การออมเงิน เป็นหนึ่งกิจกรรมที่สำคัญในการสร้างวินัยให้กับเด็ก ๆ ช่วยให้เด็กรู้จักประหยัดอดออม และรู้จักการรอคอย เพราะกว่าที่เด็ก ๆ จะได้สิ่งของนั้น ๆ มาจะต้องใช้เวลาในการออมเงิน ดังสำนวนไทยที่ว่า "เก็บหอมรอมริบ" ซึ่งก็คือ การเก็บรวบรวมไว้ทีละเล็กทีละน้อย ค่อย ๆ เก็บสะสมจนพอกพูนมากขึ้นในที่สุด นอกจากนี้ การออมยังเป็นหนึ่งในปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ซึ่งเป็นปรัชญาที่ชี้แนวทางการดำรงชีวิต และแนวทางการปฏิบัติตนของคนทุกระดับ ตั้งแต่ระดับสังคม ชุมชน ไปจนถึงระดับครัวเรือน หรือแม้แต่ในเด็กเล็ก ๆ เพื่อปลูกฝังให้เด็กรู้จักอดออม เติบโตอย่างสมวัย และมีการดำเนินชีวิตที่ปลอดภัย

กิจกรรมปลูกฝังและส่งเสริมการออม สำหรับเด็กปฐมวัย
เย้ ๆ ได้เงินมาแล้ว หยอดกระปุกออมสินดีกว่า

ก่อนจะสอนให้เด็กรู้จักวิธีการออม เรามาทำความเข้าใจกับพฤติกรรมของเด็กที่พบเห็นกันได้บ่อย จากการงอแง เอาแต่ใจ อยากได้ของเล่นต่าง ๆ เวลาอยู่นอกบ้านซึ่งผู้ปกครองสามารถสังเกตได้คือ

พฤติกรรมเด็กจากสถานการณ์ที่เห็นกันบ่อย ๆ เกือบทุกบ้านพบเจอปัญหาเหล่านี้ของเด็ก ๆ คือพฤติกรรมการ ร้องไห้โวยวายตามสถานที่ต่าง ๆ เช่น ซุปเปอร์มาร์เก็ต ตลาด หรือห้างสรรพสินค้า โดยเราสามารถสังเกตได้เวลาคุณแม่ออก ไปซื้อของไม่ว่าจะเป็นตลาดหรือซุปเปอร์มาร์เก็ตเด็ก ๆ จะรบเร้า ร้องที่จะซื้อของเล่นหรือขนมต่าง ๆ ที่เป็นสิ่งล่อตาล่อใจไม่ว่าจะ ด้วยสีสันหรือรูปลักษณ์ก็ตาม

เด็กกำลังร้องให้ร้อง งอแง อยากได้สิ่งของ
แง แง หนูอยากได้ไดโนเสาร์

ครูแหม่มมีวิธีการแก้ไขพฤติกรรมเหล่านี้ของเด็ก ๆ จากสถานการณ์ง่าย ๆ และสามารถนำไป ปรับใช้กับเด็ก ๆ ได้นะคะ สำหรับครูแหม่มเองค่อนข้างโชคดี คือน้องจะรับฟังเหตุผลที่ครูแหม่มบอก สมมติว่าเราเข้าซุปเปอร์มาร์เก็ต น้องเห็นของเล่นแล้วบอกว่าอยากได้ ครูแหม่มก็จะบอกกับน้องว่าของเล่นชิ้นนี้ที่บ้านเราก็มี เพียงแต่มันคนละสี คนละแบบแต่มีวิธีการเล่นเหมือนกันกับของเล่นที่บ้านเราเลยนี่คะ เราไม่จำเป็นต้องซื้อแล้วค่ะ พร้อมทั้งบอกเหตุผลว่า ถ้าเราซื้อไปก็จะไปซ้ำกับของเล่นที่บ้าน

