การพัฒนาการเขียน เป็นอีกหนึ่งทักษะที่จำเป็นสำหรับเด็กปฐมวัย ที่ผู้ปกครองควรให้ความสำคัญ เพราะทักษะด้านการเขียนนั้นมีประโยชน์ในการดำเนินชีวิตประจำวัน ผู้ปกครองสามารถเสริมสร้างทักษะการเขียนให้กับเด็กได้เองจากที่บ้าน ด้วยการให้เด็กเริ่มฝึกจากการเขียนชื่อของตัวเอง ไม่ว่าจะเป็นชื่อเล่น ชื่อจริง นามสกุล ทั้งชื่อที่เป็นภาษาไทยและภาษาอังกฤษ เพราะการเขียนชื่อเป็นเรื่องใกล้ตัวเด็ก เมื่อเขียนได้เด็กจะเกิดความภูมิใจและกระตุ้นความสนใจในการเขียนได้ดีที่สุด

แต่ก่อนที่เด็กจะเริ่มฝึกเขียนหรือหยิบจับดินสอได้คล่องนั้น เด็กต้องมีกล้ามเนื้อมือที่แข็งแรงพร้อมสำหรับการเขียนแล้วจริง ๆ ซึ่งผู้ปกครองสามารถพัฒนากล้ามเนื้อมือเด็กได้ ด้วยการหากิจกรรมที่ใช้มือในการทำเป็นหลักให้เด็กได้ลองทำ เช่น การให้เด็กขยำกระดาษ การปั้นต่าง ๆ การกรอกน้ำใส่ขวด การร้อยลูกปัด การใช้กรรไกรตัดกระดาษ ฯลฯ กิจกรรมเหล่านี้จะช่วยในการเสริมสร้างทักษะการควบคุมจัดการกับประสาทนิ้วมือ เพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับการจับดินสอของเด็ก วันนี้ครูแหม่มมีเทคนิคในการฝึกทักษะการเขียน และฝึกกล้ามเนื้อมือแบบพื้นฐานที่เหมาะสมตามเกณฑ์อายุของเด็ก ๆ มาแนะนำกันค่ะ

กิจกรรมฝึกการเขียนและสอนลูกเขียนชื่อตามเกณฑ์อายุ
กิจกรรมฝึกทักษะการเขียนและสอนลูกเขียนชื่อตามเกณฑ์อายุ

อายุ 2-2 ขวบครึ่ง

เด็กในช่วงนี้จะชอบขีดเขียนอยู่แล้วโดยธรรมชาติ ผู้ปกครองควรหากิจกรรมง่าย ๆ ที่สามารถทำเองได้เมื่ออยู่บ้าน คือ การวาดรูป การขีดเขียนอย่างอิสระ ในการเขียนครั้งแรกอาจเริ่มใช้สีเทียนที่มีขนาดแท่งที่ใหญ่ เพื่อเด็กจะได้ถนัดในการหยิบจับ ส่วนกระดาษอาจเป็นสมุดวาดเขียน หรือกระดาษ A4 และในทุกครั้งเราควรจดบันทึกวันที่ที่น้องเริ่มขีดเขียนในแต่ละครั้ง เพื่อที่เราจะได้ใช้เปรียบเทียบดูพัฒนาการเป็นระยะ ๆ ว่าในการขีดเขียนแต่ละครั้งมีรายละเอียดเพิ่มขึ้นมากน้อยเท่าไหร่

เราอาจเพิ่มความสนุกความตื่นเต้นให้กับเด็กได้ โดยการใช้กระดาษลอกลาย หรือกระดาษไขที่มีขนาดใหญ่ แล้วใช้เทปใสแปะที่มุมทั้งสี่ด้าน ติดกับผนังในระยะพอดีกับตัวเด็ก และให้เด็กใช้สีน้ำระบายอย่างอิสระตามจินตนาการ (ถ้ากลัวเสื้อผ้าเด็กจะเลอะเทอะ แนะนำก่อนทำกิจกรรมให้หาเสื้อผ้าเก่า ๆ ให้เด็กใส่ในการทำกิจกรรม)

เด็กวาดรูปและขีดเขียนอย่างอิสระตามจินตนาการ
เด็กวาดรูปและขีดเขียนอย่างอิสระตามจินตนาการ

