“วันสงกรานต์” หรือ “เทศกาลสงกรานต์” ถือเป็นประเพณีการเฉลิมฉลองวันขึ้นปีใหม่ของไทยมาแต่โบราณ และยังเป็นอีกเทศกาลสำคัญที่ทุกคนรอคอย โดยเฉพาะเด็ก ๆ เพราะจะได้สนุกสนานกับการเล่นน้ำอย่างเต็มที่ นอกจากการเล่นน้ำแล้วยังเป็นวันที่สมาชิกในครอบครัวจะได้อยู่พร้อมหน้าพร้อมตากันและทำกิจกรรมต่าง ๆ เช่น การทำบุญตักบาตร การสรงน้ำพระหรือการรดน้ำดำหัวผู้ใหญ่ร่วมกันอีกด้วยค่ะ
ถึงแม้เทศกาลสงกรานต์จะตรงกับเดือนเมษายนที่เป็นช่วงปิดภาคเรียนของโรงเรียนต่าง ๆ แต่ก็มีบางโรงเรียนที่มีการจัดการเรียนการสอนในช่วงฤดูร้อนและมีการจัดกิจกรรมก่อนวันสงกรานต์ให้เด็ก ๆ ได้ร่วมสนุกกัน ถือเป็นการจัดการเรียนรู้ให้กับเด็ก ๆ ได้สืบสานประเพณีและวัฒนธรรมของคนไทยผ่านการเล่นอีกด้วย ดังนั้น คุณครูจะต้องเป็นผู้ให้ความรู้กับเด็ก ๆ เกี่ยวกับประเพณีวันสงกรานต์ ว่ามีกิจกรรมอะไรบ้างที่ต้องรู้และปฏิบัติ
1. การทำบุญตักบาตร หรือนำอาหารไปถวายพระที่วัด เพื่อสืบทอด ทำนุบำรุงพระพุทธศาสนา ถือเป็นการสร้างบุญสร้างกุศลให้ตัวเอง และอุทิศส่วนกุศลให้แก่บรรพบุรุษผู้ที่ล่วงลับไปแล้ว
2. การก่อเจดีย์ทราย หรือการขนทรายเข้าวัด เพื่อเป็นนิมิตโชคลาภ ให้มีความสุขความเจริญ เงินทองไหลมาเทมาดุจทรายที่ขนเข้าวัด นอกจากนี้ทรายที่ขนเข้ามาในวัดนั้น จะนำไปใช้ก่อสร้างหรือถมพื้นที่วัดต่อไป ถือว่าได้ทั้งบุญและความสนุกสนานเลยค่ะ
3. การสรงน้ำพระ มีทั้งการสรงน้ำพระพุทธรูป พระภิกษุและสามเณร เพื่อความเป็นสิริมงคลในโอกาสวันขึ้นปีใหม่ไทย
4. การรดน้ำดำหัวผู้ใหญ่ หรือผู้ที่เคารพนับถือ ครูบาอาจารย์ โดยใช้น้ำสะอาดหรือน้ำผสมน้ำอบไทยลอยด้วยดอกไม้สด เพื่อแสดงความเคารพนับถือ การขอขมาจากผู้ใหญ่และเป็นการขอพรปีใหม่จากผู้ใหญ่ไปในตัว ซึ่งการเตรียมของเพื่อแสดงความเคารพนั้นจะต่างกันออกไปตามแต่ละท้องถิ่นค่ะ
5. การเล่นรื่นเริง เช่น การเล่นพื้นบ้าน พื้นเมืองต่าง ๆ และสิ่งที่เป็นการเล่นที่นิยมนำมาเล่นกันในวันสงกรานต์ ที่คุณครูสามารถนำมาจัดกิจกรรมให้กับเด็ก ๆ เล่นได้ เช่น ชักเย่อ งูกินหาง วิ่งเปี้ยว หลับตาตีหม้อ มอญซ่อนผ้า ขี่ม้าส่งเมือง ฯลฯ และสิ่งที่แสดงถึงเอกลักษณ์ของเทศกาลนี้คือ การเล่นสาดน้ำของเด็ก ๆ ด้วยน้ำใจไมตรีจากสายใยของวัฒนธรรมที่เป็นมรดกเก่าแก่ของไทยเราค่ะ
เพื่อให้เด็ก ๆ เห็นคุณค่าและความสำคัญของการสืบสานศิลปะ วัฒนธรรม และประเพณีที่ดีงามของไทย เรามีกิจกรรมดี ๆ ที่ให้คุณครูและผู้ปกครองนำไปทำร่วมกับเด็ก ๆ นั้นคือการทำ “น้ำลอยดอกไม้” เพื่อให้เด็ก ๆ นำไปสรงน้ำพระและรดน้ำขอพรผู้ใหญ่ในวันสงกรานต์ เตรียมวัสดุอุปกรณ์ให้พร้อมแล้วชวนเด็ก ๆ มาทำกันเลยค่ะ