ผู้ปกครองกำลังพูดคุยกับเด็กเมื่ออยากได้ตุ๊กตา
คุณแม่คะหนูอยากได้ตุ๊กตาตัวนี้ค่ะ

จากนั้นก็ให้เค้าได้จับและสัมผัสดูอยู่สักพักนึง เพื่อให้เค้าพิจารณาดูว่าของเล่นชิ้นนี้ที่บ้านเรามีแล้วจริง ๆ เมื่อเด็กมั่นใจแล้วว่าจริงเหมือนที่คุณแม่บอกเค้าจะวางของเล่นชิ้นนั้นลงแล้วยอมเดินจากไปแต่โดยดี แบบไม่ต้องมีพฤติกรรมลงไปนอนดิ้นที่พื้นร้องไห้โวยวายค่ะ เพียงแค่เรามีเหตุผลให้เค้าแล้ว เด็กก็จะคิดวิเคราะห์แยกแยะดูถึงเหตุผลที่ผู้ปกครองบอกได้เอง โดยที่เราไม่ต้องดุเด็กหรือใช้อารมณ์เลย ซึ่งการใช้คำพูดที่ไม่ดีกับเด็กหรือการใช้คำพูดเชิงต่อว่าเด็กนั้นครูแหม่มคิดว่าเหมือนเป็นการทำให้เด็กเกิดการต่อต้านมากกว่าที่จะเชื่อฟังนะคะ

ปลูกฝังการออม

คราวนี้เรามาดูวิธีการเป็นแบบอย่างที่ดีสำหรับการส่งเสริมการออมให้เด็กเรียนรู้เกี่ยวกับวิธีการต่าง ๆ ที่เด็ก ๆ สามารถหาเงินออมได้ด้วยตัวเอง ซึ่งเป็นวิธีที่ดีสำหรับเด็ก ๆ ในการเรียนรู้ทักษะชีวิตจริง จะทำให้เด็กรู้ว่าถ้าเด็ก ๆ รู้จักการใช้จ่ายอย่างประหยัด โดยสร้างความเข้าใจให้เด็กรู้ว่าเงินคืออะไร ซึ่งผู้ปกครองสามารถชี้นำความเข้าใจนั้นด้วยกิจกรรมง่าย ๆ ที่ผู้ปกครองกับเด็ก ๆ อาจจะช่วยกันทำได้ ดังนี้

การประดิษฐ์กระปุกออมสิน ผู้ปกครองอาจจะให้เด็กประดิษฐ์กระปุกออมสินน่ารัก ๆ จากเศษวัสดุเหลือใช้ภายในบ้าน เช่น ออมสินจากแกนกระดาษทิชชู่ กล่องนม ขวดน้ำ ฯลฯ แต่ที่สำคัญต้องแน่ใจว่าเด็กพร้อมที่จะทำโดยไม่เป็นการบังคับ นอกจากเด็กจะได้ลงมือทำด้วยตัวเองแล้วเด็ก ๆ ยังได้ใช้จินตนาการในการสร้างสรรค์ผลงาน มีความสุขสนุกสนานแล้วยังสร้างความภูมิใจในผลงานของเด็กเองอีกด้วยค่ะ

ตัวอย่างกระปุกออมสินจากเศษวัสดุเหลือใช้
ตัวอย่างกระปุกออมสินน่ารัก แบบต่าง ๆ จากเศษวัสดุเหลือใช้

การสร้างกฎกติกา โดยผู้ปกครองอาจจะกำหนดตารางงานบ้านที่เด็กช่วยเหลือได้เล็ก ๆ น้อย ๆ เช่น ล้างจาน พับผ้า ล้างผัก รดน้ำต้นไม้ กวาดถูบ้าน ฯลฯ เมื่อเด็กช่วยทำงาน ผู้ปกครองอาจให้เป็นเงินเล็ก ๆ น้อย ๆ เป็นค่าแรงแลกกับการทำงานบ้าน ซึ่งผู้ปกครองต้องอธิบายให้เด็ก ๆ เข้าใจด้วยว่าที่คุณแม่ให้เงิน เพราะเห็นว่าลูกมีน้ำใจช่วยเหลืองานบ้าน แม่ก็จะให้เงินเป็นค่าตอบแทน เมื่อลูกอยากได้ของใช้หรือของเล่นอะไรก็ให้เก็บออมจากเงินที่แม่ให้ เมื่อเก็บได้ครบตามจำนวน ก็ให้เอาเงินออมนั้นไปซื้อของที่ลูกอยากได้

