จากที่ครูแหม่มเคยแนะนำบทความ เรื่องแนวทางการส่งเสริมการเรียนรู้เรื่องเวลา สำหรับเด็กปฐมวัย ไปแล้ว วันนี้ครูแหม่มอยากมาสนทนาพูดคุย เรื่องการสอนวินัยในเด็ก ที่อาจจะมีเรื่องเกี่ยวกับเวลาสอดแทรกเข้ามานิดหน่อย ผู้ปกครองหลาย ๆ ท่าน คงเคยเจอปัญหาเกี่ยวกับเด็กในเรื่องวินัย ว่าจะทำยังไงให้เด็ก ๆ รู้หน้าที่ของตนเอง และจะต้องจัดสรรเวลาอย่างไรบ้าง โดยเฉพาะในเรื่องของการนอนและตื่นนอนที่เราต้องปลูกฝังทุกวัน เพื่อสร้างให้เป็นกิจวัตรประจำวันให้กับเด็กทั้งในวันปกติ (จันทร์-ศุกร์) วันหยุดสุดสัปดาห์ (เสาร์-อาทิตย์) และวันหยุดพิเศษ

ทำไม? ครูแหม่มถึงรวมวันหยุดเข้าไปด้วย

เด็กบางคนในช่วงวันหยุดสุดสัปดาห์ อาจมีวิชาเรียนพิเศษตามที่เด็กสนใจอยากเรียน หรือผู้ปกครองจัดให้ อย่างของครูแหม่ม เด็กที่บ้านก็เรียนภาษาอังกฤษ และเปียโนในวันหยุดที่เป็นคอร์สออนไลน์ การปลูกฝังและสร้างวินัยต้องอาศัยการทำทุกวัน และทำอย่างต่อเนื่องเป็นเวลานาน ดังนั้น ต่อให้เป็นวันหยุด แต่หน้าที่ของผู้ปกครองก็ยังคงต้องปลูกฝังและรักษาวินัยให้กับเด็กอยู่ดีค่ะ

ควรเริ่มสร้างวินัยให้เด็กตอนไหน

ในบทบาทความเป็นแม่ ครูแหม่มเริ่มสร้างวินัยให้กับลูกตั้งแต่ 2 ขวบครึ่ง เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมก่อนเข้าโรงเรียนให้กับเค้า อย่างการนอนและตื่นให้เป็นเวลา โดยในวันปกติที่ต้องไปโรงเรียน ครูแหม่มจะให้ลูกเข้านอน 1 ทุ่ม ตื่นตี 5 ครึ่ง ทำกิจวัตรต่าง ๆ ให้เรียบร้อยและมารอรถโรงเรียนตอน 6.00 น. ทำเป็นประจำเรื่อย ๆ จนมาถึงวัยประถม 3 ที่ครูแหม่มต้องเจอกับปัญหา น้องนอนดึกขึ้น ทำให้ตอนเช้าต้องปลุก 3-4 ครั้ง ถึงจะยอมตื่น (แม้ว่าเราจะสร้างวินัยให้กับลูกเราดีมาตลอด แต่พอเด็ก ๆ เริ่มโตขึ้น ความสนใจในสิ่งเร้ารอบข้างเยอะขึ้น ความมีวินัยก็จะลดลงตาม)

วันปกติ (จันทร์-ศุกร์)

ถ้าน้องตื่นยากหรือพูดต่อรอง (เด็กในวัย 5-7 ปี เรียนรู้ในเรื่องการต่อรองและตัดสินใจในเรื่องต่าง ๆ ด้วยตัวเองได้แล้ว) ครูแหม่มก็จะคอยพูดย้ำเสมอว่า หนูต้องรู้หน้าที่ของตัวเองว่า ในตอนเช้าลูกต้องเตรียมตัวให้พร้อม ถ้าวันไหนตื่นสายอาบน้ำแต่งตัวเสร็จแล้วตรงเวลาเข้าเรียนพอดี เช้านี้จะไม่ได้รับประทานอาหารเช้าในวันนั้น จากนั้นครูแหม่มก็จะสนทนาพูดคุยกับน้องในวันนั้น ๆ เลย พร้อมบอกเหตุผลกับเค้าเลย ว่าเพราะอะไรในเช้าวันนี้ถึงไม่ได้ทานข้าว ซึ่งตัวน้องเองก็จะเข้าใจและยอมรับในสิ่งที่เกิดขึ้น ซึ่งก็เป็นอีกหนึ่งวิธีที่เด็กจะได้เรียนรู้และเข้าใจตัวเองมากขึ้น

