ทักษะทางภาษา ถือเป็นหนึ่งในทักษะพื้นฐานสำคัญที่เด็กปฐมวัยจำเป็นต้องเรียนรู้ ซึ่งการเรียนรู้ภาษาของเด็กปฐมวัยนี้ เด็กยังไม่สามารถคิดหรือเข้าใจสิ่งที่เป็นนามธรรมได้ ดังนั้น ในขั้นแรกของการส่งเสริมทักษะทางภาษาให้กับเด็ก ผู้ปกครองสามารถใช้ รูปภาพหรือสัญลักษณ์ต่าง ๆ แทนความหมายในการเรียนรู้ให้กับเด็ก ๆ ได้ และเพื่อให้เด็กมีพัฒนาการครบทุกด้าน เป็นไปตามขั้นตอนอย่างต่อเนื่องเหมาะสม ครูแหม่มจึงมีเทคนิคการสอนการจดจำพยัญชนะภาษาไทย-ภาษาอังกฤษ 3 ขั้นตอน ให้กับเด็กอย่างง่าย ๆ โดยคำนึงถึงความแตกต่างของเด็กแต่ละคน เพื่อให้เด็กเกิดการเรียนรู้ทักษะทางภาษาที่ดีและเกิดกระบวนการจดจำที่มีประสิทธิภาพ เป็นการเตรียมความพร้อมทักษะการฟัง พูด อ่าน เขียน ให้กับเด็กในระดับที่สูงขึ้นไป

เด็กกำลังกำลังหยิบ Flash Cards พยัญชนะ ก-ฮ
เทคนิคการสอนการจดจำพยัญชนะ สำหรับเด็กปฐมวัย

ขั้นตอนการสอนการจดจำพยัญชนะสำหรับเด็ก

ครูแหม่มได้จำแนกเทคนิคการสอนเด็กอนุบาล ในด้านการจดจำพยัญชนะ ออกเป็น 3 ขั้นตอน ดังนี้ค่ะ

ขั้นตอนที่ 1 จดจำเสียงและภาพ เด็กในช่วงวัย 2-3 ปี การเรียนรู้ด้านภาษาจะเริ่มจากการฟังก่อนเป็นอันดับแรก การที่ผู้ปกครองท่องพยัญชนะ ก-ฮ หรือพยัญชนะ A-Z ให้เด็กฟัง จะช่วยให้เด็กจดจำเสียงที่ได้ยินและท่องตามได้ แต่เด็กจะยังไม่เข้าใจความหมาย ดังนั้น เวลาสอนผู้ปกครองควรให้เด็กดู Flash Cards ที่เป็นรูปภาพ (แนะนำให้ใช้ Flash Cards ที่เป็นรูปภาพเพียงอย่างเดียวนะคะ) ประกอบการอ่านหรือการท่องพยัญชนะให้เด็กฟัง เพื่อเพิ่มการจดจำให้กับเด็ก ๆ โดยครูแหม่มจะทำซ้ำ ๆ ทำวนไปทุกวัน วันละ 5 ตัว ยกตัวอย่างเช่น หากสอนพยัญชนะภาษาไทย ก-ฮ สัปดาห์แรกครูแหม่มจะสอนตัว ก ข ฃ ค ฅ ในสัปดาห์ต่อไปครูแหม่มก็จะสอน ฆ ง จ ฉ ช เป็นต้น และก่อนที่จะเริ่มสอนพยัญชนะตัวใหม่ ครูแหม่มจะนำตัวพยัญชนะที่เคยสอนไปแล้วมาให้เด็ก ๆ ท่องซ้ำ เพื่อเป็นการทบทวนกันอีกรอบ

ครูกำลังใช้ Flash Cards สอนเด็ก ๆ
เด็ก ๆ กำลังตั้งใจหา Flash Cards พยัญชนะไทย ฆ ระฆัง

