ในช่วงปี ๆ นึง เรามักจะพบเจอโรคภัยที่แตกต่างกันไปในแต่ละฤดูกาล โดยเฉพาะในช่วงฤดูฝน การเปลี่ยนแปลงของอากาศในแต่ละวัน เดี๋ยวร้อน เดี๋ยวหนาว หรือพอฝนตกอากาศก็จะเย็นลง พอมีความชื้นก็จะทำให้เชื้อโรคเจริญเติบโตได้ดี เพื่อให้เรารู้เท่าทันโรคภัย ผู้ปกครองและครูก็จะต้องคอยสังเกตเด็ก ๆ ให้มากขึ้นกว่าปกติ เพื่อช่วยป้องกันให้เด็กห่างไกลจากโรคภัยที่มาในช่วงฤดูฝน เพราะการที่เด็ก ๆ อยู่ในสังคมใหญ่ ที่มีคนอยู่รวมกันเยอะ และมีการทำกิจกรรมต่าง ๆ ร่วมกันกับคนหมู่มาก อาจทำให้เด็กมีความเสี่ยง ในการสัมผัสกับเชื้อโรคและไวรัสต่าง ๆ ได้ง่ายค่ะ

ในบทความนี้ครูแหม่มเลยอยากชวนผู้ปกครอง หรือครูหมั่นสังเกตและดูแลเด็ก ๆ เป็นพิเศษเกี่ยวกับโรคภัย ผ่านการแชร์ประสบการณ์เกี่ยวกับ โรคที่พบบ่อยในเด็กอนุบาล ที่ครูแหม่มเจอมา และรวบรวม 6 โรคหน้าฝน ที่พบบ่อยในเด็กวัยอนุบาล ทั้งสาเหตุ อาการ และวิธีป้องกันมาฝากกันค่ะ จะมีโรคอะไรบ้างนั้นเราไปดูพร้อม ๆ กันเลยค่ะ

โรคหน้าฝน ที่พบบ่อยในเด็กวัยอนุบาล
โรคหน้าฝน ที่พบบ่อยในเด็กวัยอนุบาล

การดูแลเด็กป่วยที่โรงเรียน

จากประสบการณ์ของครูแหม่ม สมัยเป็นคุณครูอนุบาล พอเข้าช่วงฤดูฝน เด็ก ๆ ก็จะมาโรงเรียนพร้อมกับการมีน้ำมูกกันเกือบครึ่งห้อง และตามมาด้วยอาการไอ จาม มีเสมหะ กันแทบทุกคน แต่ในสมัยนั้นเชื้อโรคยังไม่เยอะเหมือนในสมัยนี้นะคะ ถ้าหน้าฝนการเจ็บป่วยของเด็ก ๆ ที่ฮิตมากก็น่าจะเป็นไข้หวัดใหญ่ และไข้หวัดปกติ ซะส่วนใหญ่

ในเด็กบางคนเมื่อมีอาการป่วยมาเรียน ผู้ปกครองก็จะแจ้งว่ามียามาฝากให้ครูแหม่มช่วยป้อนยาให้ด้วยนะคะ เพราะมีกรณีที่อยู่บ้านน้องไม่ทานยาเลย ผู้ปกครองป้อนให้ก็บ้วนทิ้ง หรือไม่ก็อาเจียนออกมาหมด ก็เลยฝากมาให้ครูป้อนยาให้ อันนี้เรื่องจริงเลยค่ะ อะไรที่ผู้ปกครองทำไม่สำเร็จ ครูจะทำสำเร็จทุกเรื่อง ในกรณีที่เด็กกินยายาก ผู้ปกครองสามารถปรึกษาคุณครูประจำชั้นให้ช่วยป้อนยาได้นะคะ เพราะเด็กส่วนมากจะไม่ปฏิเสธ เวลาครูป้อนยาให้ ทุกครั้งที่ครูแหม่มป้อนยา เด็กกลืนลงคอ ไม่มีเหลือหรือบ้วนทิ้งเลยค่ะ

