โภชนาการและการรับประทานอาหารเป็นปัจจัยพื้นฐานที่สำคัญ ต่อการเจริญเติบโตและส่งผลไปถึงพัฒนาการด้านต่าง ๆ ของเด็ก ช่วยให้สมองทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ดังนั้นการส่งเสริมด้านโภชนาการและการรับประทานอาหารที่เหมาะสม นอกจากจะช่วยให้เด็กมีร่างกายที่แข็งแรงแล้ว ยังช่วยให้เด็กได้พัฒนาศักยภาพตนเองอย่างเต็มความสามารถ มีความต้านทานโรคสูง และยังเป็นการสร้างสุขนิสัยและโภชนาการที่เหมาะสมให้กับเด็กอีกด้วย
แต่ปัจจุบันปัญหาหนักอกที่คุณพ่อคุณแม่หลาย ๆ คนพบ คือ การที่เด็กไม่ยอมรับประทานผัก อีกทั้งเด็ก ๆ ยังชอบรับประทานขนมกรุบกรอบ ซึ่งส่งผลเสียต่อร่างกาย ทั้งระบบขับถ่าย ทำให้เกิดอาการท้องผูก ไม่สบายตัว ไม่ร่าเริง ร่างกายขาดภูมิต้านทานโรค และยังมีแนวโน้มให้เด็กเป็นโรคอ้วนอีกด้วย ดังนั้น คุณพ่อคุณแม่ควรฝึกให้เด็กรักการรับประทานผักตั้งแต่เล็ก ๆ เพื่อสุขภาพร่างกายที่แข็งแรงค่ะ
วิธีปลูกฝังการรับประทานผักสำหรับเด็กปฐมวัย
คุณพ่อคุณแม่ควรฝึกให้เด็กรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ตั้งแต่เล็ก โดยเฉพาะผักและผลไม้ต่าง ๆ เพื่อให้ร่างกายของเด็ก ได้รับสารอาหารที่ครบถ้วนและเพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย โดยเรามีเคล็ดลับที่จะช่วยให้เด็กรับประทานผักง่าย ๆ แบบไม่ต้องบังคับขู่เข็ญให้เหนื่อย มาฝากกัน ดังนี้
คุณพ่อคุณแม่ต้องเป็นแบบอย่างที่ดีในการรับประทานผักให้กับเด็ก โดยในทุกมื้ออาหารคุณพ่อคุณแม่ต้องรับประทานผักให้เด็ก ๆ เห็น พร้อมบอกประโยชน์ของผัก เช่น มะเขือเทศกินแล้วช่วยบำรุงผิวและทำให้ผิวสวย แครอทกินแล้วช่วยบำรุงสายตา เป็นต้น วิธีนี้จะทำให้เด็กค่อย ๆ รับรู้ว่าผักมีประโยชน์ และเปิดใจยอมรับที่จะรับประทานผักและทำตามได้ไม่ยาก
คุณพ่อคุณแม่อาจดัดแปลงอาหารที่ทำจากผักให้ดูน่ารับประทาน หรือฝึกให้เด็กรับประทานอาหารแปลก ๆ ที่ไม่เคยรับประทาน เช่น สเต็กไก่บดผสมกับผักต่าง ๆ ปั้นเป็นรูปดอกไม้หรือรูปสัตว์น่ารัก ๆ ข้าวผัดใส่ผักหรือธัญพืชที่เด็ก ๆ ทานได้อย่าง แครอท ข้าวโพด เห็ด ฟักทอง หรือต้นหอมอ่อนซอยบาง ๆ ใส่ในน้ำซุป ให้เด็กได้ลองชิมทีละน้อย แต่คุณพ่อคุณแม่ไม่ควรบังคับเด็ก ๆ ในเวลารับประทานอาหารนะคะ เพราะจะทำให้เด็กต่อต้านและจะไม่รับประทานอาหารชนิดนั้นอีกเลย