ครูแหม่มจะไม่เก็บข้อสงสัยของเด็กไว้ข้ามวันนะคะ เพราะรู้ว่าเด็กจะต้องมีคำถามค้างคาในใจว่าทำไม? ฉันทำผิดอะไร? เราต้องรีบอธิบายถึงเหตุและผลให้เด็กเข้าใจ) ครูแหม่มขอเน้นย้ำว่า อย่าใช้อารมณ์ในการอธิบาย เราต้องทำให้การอธิบายเป็นเรื่องปกติสบาย ๆ

วันหยุด (เสาร์-อาทิตย์)

เด็กจะรู้ว่าวันนี้เป็นวันหยุด ไม่ต้องตื่นแต่เช้าไปโรงเรียน และเมื่อถึงเวลาเข้านอนเค้าจะต่อรองในการขอช่วงเวลาเล่นเพิ่ม ทำให้กว่าจะได้นอนก็เกือบ ๆ 4-5 ทุ่ม ปกติแล้วเด็ก ๆ ไม่ควรเข้านอนเกิน 3- 4 ทุ่ม ซึ่งจริง ๆ เราควรปลูกฝังเด็กให้มีวินัย ในเรื่องเวลานอนและตื่นนอนให้เป็นปกติ เหมือนวันไปโรงเรียนในทุก ๆ วัน ส่วนตัวครูแหม่มเอง เด็กที่บ้านจะอยู่ในช่วงวัยชั้นประถมก็จะโตขึ้นมาอีกหน่อย หน้าที่ความรับผิดชอบต่อตัวเองก็ต้องมากขึ้นด้วยเช่นกัน

ครูแหม่มจะใช้วิธีการกำหนดเวลาอิสระให้น้องหลังเลิกเรียนคือจะทำอะไรก็ได้ แต่เด็กต้องรู้หน้าที่ว่า ตื่นขึ้นมาในเวลาเช้าจะต้องทำอะไร เริ่มเรียนกี่โมง และเวลาพักกี่โมง เช่น เช้ามีเรียนตื่นมาจะต้องอาบน้ำแต่งตัว รับประทานอาหารเช้าพร้อมที่จะเข้าเรียน และเมื่อเรียนเสร็จจะต้องทำงานที่ได้รับมอบหมายจากครูให้เรียบร้อย จึงจะเล่นอิสระได้

จำเป็นหรือไม่ ที่เด็กวัย 3-6 ปี ต้องดูนาฬิกาเป็น

เด็กในวัย 3-6 ปี บางคนยังดูนาฬิกาที่เป็นเข็มไม่ค่อยเป็น แต่ถ้าแบบดิจิตอลที่เป็นตัวเลข อันนี้เด็กจะเข้าใจมากกว่า สำหรับครูแหม่มเอง ไม่ค่อยซีเรียสว่าน้องจะดูนาฬิกาได้หรือไม่ ถ้าน้องยังไม่พร้อมที่จะเรียนรู้ เราอธิบายยังไงเค้าก็ไม่เข้าใจอยู่ดี ซึ่งครูแหม่มคิดว่าเป็นการบังคับหรือกดดันเกินไป ทำให้เด็กไม่อยากเรียนรู้ ไว้รอเค้าพร้อมแล้วครูแหม่มจึงค่อย ๆ สอนแล้วได้ผลจริง ๆ