การดูแล และคอยป้อนยาเด็กที่มีอาการป่วย
การดูแล และคอยป้อนยาเด็กที่มีอาการป่วย

ครูแหม่มเคยเจอเคสนึง เด็กมาโรงเรียนปกติแต่ผู้ปกครองแจ้งไว้ตอนมาส่งว่า น้องดูซึม ๆ ฝากคุณครูดูด้วยนะคะ เนื่องจากที่บ้านไม่มีผู้ดูแล ในระหว่างวันน้องดูซึม ๆ ครูแหม่มก็จับตัวน้องดูตัวรุม ๆ พอเห็นอาการน้องแล้ว สิ่งที่ครูแหม่มเตรียมไว้เลยคือ ปรอทวัดไข้ ผ้าขนหนูผืนเล็กพร้อม น้ำ 1 กะละมัง จากนั้นปูที่นอนไว้รอ แล้วทุก ๆ 1 ชั่วโมงครูแหม่มก็จะคอยสังเกต และวัดไข้ให้น้อง

ส่วนยาแก้ไข้ สำหรับตัวครูแหม่ม จะถามผู้ปกครองไว้ก่อนเลยค่ะ ว่าถ้าน้องมีไข้คุณครูสามารถป้อนยาแก้ไข้ให้น้องเลยได้ไหม… หรือน้องแพ้ยาอะไรบ้าง.. อันนี้ในกรณีฉุกเฉิน ที่ผู้ปกครองไม่ได้เตรียมยามาให้นะคะ ครูแหม่มจะไม่ตัดสินใจให้ยาน้องเองโดยพลการ หรือให้ยาโดยไม่โทรแจ้งผู้ปกครองก่อนค่ะ อันนี้เป็นสิ่งที่ต้องระวังอย่างมากค่ะ เพราะหากเด็กมีอาการแพ้รุนแรง อาจทำให้อาการของเด็กแย่ลงได้

เมื่อเด็กไม่สบาย ต้องคอยตรวจดูอาการบ่อย ๆ
เมื่อเด็กไม่สบาย ต้องคอยตรวจดูอาการบ่อย ๆ

สักพักน้องเริ่มมีไข้สูงขึ้น ครูแหม่มเช็ดตัวให้ จากนั้นให้น้องจิบน้ำ ดื่มนม ก็อาเจียนออกมาหมด ครูแหม่มจึงโทรแจ้งผู้ปกครอง บอกอาการให้ชัดเจน แล้วแนะนำให้ผู้ปกครองมารับไปพบแพทย์จะดีกว่า เพราะน้องอาเจียนและไข้สูง สรุปเมื่อพาไปพบแพทย์แล้ว ผู้ปกครองแจ้งกลับมาว่าน้องเป็นไข้เลือดออกค่ะ เพราะฉะนั้นเราจึงไม่ควรมองข้ามสิ่งเหล่านี้นะคะ การเป็นครูไม่ใช่แค่สอนเด็กอย่างเดียว ต้องหมั่นคอยสังเกต ดูแลเด็กอย่างทั่วถึง และไวต่อทุกสถานการณ์ค่ะ