ผักบางชนิดที่คุณพ่อคุณแม่นำมาทำอาหารให้เด็ก ๆ ทาน อาจจะมีความแข็งและเหนียว คุณพ่อคุณแม่ควรนำไปต้มให้นิ่มก่อน เพื่อให้เด็กรับประทานได้ง่ายและไม่มีกลิ่นฉุน เช่น บรอกโคลี บวบ คะน้า เป็นต้น ถ้าเป็นผักกรอบ ๆ บางชนิด เช่น แตงกวา แครอท อาจนำไปแช่ให้เย็น หั่นเป็นท่อนเล็ก ๆ ให้เด็กรับประทานเล่น ๆ ก็ได้นะคะ
ในวันหยุดหรือหากมีเวลาว่าง คุณพ่อคุณแม่อาจชวนเด็ก ๆ เข้าครัวทำอาหารง่าย ๆ ที่มีผักเป็นส่วนประกอบ เช่น แกงจืดต่าง ๆ ไข่เจียวใส่ผัก แตงกวาผัดไข่ หรือ ไข่ตุ๋นใส่แครอทกับต้นหอม ให้เด็กช่วยจัดเตรียมและลงมือทำอาหารด้วยตัวเอง ซึ่งนอกจากจะสนุกสนานแล้ว ยังทำให้เด็กเกิดความภาคภูมิใจที่ได้ทานอาหารฝีมือตัวเอง และสามารถกระตุ้นการรับประทานผักให้เด็กได้เป็นอย่างดี
การให้เด็ก ๆ ได้ลงมือปลูกผักด้วยตัวเอง แม้จะเป็นแค่การหยอดเมล็ด รดน้ำ หรือช่วยหยิบจับอะไรเล็ก ๆ น้อย ๆ ไปจนถึงการดูแลรดน้ำผักในทุก ๆ วัน จะทำให้เด็กเกิดความภูมิใจและอยากจะชิมผักที่ตัวเองปลูก นับเป็นการปลูกฝังนิสัยรักการรับประทานผักให้กับเด็กอีกทางหนึ่งค่ะ
คุณพ่อคุณแม่อาจใช้จานหรือภาชนะที่มีลวดลายน่ารัก ๆ หรือเปิดการ์ตูนที่เกี่ยวกับผักให้เด็ก ๆ ดู เพื่อเป็นการดึงดูดความสนใจและกระตุ้นให้เด็กอยากรับประทานผักตาม
คุณพ่อคุณแม่อาจหาเรื่องเล่าเกี่ยวกับผัก หรือการรับประทานผักเป็นนิทานสั้น ๆ ว่ามีประโยชน์อย่างไร แล้วถ้าไม่กินผักเลยจะเป็นอย่างไร มาเล่าให้เด็ก ๆ ฟัง เพื่อเป็นการกระตุ้นความสนใจและเป็นการเสริมแรงที่ดีให้เด็กอยากรับประทานผักโดยอัตโนมัติค่ะ
การบังคับให้เด็กทานผัก นอกจากเด็กจะไม่ยอมทานผักแล้ว อาจเกิดการต่อต้าน ฝังใจ และไม่ชอบทานผักไปในที่สุด ทางที่ดีคุณพ่อคุณแม่ควรเปลี่ยนจากการบังคับ เป็นชักชวนให้เด็กลองทาน ลองชิมก่อน หากเค้าไม่ชอบหรือไม่ทาน มื้อหน้าค่อยลองใหม่ ทำแบบนี้ไปเรื่อย ๆ เด็กก็จะเริ่มคุ้นชินและทานผักได้เองในที่สุด ถึงแม้แรก ๆ จะทานได้ไม่มาก แต่อย่างน้อยเค้าก็ได้ลองทานนะคะ