ในปัจจุบันลูกครูแหม่มจะเป็นคนเดินเข้ามาถามเสียเอง ว่าตอนนี้เวลาเท่าไหร่ คุณแม่สอนหนูดูนาฬิกาได้ไหม พอเราอธิบายเค้าจะพยายามทำความเข้าใจด้วยตัวเอง และจะคอยถามว่า ตอนนี้เวลา 7 โมง 10 นาทีใช่ไหมคะ เป็นต้น ซึ่งในความเป็นจริง สำหรับเด็กเล็กที่มีอายุ 5 ปีขึ้นไป เราจะสามารถสอนให้เด็กดูนาฬิกาแบบดิจิตอลได้อย่างไม่มีปัญหา ถ้าเด็กนั้นรู้และนับเลขได้คล่อง แต่สำหรับเด็กเล็ก ๆ นั้น เราจะใช้วิธีเหมือนกับเด็กโตไม่ได้ ดังนั้น เราจะมีวิธีอย่างไร ที่จะช่วยกระตุ้นให้เด็กอยากเรียนรู้และมีส่วนร่วมกับครอบครัว ครูแหม่มมีวิธีแนะนำ ดังนี้ค่ะ

เด็กอายุ 3-5 ปี

ผู้ปกครองสามารถพูดคุยกับเด็กในเรื่องกิจวัตรประจำวันและเวลาได้อย่างง่าย ๆ และน่าสนใจ ด้วยการนำกิจกรรมเข้ามาเป็นส่วนหนึ่ง ขั้นแรกผู้ปกครองอาจชวนเด็กพูดคุยเกี่ยวกับกิจวัตรประจำวันกันว่า วันนี้ตื่นนอนกี่โมง หลังจากตื่นนอนเราจะทำอะไรต่อ และเพื่อให้เด็กเห็นภาพ ครูแหม่มจะทำตารางกิจวัตรประจำวัน มาติดไว้ในที่พอดีกับสายตา ที่เด็กสามารถดูและหยิบจับใช้ได้สะดวก ในตารางกิจวัตรประจำวัน จะประกอบไปด้วยวันปกติ (จันทร์-ศุกร์) วันหยุด (เสาร์-อาทิตย์) และครูแหม่มจะมีเครื่องมือช่วย คือเหรียญกิจวัตรประจำวัน โดยบนเหรียญจะแปะภาพการตื่นนอน อาบน้ำแปรงฟัน กินอาหาร ออกกำลัง ฯลฯ สำหรับให้เด็กมาติดว่าในทุก ๆ วันของเด็ก ๆ จะทำอะไรบ้าง เป็นการฝึกให้เด็กตั้งเป้าหมาย ว่าจะทำอะไรบ้างใน 1 วัน และจะทำได้ครบอย่างที่ตัวเองกำหนดไว้หรือไม่

 กิจกรรมสอนกิจวัตรประจำวัน สำหรับเด็ก
ในเด็กเล็กครูแหม่มจะใช้ภาพในการถาม-ตอบถึงกิจวัตรประจำวันในแต่ละวันของเด็ก
กิจวัตรประจำวันช่วย สร้างวินัยในเด็ก
ครูแหม่มให้น้องมุกวางแผนกิจวัตรของช่วงเวลากลางคืน

ซึ่งกิจกรรมแบบนี้ ครูแหม่มคิดว่าเป็นกิจกรรมที่ดีเลยทีเดียว ผู้ปกครองมีปฏิสัมพันธ์จากการถามตอบกับเด็กแบบซ้ำ ๆ ย้ำ ๆ ทุกวัน เพราะเรื่องกิจวัตรเป็นเรื่องที่เด็ก ๆ ทำเป็นประจำทุก ๆ วันอยู่แล้ว ผู้ปกครองก็ใช้คำถามเดิมกับเด็กทุกวัน ก็จะทำให้เด็กซึมซับและเรียงลำดับได้ว่า ใน 1 วันเค้าได้ทำอะไรบ้าง ผู้ปกครองอาจถามโดยแบ่งเป็น 4 ช่วงเวลา คือ เช้า เที่ยง เย็น และกลางคืน เช่น ตอนเช้าหนูทำกิจกรรมอะไรไปบ้าง เพื่อให้ง่ายต่อความเข้าใจของเด็ก และผู้ปกครองสามารถให้เด็ก ๆ มาเช็คหน้าที่ในแต่ละวันได้ว่าเด็ก ๆ ได้ทำตามที่คุยกันไว้หรือไม่ เพื่อให้เด็กคุ้นเคยกับการจัดกิจวัตรประจำวันแบบตารางรายวัน