6 โรคหน้าฝน ที่พบบ่อยในเด็กวัยอนุบาล

ในช่วงฤดูฝน เด็กเล็ก ๆ หรือเด็กในวัยอนุบาล จะป่วยกันบ่อย ผู้ปกครองบางกลุ่มกลัวถึงขั้นไม่อยากให้เด็กไปโรงเรียนเลยก็มี จากประสบการณ์ เคยมีผู้ปกครองที่อยู่ในละแวกบ้านครูแหม่ม ซึ่งครูแหม่มก็สังเกตุเห็นน้องไม่ไปโรงเรียนบ่อย ๆ พอมีโอกาสครูแหม่มก็ได้ถามผู้ปกครองของน้องคนนี้ไปว่า “น้องไม่สบายหรือคะคุณแม่ เห็นไม่ไปโรงเรียน” คุณแม่น้องก็ตอบว่า “เปล่าค่ะ แต่ไม่อยากให้น้องไปโรงเรียนเลย ไปทีไรกลับมาบ้านไม่สบายมีน้ำมูกทุกที เลยให้หยุด” ครูแหม่มเลยอธิบายให้คุณแม่น้องเข้าใจว่า มันเป็นเรื่องปกติค่ะคุณแม่ เด็กเล็ก ๆ ภูมิคุ้มกันในตัวยังมีน้อย ไม่ใช่เรื่องแปลกที่จะป่วย ยิ่งถ้าคุณแม่ไม่ปล่อยน้องไปเจอสิ่งต่าง ๆ บ้าง น้องก็จะยิ่งไม่มีภูมิคุ้มกันนะคะ

สิ่งที่ผู้ปกครองอย่างเราทำได้ คือช่วยดูแลสุขอนามัยเด็กเมื่อเค้ากลับมาจากโรงเรียน ให้เด็กรีบอาบน้ำ สระผม ทำความสะอาดร่างกาย เมื่อกลับมาจากโรงเรียนทุกครั้ง แล้วในปัจจุบันโรงเรียนต่าง ๆ ก็มีมาตรการ ตรวจ วัดไข้ ดูฝ่ามือ และตรวจดูช่องปากเด็ก ๆ ก่อนเข้าโรงเรียนในทุก ๆ เช้าค่ะ แต่เพื่อป้องกันสุขภาพเด็ก ๆ ให้ห่างไกลโรคต่าง ๆ ในช่วงหน้าฝนนี้ เรามาดูกันว่าโรคที่พบกันบ่อย ๆ ในหน้าฝนนี้มีอะไรบ้าง เพื่อเฝ้าระวังและป้องกันให้ทันท่วงทีค่ะ

1. ไข้เลือดออก

ไข้เลือดออกเป็นโรคที่พบได้บ่อยที่สุดโรคหนึ่งในฤดูฝน และส่งผลกระทบต่อเด็กและผู้ใหญ่จำนวนมากในปัจจุบัน ไข้เลือดออกมองดูผิวเผินอาการแรก ๆ อาจจะมีแค่ไข้สูง 1-3 วันซึ่งบางทีผู้ปกครองเองก็ไม่สามารถวินิจฉัยได้ว่าลูกเราเป็นอะไรหรือคิดไปเองว่าเป็นแค่ไข้หวัดธรรมดาครูแหม่มแนะนำนะคะสำหรับครูแหม่มถ้าเด็กเป็นไข้เกิน 1 คืน เช้ามาแล้วไข้ไม่ลดไปพบแพทย์จะเป็นทางเลือกที่ดีที่สุด เพื่อป้องกันและลดความเสี่ยงที่เด็กจะเป็นหนักได้และสำหรับเด็กวัยนี้ไม่ควรซื้อยารับประทานเองนะคะเพราะบางครั้งตัวยาก็อาจจะห้ามใช้กับไข้เลือดออกอาจทำให้อาการรุนแรงขึ้นค่ะ

ไข้เลือดออก ที่เกิดจากยุงลายเป็นพาหะนำเชื้อโรคแพร่สู่คน
ไข้เลือดออก ที่เกิดจากยุงลายเป็นพาหะนำเชื้อโรคแพร่สู่คน

สาเหตุ เกิดจากการติดเชื้อไวรัสเดงกี (Dengue virus) โดยมียุงลายเป็นพาหะนำโรคมาสู่คน มักระบาดในช่วงฤดูฝนของทุกปี เนื่องจากฝนตกหนัก ทำให้มีแอ่งน้ำขัง ซึ่งจะเป็นแหล่งเพาะพันธ์ยุงลายชั้นดี