ใน 1 สัปดาห์ผู้ปกครองก็อาจจะสลับสับเปลี่ยนมาทำกิจกรรมปั้นแป้งโด (อาจต้องมีสีที่หลากหลายเพื่อดึงดูดความสนใจเด็ก ๆ) กิจกรรมนี้ผู้ปกครองสามารถ "ทำแป้งโดได้เองง่าย ๆ ที่บ้าน" สะอาดและปลอดภัยไร้สารพิษ เมื่อเด็ก ๆ เบื่อจากระบายสีหรือปั้นแป้งโด ผู้ปกครองก็สามารถเปลี่ยนกิจกรรมได้ตามความเหมาะสม มีทั้ง ขยำกระดาษ ฉีกปะ พับกระดาษ สลับกิจกรรมแบบนี้ไปเรื่อย ๆ เด็กก็จะมีพัฒนาการกล้ามเนื้อมือที่แข็งแรงดีขึ้นตามลำดับและนำไปสู่พัฒนาการในการเขียนในช่วงอายุต่อไป

กิจกรรมร้อยลูกปัด ช่วยฝึกกล้ามเนื้อมือให้แข็งแรง
กิจกรรมร้อยลูกปัด ช่วยฝึกกล้ามเนื้อมือให้แข็งแรง

อายุ 3 ขวบ

เด็กในวัยนี้ความพร้อมเริ่มมีมากขึ้น ผู้ปกครองสามารถนำกิจกรรมศิลปะในรูปแบบต่าง ๆ มาจัดสลับกับการฝึกเขียนตามรอยเส้นประหรือที่นิยมเรียกกันว่าแบบฝึกลีลามือ ฝึกเพื่อให้เด็กได้รู้จักบังคับกล้ามเนื้อมือไปในทิศทางต่าง ๆ ในหนึ่งหน้ากระดาษก็ไม่ควรมีลายเส้นที่เยอะและถี่เกินไป เพราะอาจทำให้เด็กรู้สึกเบื่อหน่ายกับการเขียนจนทำให้เด็กต่อต้าน การเขียนแต่ละครั้งผู้ปกครองไม่ควรคาดหวังกับเด็กจนเกินไปและไม่ว่าเด็กจะเขียนออกมาในรูปแบบใดก็ควรให้คำชม เพื่อเป็นการเสริมแรงในทางบวก เด็กจะสนุกและมีความสุขในการเขียน

ในการฝึกเขียนระยะแรก ๆ ผู้ปกครองอาจให้เด็ก ๆ ใช้สีในการเขียนก่อนก็ได้นะคะ แต่หากเด็กมีความพร้อมก็สามารถให้เด็กใช้ดินสอในการเขียนได้เลยค่ะ

อายุ 3 ขวบครึ่ง

เมื่อเด็ก ๆ เริ่มมีความคล่องแคล่วในการหยิบจับดินสอ สามารถบังคับกล้ามเนื้อมือให้เขียนตรงตามเส้นประไปในทิศทางต่าง ๆ ได้แล้ว ผู้ปกครองก็ควรเพิ่มความท้าทายให้เด็ก ๆ โดยเริ่มให้เด็กเขียนชื่อเล่น แต่ยังเขียนตามรอยประ ถ้าเด็กมีความพร้อมผู้ปกครองก็สามารถให้เด็กเขียนโดยไม่มีเส้นประได้ค่ะ แต่จะเริ่มเขียนชื่อภาษาอังกฤษก่อน แล้วมาเป็นพยัญชนะไทยสลับกันไป ที่แนะนำให้เริ่มจากภาษาอังกฤษ เพราะชื่อภาษาอังกฤษจะเขียนง่ายกว่าพยัญชนะไทย เนื่องจากไม่มีสระและวรรณยุกต์ทำให้เด็กจดจำได้ดีกว่า เมื่อเด็กเขียนได้คล่องแล้วค่อยกลับมาเขียนชื่อภาษาไทย แต่ถ้าจะให้ดีควรให้เด็กหมั่นฝึกอ่านตัวพยัญชนะไทยและ อังกฤษ ให้แม่นยำจะทำให้การฝึกเขียนชื่อง่ายต่อตัวเด็กเองค่ะ ลองทำฝึกกันดูนะคะ