Tip & Trick
ในช่วงเวลาที่พูดคุยเรื่องกิจวัตรหรือเด็กกำลังแปะภาพกิจกรรม ครูแหม่มก็จะมีแทรกการพูดในเรื่องเวลาเข้าไปด้วย อย่างเช่น วันนี้หนูตื่น 7 โมงเช้า เรากินข้าวเที่ยง คือตอน 12 นาฬิกา เป็นต้น เพื่อเป็นการปูพื้นฐานและสร้างความคุ้นเคยเกี่ยวกับตัวเลของนาฬิกา โดยการเชื่อมโยงเข้ากับกิจวัตรประจำวันของเด็กค่ะ ในกรณีที่ผู้ปกครองไม่พร้อมในเรื่องเครื่องมือช่วย ก็สามารถใช้การจดบันทึกธรรมดาแทนก็ได้ แล้วเอาบันทึกมาใช้ประกอบการพูดคุยกับเด็ก ๆ ทุกครั้ง เพื่อเป็นการย้ำเตือนว่าเรามีการตกลงกันไว้
เด็กอายุ 5-6 ปี

ครูแหม่มจะนำเรื่องเวลาจากนาฬิกา เข้ามาเชื่อมโยงกับกิจวัตรประจำวันของเค้าค่ะ โดยครูแหม่มจะใช้นาฬิกาที่นับทั้งช่วงเวลากลางวันและกลางคืน นับแบบ 24 ชั่วโมง มาให้เด็กเรียนรู้การนับเป็นช่วง กลางวัน-กลางคืน อย่างง่าย โดยบ้านครูแหม่มจะกำหนดเวลาให้เด็กที่บ้านเป็นช่วง ๆ เพื่อให้เด็กเข้าใจง่าย อาจจะแบ่งเวลาไม่เหมือนเวลาสากลทั่วไป เพราะเพื่อเป็นการปูพื้นฐานขั้นแรก ให้เด็กเรียนรู้และเข้าใจอย่างไม่ซับซ้อน ครูแหม่มจึงแบ่งช่วงเวลาออกเป็น

ตอนเช้า : นับตั้งแต่ 6.00-11.00 น.
ตอนเที่ยง : นับตั้งแต่ 12.00 น
ตอนบ่าย : เป็นเวลาบ่ายโมง-บ่ายสามโมง ตามที่เข็มสั้นชี้เลข 1-3 บนนาฬิกา
ตอนเย็น : เป็นเวลาสี่โมงเย็น-หกโมงเย็น ตามที่เข็มสั้นชี้เลข 4-6 บนนาฬิกา
ตอนกลางคืน : เริ่มตั้งแต่หนึ่งทุ่ม-ตีห้า (ตามที่เข็มสั้นชี้เลข 7 เป็นต้นไป)

และอาจจะถามเด็กเพิ่มเติมคือ กลางวันเราจะเห็นอะไรบนท้องฟ้าและท้องฟ้าจะเป็นอย่างไร ส่วนกลางคืนเราจะเห็นอะไรบนฟ้าและท้องฟ้าเป็นอย่างไร สำหรับเด็กที่โตพอเข้าใจและรู้จักตัวเลขบ้างแล้ว ครูแหม่มก็จะถามเรื่องเวลาในกิจวัตรประจำวันตัวอย่าง เช่น เช้าวันนี้หนูตื่นกี่โมง ให้เด็กนำเหรียญไปติดที่นาฬิกาให้ตรงกับตัวเลขที่เด็กบอก