อาการ เมื่อเราสังเกตเห็นอาการมีไข้ มีอาการหนาวสั่น มีผื่นแดงขึ้นตามตัวและใบหน้า อาเจียน ปวดเมื่อยร่างกาย มีเลือดออกควรไปพบแพทย์นะคะ

การป้องกัน การกำจัดยุงลาย เป็นวิธีที่ป้องกันไม่ให้เชื้อแพร่สู่คนได้ สำหรับเด็ก ๆ ควรให้สวมเสื้อผ้าปิดมิดชิด เช่น เสื้อแขนยาว กางเกงขายาว และหมั่นตรวจสอบบริเวณรอบ ๆ บ้าน ว่ามีหลุมบ่อที่ทำให้มีน้ำขังหรือไม่ ถ้ามีแนะนำให้หาหินทรายมากลบ และเมื่อจำเป็นต้องออกข้างนอก อาจจะทายากันยุงเพื่อป้องกันยุงก็ใช้ได้ค่ะ

2. ไข้หวัดใหญ่

เป็นโรคที่พบได้ตลอดปี จะเป็นกันมากในช่วงหน้าฝน และไข้หวัดใหญ่ถ้าเด็กเป็นจะอันตรายกว่าไข้หวัดธรรมดา เพราะในปัจจุบันไข้หวัดใหญ่มีหลากหลายสายพันธ์ุ สายพันธ์ุที่รู้จักกันดี คือ สายพันธ์ุ A B และ C ซึ่งสายพันธ์ A เป็นสายพันธ์ุที่อันตรายที่สุด และกลุ่มเสี่ยงก็จะเป็นเด็กในวัยอนุบาล เพราะฉะนั้นเพื่อให้รู้เท่าทันโรค เรามาดูสาเหตุและอาการเบื้องต้นของไข้หวัดใหญ่กันค่ะ

ไข้หวัดใหญ่ ที่เด็ก ๆ จะเป็นกันมากในช่วงหน้าฝน
ไข้หวัดใหญ่ ที่เด็ก ๆ จะเป็นกันมากในช่วงหน้าฝน

สาเหตุ เกิดจากเชื้อไวรัสที่ติดต่อได้ง่าย และแพร่กระจายอย่างรวดเร็วในอากาศ เข้าสู่ร่างกายทางจมูก คอ ที่ส่งผลกระทบทางเดินหายใจส่วนบน การสัมผัสถูกสารคัดหลั่งแล้วสัมผัสบริเวณใบหน้า ซึ่งมีช่องทางให้เชื้อโรคเข้าสู่ร่างกายได้ง่าย ในเด็กวัยอนุบาลเวลาเล่นใกล้ชิดกับเพื่อน ๆ ที่โรงเรียนก็อาจติดเชื้อจากเพื่อน ๆ ได้ค่ะ

อาการ มีไข้สูง ปวดเมื่อยตามตัว คัดจมูก ระคายคอ สามารถทำให้เกิดโรคแทรกซ้อนได้ด้วยนะคะ เช่น ปอดอักเสบ ถ้ารุนแรงอาจเสียชีวิตได้

การป้องกัน เลือกรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ มีโภชนาการที่สมดุล เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันที่แข็งแรง ป้องกันไวรัสไม่ให้เข้ามาในร่างกาย สำหรับเด็กเล็ก ๆ ควรได้รับวัคซีนไข้หวัดใหญ่ ซึ่งสามารถฉีดได้ตั้งแต่อายุ 6 เดือน และเด็กที่มีอายุ 6 เดือนถึง 9 ปี ที่ไม่เคยฉีดวัคซีนมาก่อนเลย จะได้ฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ 2 เข็มห่างกัน 1 เดือน และหลังจากนั้นจะฉีดปีละ 1 เข็มค่ะ

3. โรคตาแดง (เยื่อบุตาอักเสบ)