เด็กกำลังทำงานบ้านอย่างตั้งใจ
เด็กกำลังทำงานบ้านอย่างตั้งใจ

สำหรับครูแหม่มเองที่บ้านมีกระปุกออมสินอยู่หลายใบในแต่ละใบของกระปุกน้องเค้าก็จะเขียนไว้ข้างกระปุกออมสินแต่ละอันว่ากระปุกนี้ต้องการซื้ออะไร กระปุกถัดไปอยากซื้ออะไรน้องก็จะเขียนกำกับไว้ซึ่งมันก็เป็นอีกหนึ่งของการส่งเสริมให้เด็ก ๆ รู้จักการอดทนและการรอคอยได้ดี เพราะกว่าจะเก็บเงินให้ได้ครบก็ต้องใช้เวลา

เมื่อน้องมีเงินเหลือมาจากโรงเรียน หรือได้เงินจากการช่วยเหลืองานบ้าน น้องก็จะนำมาเฉลี่ยหยอดกระปุกในแต่ละใบของเค้า พอเค้าหยอดไปได้สักพัก เราก็จะคอยถามเสมอ ๆ เช่น กระปุกที่หนูเขียนว่าซื้อตุ๊กตาใกล้จะครบหรือยังคะ แล้วจำนวนเงินที่หนูออมไว้กับราคาตุ๊กตาที่อยากได้ใกล้ครบรึยัง ซึ่งครูแหม่มจะบอกน้องว่า ถ้าอย่างนั้นเรามาช่วยกันนับแล้วกันว่าหนูหยอดได้กี่บาทแล้ว หรือถ้ายังไม่ครบจะขาดอีกกี่บาท และให้เด็ก ๆ เขียนไว้ข้าง ๆ กระปุกออมสิน ว่าแต่ละครั้งที่เรานับมีจำนวนเงินเท่าไหร่นั่นเองค่ะ

ผู้ปกครองและเด็กกำลังช่วยกันนับจำนวนเงิน
ผู้ปกครองและเด็กกำลังช่วยกันนับจำนวนเงินที่ได้จากการออม

ซึ่งกิจกรรมการนับเหรียญนี้เป็นอีกกิจกรรมที่เด็ก ๆ รู้สึกตื่นเต้นและสนุกสนานกับการนับเงิน นอกจากจะเรียนรู้การนับจำนวนแล้วเด็กยังได้รู้จักการจำแนกเหรียญ 1, 2, 5,10 บาท และแบงค์ 20, 50, 100 บาท การสอนเด็ก ๆ เรื่องการประหยัดเงินอาจจะดูเป็นเรื่องยากสักหน่อยแต่เราสามารถสอนเด็กแบบค่อยเป็นค่อยไปปลูกฝังทีละเล็กละน้อยให้เด็กได้ทำบ่อย ๆ จนติดเป็นนิสัยได้ไม่ยากค่ะ และหนึ่งสิ่งสำคัญที่สุดที่ผู้ปกครองสามารถทำได้คือเริ่มการสนทนาเกี่ยวกับการใช้เงินและความสำคัญของการประหยัด สอนให้เด็ก ๆ เห็นคุณค่าของเงินผ่านสถานการณ์ พร้อมทั้งยกตัวอย่างในชีวิตจริงจะช่วยให้เด็กเข้าใจว่าเงินนั้นมาจากไหน แล้วได้รับมาอย่างไร ครูแหม่มเชื่อว่าถ้าเราปลูกฝังการออมให้เด็ก ๆ ตั้งแต่อายุน้อย ๆ เด็กจะมีรากฐานและสร้างนิสัยในการใช้เงินที่ดีต่อไปในอนาคตได้ค่ะ