การทำกิจวัตรตามเวลาช่วย สร้างวินัยในเด็ก
ครูแหม่มให้น้องมอนเต้ชี้บอกตัวเลขในการตื่นนอนของตัวเอง
ครูแหม่มปลูกฝังเรื่องวินัยในเด็ก ผ่านการเล่นกิจกรรม
น้องมอนเต้กำลังเล่าเรื่องกิจวัตรที่ตัวเองทำในแต่วันให้ครูแหม่มฟัง

เมื่อเด็กเริ่มมีความรับผิดชอบต่อหน้าที่ในกิจวัตรประจำวันดีขึ้นตามลำดับ ผู้ปกครองสามารถให้รางวัลเล็ก ๆ น้อย ๆ เพื่อเป็นกำลังใจให้เด็ก ๆ ก็จะดีมากค่ะ สำหรับครูแหม่มถ้าน้องทำสิ่งต่าง ๆ ได้ตรงตามแผนที่จัดไว้ ในบางครั้งครูแหม่มจะให้สติกเกอร์ แต่ถ้าน้องเบื่อสติกเกอร์ก็อาจจะเปลี่ยนเป็นการให้ไอศกรีมเป็นรางวัล แค่นี้ก็สร้างความภูมิใจให้เด็กได้มากเลยทีเดียวค่ะ ผู้ปกครองลองนำไปปรับใช้กันนะคะ แต่ถ้าวันไหนเด็กทำไม่ได้ตามที่ตั้งเป้าหมายไว้ ผู้ปกครองก็ไม่ควรตำหนิ แต่ควรพูดให้กำลังใจและอธิบายด้วยเหตุและผลว่าเพราะอะไร เพื่อให้เด็กได้เข้าใจในการกระทำของตนเองว่า ถ้าทำแบบนี้ผลที่ได้ก็จะเป็นแบบนี้ทุกครั้ง ควรมีประโยคปิดท้ายให้กำลังใจว่า “ไม่เป็นไร พรุ่งนี้เราค่อยมาเริ่มต้นกันใหม่” และเมื่อเด็ก ๆ เข้าใจการแบ่งแยกกิจวัตรประจำวันเหล่านี้ในแต่ละวัน ครูแหม่มเชื่อว่าเด็ก ๆ จะสามารถเข้าใจและมีวินัยในเรื่องเวลาได้ดี

เด็กอายุ 6-8 ปี

วัยนี้เป็นวัยเริ่มโต มีความคิดเป็นของตัวเองสูง มักจะมีคำพูดข้อต่อรองมากมาย หากเราจะต้องหาวิธี ที่ทำให้ข้อต่อรองเกิดผลดีกับตัวเด็ก ไม่ทำให้เด็กเหมือนเป็นคนเอาแต่ใจ ครูแหม่มมีวิธีรับมืออย่างง่าย ๆ มาแนะนำ ขอยกตัวอย่างสถานการณ์ของเด็กที่บ้านนะคะ เช่น ในช่วงเวลากินข้าว น้องจะชอบกินไปดู YouTube ไป การเตือนครั้งแรกครูแหม่มจะใช้วิธีเตือนด้วยการเรียกชื่อแล้วมองจ้อง วิธีนี้เราต้องแน่ใจว่าเค้าได้มองเห็นว่าเรามองเค้าด้วย และไม่พูดอะไรเพื่อให้เค้ารู้ว่าแม่ไม่ชอบในสิ่งที่เค้ากำลังทำอยู่