โรคตาแดง เป็นโรคระบาดทางตาที่สามารถติดต่อกันได้ง่ายและรวดเร็ว โรคนี้เราสามารถสังเกตได้ง่าย ๆ ครูแหม่มจะคอยสังเกตเวลาเห็นเด็กชอบขยี้ตาบ่อย และถี่มากในตอนเริ่มแรกตาอาจจะยังไม่ค่อยแดงสักเท่าไหร่ แต่เมื่อเด็กขยี้ตาบ่อยขึ้นหรือกระพริบตาถี่ ๆ ถ้าเห็นว่าตาเริ่มแดงผิดปกติ ครูแหม่มก็จะให้เด็กล้างมือให้สะอาด สำรวจเล็บถ้ายาวก็ตัดให้สั้น และใช้สำลีชุบน้ำเกลือเช็ดตาให้เด็ก หรือล้างตาด้วยน้ำยาล้างตา ถ้ามีผ้าปิดตาก็ปิดให้เด็ก เพื่อป้องกันการขยี้ตาและไม่ให้เชื้อโรคแพร่ไปที่ตาอีกข้าง หรือแพร่ไปติดเด็กคนอื่น ๆ จากนั้นควรโทรให้ผู้ปกครองมารับไปพบแพทย์ค่ะ

โรคตาแดง ที่เกิดจากการใช้มือที่ไม่สะอาดถู หรือขยี้ตา
โรคตาแดง ที่เกิดจากการใช้มือที่ไม่สะอาดถู หรือขยี้ตา

สาเหตุ เกิดจากเชื้อไวรัสอะดีโน (Adenovirus) หรือ เชื้อแบคทีเรีย ไม่ใช่โรคที่รุนแรง และสามารถหายได้เองภายในระยะเวลาประมาณ 2 สัปดาห์ มักพบในกลุ่มเด็กมากกว่าผู้ใหญ่ เพราะเด็กจะไม่ค่อยระมัดระวังในการสัมผัสสิ่งต่าง ๆ ทั้งชอบขยี้ตา และถูตา จึงเกิดการแพร่เชื้อได้ง่าย

อาการ คันตา เคืองตา รู้สึกเหมือนมีสิ่งแปลกปลอมในดวงตา ตาแดง มีน้ำตาไหล มีขี้ตามาก และอาจมีตุ่มเล็ก ๆ ขึ้นตามเปลือกตา

การป้องกัน ไม่ใช้สิ่งของร่วมกับผู้ป่วย หลีกเลี่ยงการสัมผัสหรือขยี้บริเวณดวงตา ให้ใช้กระดาษทิชชูแบบนุ่มแทนการใช้มือ และหมั่นล้างมือด้วยสบู่บ่อย ๆ

4. มือ เท้า ปาก

โรคนี้จะพบได้เกือบทุกฤดู แต่เด็กจะเป็นกันมากในฤดูฝน ครูแหม่มมีประสบการณ์กับทั้ง เด็กที่อยู่ในโรงเรียน และเด็กที่บ้านเลยค่ะ ที่เรามองเห็นได้ชัดเลย คือกลับมาจากโรงเรียนน้องจะดูซึม ๆ ไม่ค่อยร่าเริง มีไข้เล็กน้อย เมื่อเราเห็นอาการเด็กเป็นอย่างนี้แล้ว ให้ผู้ปกครองหงายฝ่ามือดูว่ามีตุ่มใสหรือไม่ จากนั้นให้เด็กอ้าปาก ถ้าที่บ้านมีไฟฉายให้ส่องดูในช่องปาก เพื่อจะได้เห็นชัดเจนว่ามีตุ่มใสขึ้นตามกระพุ้งแก้มและลิ้นหรือไม่ เพราะถ้าดูผิวเผินอาจจะคล้าย ๆ ร้อนใน แต่ถ้าเป็นมือ เท้า ปาก ตุ่มในปากจะเยอะกว่าปกตินะคะ ถ้าเจอแบบนี้รีบพาเด็กไปหาหมอเลยจะดีที่สุดค่ะ ถ้าปล่อยไว้อาจจะเป็นหนักจนเจ็บในช่องปากทานข้าวหรือน้ำไม่ได้เลย แต่โชคดีของครูแหม่มพอเห็นอาการผิดปกติ ิก็รีบพาน้องไปพบแพทย์ น้องจึงมีอาการไม่มากค่ะ

