คุณพ่อคุณแม่เคยเป็นมั้ยคะ? อยากจะหาเกมหรือกิจกรรมเล่นกับลูกในวันหยุด แต่หมดมุขไม่รู้จะเล่นอะไรกับลูกดี เพราะเกมนั้นลูกก็เบื่อ กิจกรรมนี้ลูกก็ไม่ชอบ ยิ่งในวันที่แดดเปรี้ยง ๆ ด้วยแล้ว จะออกไปเล่นนอกบ้านก็ไม่ได้อีก วันนี้เราเลยมีไอเดียการทำกิจกรรมสนุก ๆ อย่าง เกมถอดรหัส แผ่นภาพปริศนา ที่จะให้เด็ก ๆ สวมบทบาทเป็นนักสืบตัวน้อย ถอดรหัสภาพที่ซ่อนอยู่และจับคู่กับ Flash Card (บัตรคำ) ให้ถูกต้องมาแนะนำกันค่ะ เพียงแค่มีกระดาษและแฟ้มซองพลาสติกใสสีแดงก็เล่นได้แล้ว รับรองว่าเด็ก ๆ ต้องตื่นเต้นและสนุกอย่างแน่นอน มาเตรียมอุปกรณ์ให้พร้อม แล้วมาเริ่มกันเลย
วัสดุอุปกรณ์การทำแว่นนักสืบ
- 1กระดาษการ์ด A4 180 แกรม
- 2กระดาษเทา-ขาว
- 3กาวแท่ง
- 4สีไม้
- 5ปากกาเมจิก
- 6คัตเตอร์
- 7กรรไกร
- 8เทปกาวสองหน้า
- 9แฟ้มซองพลาสติกใส A4 สีแดง (หาซื้อได้ที่ OfficeMate)
ขั้นตอนการทำแว่นนักสืบ
1. ปริ้น Pattern แว่นนักสืบ ลงบนกระดาษการ์ด A4 2 แผ่น และปริ้น Pattern ของตกแต่งชุดสัตว์ต่าง ๆ ลงบนกระดาษการ์ด (สามารถดาวน์โหลด Pattern แว่นนักสืบ และ Pattern ของตกแต่งชุดสัตว์แบบต่าง ๆ ได้ที่ด้านล่างของบทความค่ะ) จากนั้นระบายสี Pattern รูปแว่นนักสืบ และ Pattern ของตกแต่งชุดสัตว์ ให้สวยงาม
2. ใช้กรรไกรตัด Pattern แว่นนักสืบทั้ง 2 แผ่น และใช้กรรไกรตัดกระดาษ Pattern ของตกแต่งชุดสัตว์ ตามชิ้นส่วนต่าง ๆ ออกมาให้เรียบร้อย
3. ใช้คัตเตอร์กรีดกระดาษตามรอยประด้านในของแว่นนักสืบทั้ง 2 ชิ้นออกมา
4. นำ Pattern แว่นนักสืบแผ่นที่ 1 ที่ตัดเสร็จแล้ว มาติดกาวลงบนกระดาษเทา-ขาว แล้วใช้คัตเตอร์กรีดตามรอยออกมาค่ะ
5. นำ Pattern แว่นนักสืบ ที่ตัดจากกระดาษเทา-ขาว มาทาบลงบนแฟ้มซองพลาสติกใสสีแดง (ไม่ต้องตัดหรือคลี่แฟ้มออกนะคะ วางทาบลงไปเลยค่ะ) ใช้ปากกาเมจิกวาดบริเวณขอบด้านนอกของ Pattern ส่วนที่เป็นรูปวงกลม (ไม่ต้องวาดส่วนที่เป็นด้ามจับนะคะ) แล้วใช้กรรไกรตัดแฟ้มซองพลาสติกใสสีแดงออกมา จะได้แผ่นพลาสติกใสสีแดงรูปวงกลม 2 ชิ้น
ขณะที่ตัดแฟ้มซองพลาสติกใสสีแดง คุณพ่อคุณแม่สามารถตัดกินขอบเข้ามาด้านในของแฟ้มซองพลาสติกใสที่เราวาดได้เลยนะคะ เพื่อเวลาที่เรานำมาประกบกับ Pattern แว่นนักสืบจะได้สวยงามและไม่เกินขอบออกมาค่ะ
6. ใช้เทปกาวสองหน้าติดแผ่นพลาสติกใสสีแดงลงบนด้านหลังของกระดาษเทา-ขาว จากนั้นติดชิ้นส่วนเขาและหูของกวางลงไป
7. นำ Pattern แว่นนักสืบที่ติดชิ้นส่วนเขาและหูกวางเสร็จแล้วมาทากาว จากนั้นติดทับด้วย Pattern รูปแว่นนักสืบอีกชิ้นที่ตัดเตรียมไว้ค่ะ
แนะนำให้ใช้กาวสองหน้าติดบริเวณแผ่นพลาสติกใสสีแดงและทากาวบริเวณส่วนด้ามจับ เพื่อให้กระดาษติดแน่นมากขึ้นค่ะ
8. ติดชิ้นส่วนตา แก้ม และปากให้เรียบร้อย เพียงเท่านี้เราก็จะได้แว่นนักสืบไว้สำหรับทำกิจกรรมกันแล้วค่ะ
เตรียมอุปกรณ์การเล่น
