ตัดเรียบร้อยแล้วออกมา จากนั้นให้เด็ก ๆ ระบายสีดอกไม้กระดาษด้วยปากกาเมจิกหรือปากกาสีน้ำ ให้สวยงามได้เลยค่ะ (ระบายให้ทั่วเพียงด้านเดียวนะคะ) และเมื่อระบายสีเสร็จแล้ว ให้พลิกหน้ากระดาษอีกด้านขึ้นมา แล้วใช้ปากกาตัดเส้นวาดเกสรหรือเติมลวดลายกลีบดอกไม้ตามจินตนาการ (ไม่ต้องระบายสีดอกไม้กระดาษด้านนี้นะคะ)
6. ให้เด็ก ๆ พับกลีบดอกไม้กระดาษตามรอยประให้เรียบร้อย
ทั้งนี้คุณครูและผู้ปกครองอาจปริ้น Pattern ใบไม้ มาทำกิจกรรมด้วย ซึ่งการพับ ตัดและระบายสีเหมือนกับดอกไม้กระดาษเลยค่ะ เสร็จแล้วให้นำดอกไม้กระดาษที่พับเรียบร้อยแล้ว ใส่เข้าไปด้านในของใบไม้กระดาษอีกที
7. แล้วก็มาถึงขั้นตอนที่เด็ก ๆ รอคอย นั้นก็คือการวางดอกไม้กระดาษลงในน้ำค่ะ (จานหรือถาดที่ใส่น้ำ แนะนำให้ใช้สีขาวจะดีที่สุดค่ะ เพราะจะทำให้เห็นสีของหมึกที่ละลายออกมาได้ชัดเจนค่ะ) ซึ่งดอกไม้กระดาษจะทำการดูดซึมน้ำเข้าไป ทำให้ดอกไม้กระดาษค่อย ๆ บานออก อีกทั้งการวางกระดาษที่ระบายด้วยปากกาเมจิกหรือปากกาสีน้ำลงในน้ำ จะทำให้หมึกละลายไหลไปทั่วแผ่นกระดาษและไหลลงไปในน้ำอีกด้วย (คุณครูหรือผู้ปกครองอาจให้เด็ก ๆ ใช้เวลาในการสังเกตดอกไม้กระดาษแต่ล่ะครั้ง ประมาณ 5-10 นาที เพื่อให้เด็ก ๆ ได้เห็นการทำปฏิกิริยาระหว่างหมึกจากปากกาเมจิกกับน้ำได้ชัดเจนขึ้น)
คุณครูหรือผู้ปกครองอาจเพิ่มความท้าทายและกระตุ้นความสนใจของเด็ก ๆ โดยการนำปากกาไวท์บอร์ดมาระบายสีที่ดอกไม้กระดาษด้วย แล้วถามเด็ก ๆ ว่าระหว่างปากกาเมจิก กับปากกาไวท์บอร์ด สีของหมึกปากกาอันไหนจะละลายและแพร่กระจายอยู่ในน้ำ เพื่อส่งเสริมทักษะการสังเกต ทักษะการเปรียบเทียบและการคาดเดาให้กับเด็ก ๆ อีกทางหนึ่งค่ะ
เมื่อเด็ก ๆ ทำกิจกรรมเสร็จแล้ว เด็กกับคุณครูหรือผู้ปกครองร่วมกันสรุปผลการทดลอง พูดคุยถึงสิ่งที่เห็นจากการทดลอง ว่าเกิดอะไรขึ้นบ้างและสิ่งที่เด็ก ๆ เห็นเป็นไปตามสมมติฐานที่เด็ก ๆ ตั้งไว้หรือไม่ จากนั้นคุณครูหรือผู้ปกครองช่วยสรุป และอธิบายถึงสิ่งที่เกิดจากการทดลองให้เด็ก ๆ ฟัง จากนั้นให้เด็กวาดภาพอุปกรณ์ที่ใช้ในการทดลอง ขั้นตอนในการทดลอง และเขียนสรุปผลการทดลองสั้น ๆ ตามความรู้ ความเข้าใจของตัวเด็กเอง (สำหรับเด็กเล็กคุณครูหรือผู้ปกครองอาจช่วยเด็กสรุป แล้วจดบันทึกตามคำพูดของเด็ก เพื่อใช้ในการเปรียบเทียบพัฒนาการทางความคิดของเด็ก ในการทดลองครั้งต่อไป)
สิ่งสำคัญที่สุดในการทำกิจกรรมคือ การเปิดโอกาสให้เด็กได้คิดและเรียนรู้อย่างอิสระ ผ่านการลงมือทำจริงด้วยตัวเอง โดยมีคุณครูหรือผู้ปกครองคอยให้คำแนะนำ และดูแลความปลอดภัยของเด็ก ๆ ในทุกขั้นตอนด้วยนะคะ เด็ก ๆ จะได้พัฒนาด้านสติปัญญา เกิดความคิดสร้างสรรค์ สนุกและเรียนรู้ได้อย่างเต็มที่ เพื่อพัฒนาการที่ดีของเด็กในทุก ๆ ด้านต่อไป
เนื่องจากกระดาษที่ทำด้วยเยื่อไม้มีรูพรุนมาก เมื่อเราพับกระดาษจะทำให้รูพรุนบริเวณรอยพับถูกบีบอัดให้เล็กลง พอนำดอกไม้กระดาษไปลอยน้ำ น้ำจะค่อย ๆ ซึมเข้าไปในเยื่อกระดาษและรูพรุนเหล่านั้น ทำให้เกิดแรงผลัก โดยเฉพาะรูพรุนในบริเวณรอยพับของดอกไม้ จึงทำดอกไม้กระดาษบานออกมานั้นเองค่ะ ทั้งนี้กระดาษจะทำการดูดซึม (Absorption) น้ำไปเรื่อย ๆ จนกระทั่งเกิดการอิ่มตัว ซึ่งเป็นหลักการลำเลียงน้ำ (Osmosis) ของต้นไม้ค่ะ
นอกจากนี้น้ำจะทำปฏิกิริยาทางเคมีกับหมึกของปากกาเมจิกหรือปากกาสีน้ำ ทำให้หมึกเกิดการละลาย (Solubility) และทำให้หมึกเกิดการแพร่กระจาย (Diffusion) ไปทั่วทั้งแผ่นกระดาษและในน้ำ ดังที่เกิดขึ้นในการทดลองค่ะ