มือ เท้า ปาก โรคติดต่อที่เด็ก ๆ เป็นกันเยอะมาก
มือ เท้า ปาก โรคติดต่อที่เด็ก ๆ เป็นกันเยอะมาก

สาเหตุ เกิดจากเชื้อไวรัสกลุ่มเอนเทอโรไวรัส (Enterovirus) สามารถติดต่อได้ทั้งการไอ จาม น้ำลาย หรือการหยิบจับสิ่งของและใช้สิ่งของร่วมกัน จะพบกันเยอะมากในเด็กที่มีอายุไม่เกิน 5 ปี แต่ก็สามารถเกิดกับผู้ใหญ่ได้เหมือนกันนะคะ

อาการ เริ่มแรกจะพบตุ่มน้ำใสบริเวณ ข้อพับ ฝ่ามือ จักแร้ กระพุ้งแก้ม ตามด้วยการมีไข้สูง และเมื่อเกิดแผลในปาก จะทำให้เด็กไม่อยากรับประทานอาหารหรือน้ำ เพราะเจ็บแผลในปาก เด็กจะมีอาการดีขึ้นภายใน 3-5 วัน จากนั้นตุ่มน้ำใสและอาการต่าง ๆ ก็จะหายเองได้ค่ะ แต่ในบางราย ถ้าเกิดอาการแทรกซ้อน ก็อาจทำให้เสียชีวิตได้นะคะ (เด็กที่บ้านครูแหม่มเคยเป็น พาไปพบแพทย์เค้าจะให้ยาชาขวดเล็ก ๆ มาผสมน้ำให้เด็กกลั้วในปาก เพื่อบรรเทาอาการเจ็บแผลในปากค่ะ)

การป้องกัน หลีกเลี่ยงการคลุกคลีหรือใกล้ชิดกับผู้ป่วย ที่สำคัญคือควรแยกสิ่งของเครื่องใช้ หมั่นล้างมือบ่อย ๆ และล้างทำความสะอาดของเล่นบ่อย ๆ คอยกำชับเด็กไม่ให้นำของเล่นเข้าปาก เวลาไอ จาม ให้ปิดปากเสมอ ในปัจจุบันมีวัคซีนป้องกัน Enterovirus 71 ซึ่งเป็นไวรัสตัวหนึ่งที่ทำให้เกิดโรคมือเท้าปาก จากไวรัสที่มีอยู่หลายชนิดที่ก่อให้เกิดเชื้อไวรัสนี้ และเนื่องจากวัคซีนนี้มีราคาสูง จึงยังไม่เป็นที่แพร่หลายในปัจจุบัน

5. อีสุกอีใส

เป็นอีกโรคที่เกิดจากเชื้อไวรัสเป็นอีกโรคที่เกิดขึ้นบ่อย ติดต่อได้ง่ายไม่ว่าจะเป็นที่โรงเรียน สถานรับเลี้ยงเด็ก หรือแม้แต่ตามชุมชนที่อยู่อาศัย และสามารถเกิดขึ้นได้ตลอดทั้งปี โรคนี้จะคล้าย ๆ กับมือเท้าปากนะคะ เพราะเป็นตุ่มใส ๆ ขึ้นบริเวณใบหน้า แขน ข้อพับ ฯลฯ ในปัจจุบันการฉีดวัคซีนอีสุกอีใส ทำได้ง่าย มีความปลอดภัยสูง มีประสิทธิภาพในการช่วยลดความรุนแรง และป้องกันการเกิดโรคอีสุกอีใสได้อีกด้วยค่ะ