ขั้นตอนที่ 2 จดจำตัวพยัญชนะและเสียง หลังจากที่เด็กจดจำภาพและชื่อเรียกพยัญชนะได้แม่นยำแล้ว ให้ผู้ปกครองนำ Flash Cards ตัวพยัญชนะเข้ามาแทรกในการสอน เช่น ผู้ปกครองหยิบภาพ ระฆัง ขึ้นมา แล้วถามเด็กว่า นี่คือภาพอะไรคะ เมื่อเด็กตอบว่า ระฆัง ให้ผู้ปกครองชี้ไปที่ Flash Cards พยัญชนะตัว ฆ แล้วให้เด็กพูดตามว่า ฆอ-ระ-ฆัง โดยใช้วิธีการสอนเช่นเดียวกับขั้นตอนที่ 1 คือ สอนซ้ำ ๆ วันละ 5 ตัว จากนั้นครูแหม่มก็จะเปลี่ยนจากการชู Flash Cards เป็นชี้ที่ Flash Cards ตัวพยัญชนะก่อน แล้วให้เด็กพูดตาม จากนั้นครูแหม่มจะนำ Flash Cards ที่เป็นรูปภาพ มาถือและเทียบกับ Flash Cards พยัญชนะตัวนั้น ๆ เช่น Flash Cards พยัญชนะตัว ก กับ Flash Cards ภาพไก่ เป็นต้นค่ะ (สำหรับเด็ก 3 ขวบ ผู้ปกครองสามารถใช้ Flash Cards พยัญชนะ ก-ฮ และ พยัญชนะ A-Z ที่มีทั้งรูปภาพและตัวพยัญชนะอยู่ในใบเดียวกันได้เลยนะคะ)

ส่งเสริมทักษะทางภาษาให้เด็กด้วย Flash Cards
น้องอะเดย์กำลังหยิบ Flash Cards ที่มีทั้งรูปภาพและตัวพยัญชนะในใบเดียวกัน

ขั้นตอนที่ 3 เน้นการจดจำตัวพยัญชนะ เมื่อเด็ก ๆ สามารถจดจำ เสียง(ชื่อเรียกพยัญชนะ) รูปภาพ และตัวพยัญชนะ ได้พอสมควรแล้ว ในขั้นต่อไปครูแหม่มจะเพิ่มความยากด้วยการใช้ Flash Cards ที่มีแค่ตัวพยัญชนะเพียงอย่างเดียวเท่านั้น โดยครูแหม่มจะชวนเด็ก ๆ ชี้ไปที่ Flash Cards ตัวพยัญชนะแล้วอ่านไปพร้อม ๆ กันทีละตัว เช่น ก ข ฃ ค ฅ พออ่านครบ 5 ตัวแล้ว ครูแหม่มจะนำทั้ง 5 ตัวนี้มาวางคละกัน จากนั้นชี้ที่พยัญชนะตัวใดตัวหนึ่งแล้วถามเด็ก ๆ ว่า พยัญชนะตัวนี้คือตัวอะไร เมื่อเด็กตอบได้ก็ให้เด็กหยิบ Flash Cards พยัญชนะตัวนั้นออกมาจากกอง ทำแบบนี้ไปเรื่อย ๆ จนครบทุกตัว ในแต่ละวันผู้ปกครองอาจจะสลับการสอนเป็น พยัญชนะไทยบ้าง พยัญชนะอังกฤษบ้าง และเพื่อไม่ให้เด็ก ๆ เบื่อกับการเรียนซ้ำ ๆ ครูแหม่มจะนำ Flash Cards มาประยุกต์เป็นเกมให้เด็กเล่น โดยครูแหม่มจะชู Flash Cards ตัวพยัญชนะขึ้นมา 1 ตัว แล้วให้เด็ก ๆ หา Flash Cards รูปภาพที่ตรงกัน เป็นการสร้างความสนุกสนานให้กับเด็ก ๆ ได้เป็นอย่างดีค่ะ

เทคนิคการสอนเด็กอนุบาลด้วย Flash Cards
เด็ก ๆ กำลังหา Flash Cards รูปจานกันอย่างสนุกสนาน
เทคนิคการสอนเด็กอนุบาล ในด้านการจดจำพยัญชนะ
เด็ก ๆ กำลังชู Flash Cards ที่หยิบมาให้ครูแหม่มดู

ครูแหม่มต้องบอกก่อนนะคะว่า ผู้ปกครองต้องให้เวลากับเด็กและมีความอดทนเป็นอย่างมาก เพราะการเรียนรู้ของเด็กแต่ละคนต่างกัน บางคนเรียนรู้ได้เร็ว บางคนเรียนรู้ได้ช้า ดังนั้น ผู้ปกครองควรสอนเค้าด้วยความเข้าใจในตัวตนและพัฒนาการของเด็กแต่ละวัยด้วย ที่สำคัญผู้ปกครองต้องค่อย ๆ สอน ไม่ควรหงุดหงิดใส่เด็ก และพูดปลอบใจเวลาเค้าทำไม่ได้ เมื่อเด็กเริ่มทำได้ก็ให้คำชมหรือรางวัล แค่นี้เด็กมีความสุขและสนุกกับการเรียนรู้แล้วค่ะ

ดาวน์โหลด
4 รายการ