หากมองแล้วน้องทำเมินเฉยหรือแกล้งไม่รู้ไม่เห็น ครูแหม่มจะใช้การเตือนครั้งที่ 2 การสื่อสารหรือพูดสิ่งที่ต้องการให้เค้าเข้าใจว่า ถ้าจะกินข้าวก็ต้องหยุดเล่นโทรศัพท์ก่อน ซึ่งน้องก็มีคำต่อรองประมาณว่า “หนูไม่ได้เล่นแค่ดูเฉย ๆ” ครูแหม่มก็จะบอกให้เค้าเลือกสิ่งที่จะทำก่อนหลัง หากจะดูโทรศัพท์ ก็ให้ดูให้เสร็จก่อนแล้วค่อยกลับมากินข้าว น้องก็จะเริ่มเปลี่ยนพฤติกรรมโดยการปิดโทรศัพท์ แล้วมากินข้าว จากนั้นครูแหม่มก็อธิบายให้น้องเข้าใจว่าที่แม่บอกแบบนี้ เพราะอยากให้หนูทำให้เป็นวินัยและกิจลักษณะ ควรทำอะไรให้เสร็จเป็นอย่าง ๆ แล้วควรลำดับเวลาให้ดี ว่าสิ่งไหนควรทำก่อน -หลัง ครูแหม่มจะสอนและอธิบายในเชิงเหตุผลให้กับเด็กที่บ้านเสมอ ซึ่งเราต้องอย่าคิดว่าการบอกไปแล้วเค้าจะทำได้ตลอด เราต้องนึกไว้ว่าเราต้องทำแบบนี้จนเค้าเริ่มทำได้เอง จนเป็นความเคยชิน

ครูแหม่มขอแนะนำอีกหนึ่งวิธี ที่สามารถปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของเด็กช่วงอายุ 6-8 ปีได้ดีนั้น คือการหากิจกรรมพิเศษให้เด็ก ๆ ได้ทำ เช่น การเล่นกีฬา วาดภาพระบายสี หรือการเล่นดนตรี เพราะกิจกรรมเหล่านี้อาศัยความมีวินัยและการฝึกซ้อมบ่อย ๆ ซึ่งเราจะมองเห็นพัฒนาการที่ดีขึ้นจากการฝึกซ้อม แต่ถ้าเด็กไม่หมั่นฝึกซ้อม เราก็จะเห็นพัฒนาการที่ถดถอย ไม่เป็นตามเป้าหมายที่ควรจะเป็น แต่ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับความสมัครใจของเด็ก ๆ ด้วยนะคะ ถ้าทำให้เด็กรู้สึกเหมือนโดนบังคับก็อาจจะไม่ค่อยเกิดผลดี

สรุปแนวทางการปฏิบัติของครูแหม่มกันอีกรอบ

  • สร้างกำหนดการที่คาดเดาได้ เพื่อให้เด็กรู้ว่าจะเกิดอะไรขึ้น ยกตัวอย่างเช่น ในเด็กวัยอายุ 3 ปี จะรู้ว่าเมื่อรับประทานอาหารกลางวันเสร็จ ต้องแปรงฟันแล้วเตรียมตัวนอนกลางวัน เป็นต้น
  • ให้ปัญหาเป็นโอกาสในการเรียนรู้ และให้อิสระแก่เด็กในการแก้ปัญหาด้วยตนเอง เมื่อเสนอวิธีแก้ปัญหา ต้องตรวจสอบให้แน่ใจว่า เด็กยอมรับและเข้าใจสิ่งที่เราเสนอ
  • ให้โอกาสเด็กได้ตัดสินใจในทางเลือกของตนเอง เช่น อย่าบังคับให้เด็กนอนกลางวันเมื่อเด็กไม่อยากนอน ใช้คำถามและให้เลือกว่าถ้าไม่อยากนอนหนูจะทำอะไร เป็นต้น
  • ให้รางวัลความภูมิใจ เมื่อในหนึ่งสัปดาห์เด็กทำได้ตรงตามตารางที่จัดไว้
  • ต้องเตือนตัวเองเสมอเรื่องอารมณ์ (อันนี้สำคัญมาก) อย่าใช้อารมณ์ในการอธิบาย