อีสุกอีใส โรคติดต่อที่จะมีตุ่มใส ๆ ขึ้นตามตัว
อีสุกอีใส โรคติดต่อที่จะมีตุ่มใส ๆ ขึ้นตามตัว

สาเหตุ เกิดได้จากการสัมผัสถูกตุ่มน้ำโดยตรง หรือการสัมผัสสิ่งของเครื่องใช้ที่เปื้อนตุ่มน้ำของคนที่เป็นอีสุกอีใส การหายใจเอาละอองของตุ่มน้ำผ่านไปทางเยือเมือก มีระยะฟักตัว 10-20 วัน

อาการ ในเด็กจะมีไข้ต่ำ ๆ อ่อนเพลียเบื่ออาหาร และภายใน 1-2 วันก็จะมีตุ่มหรือผื่นขึ้นในบางคนจะเริ่มจากลำตัว ใบหน้า และลามไปที่แขน ขา แผ่นหลัง หรืออาจจะมีตุ่มขึ้นในช่องปากทำให้ปากและลิ้นเปื่อย มีอาการเจ็บคอ ระยะเวลาของโรคหลังมีตุ่มน้ำใสแล้วจะตกสะเก็ดโดยประมาณ1-3 สัปดาห์ก็จะหาย

การป้องกัน อีสุกอีใสแม้จะเป็นโรคที่ไม่รุนแรงในเด็กมักจะเป็นโรคที่หายได้เอง ถ้าไม่มีโรคแทรกซ้อน การรักษาตามอาการ ให้เด็กหยุดเรียนพักผ่อนให้มาก ตัดเล็บทั้งผู้ปกครองและเด็กให้สั้น และไม่แกะเกาแผลจะทำให้เป็นแผลแดงได้ค่ะ ให้ดื่มน้ำเยอะ ๆ ถ้ามีไข้สูงรับประทานยาลดไข้ และในปัจจุบันมีวัคซีนฉีดให้เด็ก ๆ ด้วยนะคะ

6. โรคฉี่หนู

โรคฉี่หนู ก็เป็นอีกหนึ่งโรคภัยที่มากับหน้าฝน จะคิดว่าไกลตัวก็อาจจะไม่ใช่นะคะ เพราะบางครั้งเราอาจไปอยู่ในสถานที่เสี่ยงโดยที่เราไม่รู้ตัว หรือบางครั้งเราก็นึกไม่ออกว่าเด็ก ๆ ไปสัมผัสอะไรที่ไหนมาบ้าง ครูแหม่มคิดว่าอย่าประมาทจะดีกว่า เพราะโรคฉี่หนูอาจไม่ได้เกิดจากการสัมผัสจากสัตว์โดยตรงเพียงอย่างเดียว มันเกิดได้จากสภาพแวดล้อมที่ฝนตก และน้ำฝนนำเอาเชื้อโรคต่าง ๆ จากการไหลมารวมกันในบริเวณหลุมบ่อที่มีน้ำขัง ซึ่งมีเชื้อแบคทีเรียของสัตว์ที่เป็นพาหะได้ บางทีเราอาจสัมผัสไปโดยไม่รู้ตัวก็ได้ค่ะ

โรคฉี่หนู เกิดจากเชื้อแบคทีเรียที่มีหนูเป็นพาหะ
โรคฉี่หนู เกิดจากเชื้อแบคทีเรียที่มีหนูเป็นพาหะ

สาเหตุ เกิดจากเชื้อแบคทีเรียที่ชื่อว่า เลปโตสไปรา (Leptospira) ที่สามารถเกิดขึ้นได้ทั้งคนและสัตว์ โดยการติดเชื้อในคนจะมีสาเหตุมาจากการรับประทานอาหาร น้ำดื่มที่ปนเปื้อนแบคทีเรียดังกล่าว รวมถึงการสัมผัส หรือได้รับแบคทีเรียทางรอยแผลที่ผิวหนัง