สำหรับเด็กที่ไม่ยอมรับประทานผักเลย คุณพ่อคุณแม่อาจใส่ผักชิ้นเล็ก ๆ 2-3 ชิ้น ลงไปในอาหารจานโปรดของเด็ก ๆ จะช่วยทำให้เด็กทานผักได้แบบไม่รู้สึกฝืนใจค่ะ และเมื่อเด็กเริ่มรับประทานผักได้ก็ค่อย ๆ เพิ่มจำนวนผักทีละนิด โดยเปลี่ยนชนิดผักให้หลากหลายขึ้น ก็จะช่วยส่งเสริมการทานผักให้กับเด็ก ๆ ได้ค่ะ
คุณพ่อคุณแม่สามารถเริ่มให้เด็ก ๆ ทานผักผลไม้ ได้ตั้งแต่อายุ 6-8 เดือน โดยเริ่มจากผักที่ไม่มีกลิ่นฉุนหรือขม และผลไม้ที่มีรสหวานน้อย ๆ (เพื่อไม่ให้เด็กติดกับรสชาติหวานเพียงอย่างเดียว) นำมาบดให้เด็กทานอย่างน้อยวันละ 4-5 ช้อนโต๊ะ และคอยสลับสับเปลี่ยนผักและผลไม้ไปเรื่อย ๆ เพื่อให้เด็กเกิดความคุ้นเคยและรับประทานผักได้หลากหลายตั้งแต่เล็ก ๆ
สังคมโรงเรียน เป็นสังคมที่สามารถกระตุ้นให้เด็กทำสิ่งต่าง ๆ ได้อย่างเต็มที่ เมื่อผู้ปกครองไม่สามารถให้เด็กรับประทานผักได้เมื่ออยู่บ้าน ผู้ปกครองก็สามารถฝากคุณครูที่ดูแลเด็ก ให้ช่วยปลูกฝังการรับประทานผักแบบค่อยเป็นค่อยไปได้นะคะ แต่ต้องเป็นในแบบที่ไม่บังคับเด็ก คุณครูอาจทำสมุดบันทึกการรับประทานอาหารในมื้อกลางวันของโรงเรียน ว่าเมนูที่ให้เด็กรับประทานนั้นมีผักอะไรเป็นส่วนประกอบ เด็กรับประทานหมดไหม โดยให้คะแนนเป็นดาวหรือสติกเกอร์รูปน่ารัก ๆ ติดลงในช่องอาหารประจำวันแต่ละวัน แล้วส่งกลับไปให้ผู้ปกครองได้รับทราบ
ส่วนผู้ปกครองก็เขียนเมนูการรับประทานอาหารของเด็กจากที่บ้าน ว่ารับประทานเมนูอะไรแล้วให้ดาวหรือสติกเกอร์ติดมาในสมุดบันทึก แต่ในการให้คะแนนทั้งจากทางบ้านและที่โรงเรียน ควรให้เด็กรับรู้เพราะจะทำให้เด็กมีความภูมิใจและสนุกกับการรับประทานผักได้โดยอัตโนมัติ แต่อย่าลืมนะคะว่าไม่ควรบังคับเด็ก เพราะจะมีเด็กบางคนที่ไม่รับประทานผักจริง ๆ ถ้าเรายัดเยียด เมื่อให้ทานก็จะอาเจียนออกมา ท่องไว้ค่ะใจเย็น ๆ อดทน เริ่มจากชิ้นน้อย ๆ ให้คำชมเชยและกระตุ้นทุก ๆ วัน ตามวิธีที่เราแนะนำก็จะได้ผลที่ดีขึ้นตามลำดับ
การฝึกให้เด็กรับประทานผัก คุณพ่อคุณแม่ควรสอนเด็กด้วยความเข้าใจ อดทน ไม่แสดงความไม่พอใจเมื่อเด็กไม่ยอมทานผัก และควรให้คำชมเชยหรือให้กำลังใจทุกครั้งที่เด็กรับประทานผักได้ ถึงแม้จะเพียงเล็กน้อยก็ตาม เพื่อเป็นการกระตุ้นให้เด็กอยากทานผักอีกในครั้งต่อ ๆ ไป อย่างไรลองนำวิธีการเหล่านี้ไปใช้ดูนะคะ รับรองว่าจะช่วยให้เด็ก ๆ ชอบรับประทานผักมากขึ้นแน่นอนค่ะ