วัสดุและอุปกรณ์
- 1ดอกมะลิ 1/2 ถ้วยตวง
- 2ดอกกุหลาบ 1/2 ถ้วยตวง
- 3น้ำเปล่า 3 ถ้วยตวง
- 4กะละมัง (หรือภาชนะที่มีฝาปิดสนิทไม่มีรู)
- 5ฟิล์มถนอมอาหาร
ขั้นตอนการทำ
1. นำดอกกุหลาบที่เตรียมไว้มาเด็ดกลีบ โดยค่อย ๆ เด็ดทีละกลีบจนหมด จากนั้นให้ดึงเกสรของดอกกุหลาบออกจากก้านมาเตรียมไว้ให้เรียบร้อย
ก่อนเด็ดกลีบดอกกุหลาบ แนะนำให้ดึงกลีบเลี้ยงส่วนใต้ของดอกที่เป็นสีเขียวออกก่อนนะคะ เพื่อจะได้เด็ดกลีบง่ายและกลีบไม่ขาดค่ะ
2. เทน้ำเปล่าลงในกะละมังที่เตรียมไว้ ทั้งนี้ควรใช้กะละมังปากกว้าง เพื่อที่เวลาลอยดอกไม้ในน้ำ ดอกไม้จะได้ไม่เบียดกันค่ะ
3. จากนั้นนำกลีบดอกกุหลาบที่เด็ดเตรียมไว้และดอกมะลิมาลอยน้ำ โดยให้หยิบดอกมะลิ เบา ๆ ทีละดอก เพื่อไม่ให้ดอกมะลิช้ำ เพราะหากดอกมะลิช้ำมาก ๆ จะทำให้น้ำที่ใช้ลอยดอกไม้มีกลิ่นเหม็นแทนกลิ่นหอมค่ะ นอกจากนี้ ควรลอยดอกมะลิโดยให้ก้านของดอกอยู่ใต้น้ำและดอกลอยอยู่ด้านบนนะคะ
ดอกมะลิที่นำมาใช้ลอย แนะนำว่าควรเป็นดอกที่กำลังจะบานหรือบานเล็กน้อยนะคะ เพราะหากใช้ดอกตูมกลิ่นจะไม่ค่อยหอมและอาจทำให้น้ำลอยดอกไม้เหม็นเขียวได้
4. เมื่อนำดอกไม้ลอยในน้ำหมดแล้ว ให้นำฟิล์มถนอมอาหารมาแรปปิดปากกะละมังให้ทั่ว เพื่อป้องกันไม่ให้กลิ่นหอมของดอกไม้ระเหยออกมา แล้วทิ้งไว้ประมาณ 7 ชั่วโมง (หากบ้านไหนมีโถหรือภาชนะที่มีฝาปิดสนิทก็สามารถใช้ได้นะคะ)
5. เมื่อลอยดอกไม้ครบ 7 ชั่วโมงแล้ว ให้เปิดฟิล์มถนอมอาหารออก เพียงเท่านี้เราก็จะได้น้ำลอยดอกไม้หอม ๆ จากดอกไม้มาใช้กันแล้วค่ะ
เมื่อเด็ก ๆ ทำน้ำลอยดอกไม้เสร็จแล้ว คุณครูหรือผู้ปกครองสามารถให้เด็ก ๆ นำน้ำลอยดอกไม้ไปสรงน้ำพระและรดน้ำขอพรผู้ใหญ่ เพื่อความเป็นสิริมงคล พร้อมทั้งปลูกฝังให้เด็ก ๆ ได้รู้ถึงประเพณีและวัฒนธรรมในวันสงกรานต์อีกด้วยค่ะ
เกร็ดความรู้เล็ก ๆ น้อย ๆ ของเทศกาล “สงกรานต์”
“สงกรานต์” มาจากภาษาสันสกฤตว่า “สํ-กรานต” ซึ่งแปลว่า ก้าวขึ้น ย่างขึ้น หรือย้ายขึ้น โดยมีความหมายว่า การเข้าสู่ศักราชราศีใหม่ หรือวันขึ้นปีใหม่ นั้นเอง โดยเทศกาลสงกรานต์ นั้นเป็นประเพณีที่มีความเก่าแก่และคนไทยสืบทอดกันมาแต่โบราณคู่กับประเพณีตรุษจีนกันเลยทีเดียว จึงได้มีการรวมเรียกกันว่า “ประเพณีตรุษสงกรานต์” ซึ่งแปลว่าการส่งท้ายปีเก่า ต้อนรับปีใหม่ นั้นเอง