อาการ ผู้ที่ได้รับเชื้อจะมีอาการไข้ขึ้นสูง ปวดหัว ปวดกล้ามเนื้อ โดยเฉพาะบริเวณน่อง ตัวเหลือง คลื่นไส้ และอาเจียน หากไม่ได้รับการรักษาอย่างเหมาะสม อาจจะทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนกับตับและไต และอาจรุนแรงทำให้เยื่อหุ้มสมองอักเสบ จนถึงขั้นเสียชีวิตได้

การป้องกัน หลีกเลี่ยงการแช่ในน้ำ หรือเลี่ยงการเดินในบริเวณที่มีน้ำท่วมขัง หากหลีกเลี่ยงการลุยน้ำไม่ได้ ต้องรีบทำความสะอาดมือ และเท้าหลังลุยน้ำทันที

สำหรับบทความนี้ ครูแหม่มได้แชร์ประสบการณ์ที่พบจริงในชั้นเรียน นอกจากนั้นได้หาข้อมูลเกี่ยวกับโรคภัยที่เกิดขึ้นได้กับเด็กในวัยอนุบาลเพิ่มเติม ถึงเราจะไม่ใช่หมอ แต่การหาข้อมูลเพื่อให้รู้และแก้ไขได้ในทันที ดีกว่าไม่รู้และไม่ทำอะไรเลยกับเด็กในวัยอนุบาลนี้ เพราะบางทีเค้าอาจจะรู้สึก ปวดหัว ปวดท้อง หรือรู้สึกไม่สบายตัว ในเด็กเล็ก ๆ นี้อาจจะไม่กล้าสื่อสาร หรือไม่รู้ว่าจะเรียบเรียงคำพูดอย่างไร ก็อาจจะเลือกที่จะไม่พูดเลย ยังไงผู้ดูแลก็ควรหมั่นเช็ค คอยถามเมื่อเห็นว่าเด็กดูซึมไม่ร่าเริงค่ะ

ผู้ปกครองควรหมั่นเช็ค หมั่นถามเมื่อเห็นว่าเด็ก ๆ ดูซึมไม่ร่าเริง
ผู้ปกครองควรหมั่นเช็ค หมั่นถามเมื่อเห็นว่าเด็ก ๆ ดูซึมไม่ร่าเริง

ครูแหม่มหวังว่าบทความนี้คงเป็นประโยชน์กับผู้ปกครอง หรือคุณครูหลาย ๆ ท่านนะคะ เพื่อการเตรียมตัวรับมือเวลาเด็ก ๆ ไปโรงเรียน มักจะเจ็บป่วยได้ง่ายผู้ปกครองอาจเป็นกังวล หรือบางครอบครัวอาจจะกลัวจนไม่กล้าให้เด็กไปโรงเรียนเลยก็มี แต่การเจ็บป่วยเวลาไปโรงเรียนก็ไม่ใช่เรื่องแปลก เพราะการไปโรงเรียนยังไงก็หลีกเลี่ยงไม่ได้ ในการทำกิจกรรมต่าง ๆ กับเพื่อน ๆ จึงทำให้เด็กมีโอกาสได้รับกับเชื้อโรคได้ง่าย

แต่สำหรับครูแหม่มแล้ว การเจ็บป่วยเล็ก ๆ น้อย ๆ ก็เปรียบเสมือนการสร้างภูมิคุ้มกันให้เด็กมากขึ้นเรื่อย ๆ ถ้าเรารู้เท่าทัน หมั่นสังเกต และรู้จักวิธีการป้องกันเบื้องต้น ก็จะทำให้ผู้ปกครองคลายความกังวลกับการไปโรงเรียนของเด็ก ๆ ได้ค่ะ ยังไงก็อย่าลืมพาเด็ก ๆ ไปรับฉีดวัคซีนเด็กให้ครบตามเกณฑ์อายุนะคะ เพื่อให้เด็กมีสุขภาพใจสุขภาพกายที่ดี และมีพัฒนาการอย่างสมวัยค่ะ