เทคนิคที่ครูแหม่มแนะนำ ความมีวินัยเป็นหัวใจสำคัญในการช่วยให้เด็กเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่มีคุณภาพ แต่ในบางครั้งการสอนด้วยปากเปล่า อาจจะดูเหมือนว่าเราบ่นเพื่อให้เด็ก ๆ มีส่วนร่วมและกระตุ้นความสนใจ ครูแหม่มจึงจัดทำ แผ่นตารางจัดกิจวัตรประจำวัน โดยให้กรอบความคิดกิจวัตรที่เด็กควรทำเป็นประจำทุก ๆ วันอยู่แล้ว ใน 1 สัปดาห์ โดยครูแหม่มจะถามน้องว่า ในสัปดาห์นี้หนูจะทำอะไรบ้าง โดยนำเหรียญภาพกิจวัตรต่าง ๆ มาประมาณ 6-7 อย่าง ให้เด็กเลือก แล้วนำมาติดที่กระดานดังภาพด้านล่าง ในแต่ละวันครูแหม่มจะให้น้องเช็คว่า วันนี้ตามตารางได้ทำตรงตามเป้าหมายหรือไม่ ถ้าได้ทำก็จะให้ติดเหรียญลงไป แต่ถ้าไม่ได้ทำให้เว้นไว้ เมื่อครบ 1 สัปดาห์ ให้กลับมาดูตารางและชวนพูดคุยว่า วันนี้ที่เหรียญหายไปเพราะอะไร พูดคุยและสนทนากันด้วยเหตุและผลจะไม่มีการตำหนิ ไม่อารมณ์เสียใส่เด็ก อาจจะพูดคุยว่าสัปดาห์ต่อไปจะพยายามทำให้ได้ตามตารางที่กำหนด

กิจกรรมสร้างวินัยในเด็ก ตามช่วงอายุ
น้องมอนเต้วางแผนจัดกิจวัตรประจำวันของวันถัดไป
เทคนิคสร้างวินัยในเด็ก  อย่างมีความสุข
เมื่อเด็กมีความพร้อม เด็กจะสามารถเรียนรู้ได้อย่างมีความสุขและสนุกไปกับกิจกรรม

การปฏิบัติกิจวัตรประจำวันที่สม่ำเสมอ จะทำให้เด็กเรียนรู้อย่างเป็นธรรมชาติและมีความสุข อาจจะมีบ้างบางครั้ง ในเด็กบางคน ที่เมื่อตอนเริ่มฝึกวิน้ย จะมีความรู้สึกหงุดหงิด เพราะถูกขัดจังหวะในสิ่งที่ผู้ปกครองนำเข้ามาแทรก ดังนั้น ผู้ปกครองควรอดทน ไม่ใช้อารมณ์ หรือบังคับเด็กให้ทำให้ได้ดั่งใจในทันที แต่ควรค่อย ๆ ให้เด็กปรับตัวและเรียนรู้กิจวัตรประจำวันของตัวเอง ไม่ควรคาดหวังความสมบูรณ์แบบมากจนเกินไป เพราะจะเป็นการกดดันทั้งตัวเด็กและผู้ปกครองเองค่ะ

การปลูกฝังวินัยและกิจวัตรประจำวัน จะส่งผลโดยตรงต่อพฤติกรรมและความสามารถในการเรียนรู้ของเด็ก ถ้าทำได้จะก่อผลดีต่อตัวเด็กในระยะยาวค่ะ ก่อนจบบทความครูแหม่มได้สรุปประโยชน์ของการปลูกฝังวินัยในเด็กผ่านการทำกิจวัตรประจำวัน ดังนี้

  • รู้จักบริหารเวลา
  • สร้างนิสัยที่ดีและถูกสุขอนามัย เช่น การนอน - ตื่นนอนตรงเวลา
  • เด็กเข้าใจถึงความสำคัญของการปฏิบัติกิจวัตรที่ทำอย่างสม่ำเสมอ
  • เสริมสร้างความมั่นใจในตนเอง
  • รู้จักการควบคุมตนเอง และมีความอดทน