1. ปริ้น Pattern การ์ดปริศนา พร้อมเฉลย และ Flash Card (บัตรคำ) ชุดผัก-ผลไม้ ลงบนกระดาษการ์ด A4 (สามารถดาวน์โหลด Pattern การ์ดปริศนา และ Flash Card (บัตรคำ) ชุดผัก-ผลไม้ ได้ที่ด้านล่างของบทความ) แล้วตัดออกมาให้เรียบร้อย
2. ก่อนนำมาให้เด็ก ๆ เล่นคุณพ่อคุณแม่อาจนำการ์ดปริศนากับแว่นมาลองเล่นดูก่อนก็ได้นะคะ เพื่อดูว่าสามารถมองเห็นรูปร่างที่ซ่อนไว้ในการ์ดได้หรือไม่ (หากคุณพ่อคุณแม่ไม่สะดวกที่จะทำแว่นนักสืบ ก็สามารถนำแฟ้มซองพลาสติกใสสีแดง ตัดให้มีขนาดพอดีมือ แล้วนำมาใช้ส่องกับการ์ดปริศนาเพื่อเล่นเกมได้เลยค่ะ)
วิธีการเล่น
1. ให้คุณพ่อคุณแม่แนะนำอุปกรณ์ที่ใช้ในการเล่นให้เด็ก ๆ รู้ว่าประกอบไปด้วยอะไรบ้าง
2. ให้เด็ก ๆ ใช้แว่นนักสืบวางทาบลงไปกับการ์ดปริศนา เพื่อหาภาพลายเส้นของผักและผลไม้ให้เจอ จากนั้นให้เด็ก ๆ หาภาพจาก Flash Card (บัตรคำ) ให้ตรงกัน
3. เมื่อเด็ก ๆ หาภาพที่ซ่อนอยู่ในการ์ดปริศนา และจับคู่กับ Flash Card (บัตรคำ) ได้ครบทุกภาพแล้ว ให้คุณพ่อคุณแม่และเด็กช่วยกันตรวจกับแผ่นเฉลยว่าถูกต้องหรือไม่ ถ้าเด็ก ๆ ทำถูกหมดก็ถือเป็นอันจบเกมค่ะ
กิจกรรมนี้ นอกจากจะใช้เล่นกันภายในครอบครัวแล้ว คุณครูก็ยังสามารถนำไปทำกิจกรรมร่วมกับเด็ก ๆ ที่โรงเรียนได้อีกด้วยนะคะ โดยสามารถเปลี่ยนวิธีการเล่น เพิ่มความยาก ง่ายให้เหมาะสมกับเด็กในแต่ละช่วงวัยง่าย ๆ ได้ดังนี้
เด็กอนุบาล 1 (3-4 ปี) เด็กในช่วงวัยนี้ยังแยกแยะสิ่งต่าง ๆ ที่เหมือนกันและแตกต่างกันได้ไม่มาก แนะนำให้คุณพ่อคุณแม่และคุณครูให้เด็ก ๆ จับคู่ภาพในการ์ดปริศนากับ Flash Card (บัตรคำ) รูปภาพ ก็พอค่ะ เพื่อเป็นการฝึกทักษะการสังเกตให้กับเด็ก ๆ
เด็กอนุบาล 2 (4-5 ปี) เด็กในช่วงวัยนี้เริ่มสังเกต และแยกแยะสิ่งต่าง ๆ ได้มากขึ้น คุณพ่อคุณแม่และคุณครูอาจเพิ่มความยาก โดยจับเวลาในการเล่นแต่ละรอบประมาณ 3 นาที (อาจใช้เวลามากกว่า หรือน้อยกว่านี้ได้ ตามความเหมาะสมของเด็กแต่ละคน) เพื่อเพิ่มความยากให้กับเด็ก ๆ ค่ะ
เด็กอนุบาล 3 (5-6 ปี) เด็กในวัยนี้สามารถแยกแยะ และจำแนกสิ่งต่าง ๆ ได้มากขึ้น แนะนำให้คุณพ่อคุณแม่และคุณครู เพิ่มความยากในการเล่น โดยเปลี่ยนจาก Flash Card (บัตรคำ) ภาพ เป็น Flash Card (บัตรคำ) รูปภาพเงาแทน เพื่อเป็นการฝึกทักษะการสังเกตให้เด็ก ๆ มากขึ้น ทั้งนี้อาจให้เด็กเขียนชื่อผัก ผลไม้ หรือสัตว์ที่เค้าหาเจอลงในกระดาษก็ได้นะคะ เพื่อเป็นการฝึกทักษะการเขียนให้กับเด็ก ๆ ไปในตัว
นอกจากความสนุกสนานที่เด็ก ๆ จะได้รับจากการเล่นเกมแล้ว ยังช่วยเสริมสร้างทักษะการคิด กระตุ้นพัฒนาการด้านสติปัญญา ส่งเสริมทักษะการสังเกต การแยกแยะและการจดจำให้กับเด็ก ๆ ได้เป็นอย่างดี
เมื่อเราใช้ปากกาสีแดงและสีน้ำเงินวาดเส้นลงบนกระดาษสีขาว แล้วนำแผ่นพลาสติกใสสีแดงมาส่อง จะทำให้เราเห็นเส้นสีน้ำเงินได้ชัดขึ้น เนื่องจากมีสีที่ตัดกัน ในขณะที่เส้นสีแดงนั้นจะกลมกลืนไปกับแผ่นใสเพราะมีสีแดงเหมือนกันนั้นเองค่ะ