ในการฝึกเขียนชื่อ เรามีอีกวิธีที่อยากแนะนำให้ผู้ปกครองลองทำกัน คือ ใช้กระดาษเทา-ขาวกับกระดาษลอกลาย โดยตัดกระดาษทั้งสองชนิดให้มีขนาดความกว้าง 8 นิ้ว ยาว 4 นิ้ว จากนั้นใช้เมจิกเส้นใหญ่เขียนชื่อเล่นของเด็กลงบนกระดาษเทา-ขาว แล้ววางกระดาษลอกลายไว้ด้านบน ใช้คลิปหนีบกระดาษหนีบที่มุมซ้ายและขวา เสร็จแล้วให้เด็กใช้สีหรือดินสอเขียนลอกลายชื่อตัวเองได้เลยค่ะ เหมาะสำหรับฝึกให้เด็กจดจำว่าในชื่อตัวเองมีพยัญชนะและสระอะไรบ้าง เมื่อทำซ้ำ ๆ ย้ำ ๆ เด็กก็จะจดจำได้เองโดยปริยายค่ะ ทั้งนี้อยากให้ผู้ปกครองอยู่ข้าง ๆ คอยให้คำแนะนำเด็ก ในเวลาทำกิจกรรม เพราะในช่วงแรกเด็กอาจจะสับสนในการม้วนหัวพยัญชนะหรือสระเด็กจะม้วนหัวสลับกัน ถ้าไม่คอยแนะนำเด็กจะจดจำในสิ่งที่ผิดได้ค่ะ

Tip&Trick
เทคนิคง่าย ๆ ในการช่วยให้เด็กอยากเขียนชื่อตัวเอง
เวลาผู้ปกครองจะให้นมหรือขนมเด็กไปโรงเรียน ควรเขียนชื่อให้เค้าดูบนกล่องหรือซองต่าง ๆ ว่านี้ของลูกนะ มีชื่อลูกด้วย ถ้าทำทุกวันเด็กจะจดจำชื่อตัวเองโดยอัตโนมัติ และจะอยากเขียนชื่อตัวเองในอนาคต
ฝึกเขียนตามเส้นประและบัตรคำทั้ง 2 ภาษา
ภาพแสดงการเขียนตามรอยประและบัตรคำทั้ง 2 ภาษา

อายุ 4–5 ขวบ

ในเกณฑ์อายุนี้ เด็กส่วนมากจะมีกล้ามเนื้อมัดเล็กแข็งแรงและใช้ได้คล่อง สามารถเขียนสิ่งต่าง ๆ ได้โดยไม่ต้องมีเส้นหรือรอยประ แต่จะมีปัญหาบ้างในเรื่องการม้วนหัวของพยัญชนะไทย ผู้ปกครองก็สามารถให้เด็กทำแบบทดสอบตามรอยประได้ค่ะ และสำหรับเด็กที่พร้อมจะพัฒนาไปอีกขั้นแบบทดสอบอาจจะเพิ่มระดับความยากมากขึ้น โดยผู้ปกครองอาจใช้แบบทดสอบที่เป็นการเขียนแบบต่อตัวพยัญชนะหรือแบบทดสอบตารางพยัญชนะหาตัวอักษรที่เป็นชื่อของเด็กเอง

ถ้าเด็กคนไหนยังไม่สามารถจดจำพยัญชนะต่าง ๆ ได้แม่นยำ ผู้ปกครองไม่ต้องเป็นกังวลนะคะ สามารถใช้แบบทดสอบแบบง่ายให้เด็กทำได้ค่ะ หมั่นทำซ้ำ ๆ ก็จะพัฒนาไปในทางที่ดีขึ้น แต่ควรจดบันทึกพัฒนาการการเรียนรู้ไว้ด้วย เพราะเมื่อเด็กเริ่มโตขึ้นจะมีการแกล้งทำไม่ได้ เนื่องจากเบื่อไม่อยากทำ มาทำให้เราสับสนได้ว่า ตกลงทำไม่ได้หรือแค่เบื่อไม่อยากทำกันแน่

ภาพแสดงลักษณะการม้วนหัวแบบต่างๆ ของพยัญชนะไทย
ภาพแสดงลักษณะการม้วนหัวแบบต่าง ๆ ของพยัญชนะไทย

อายุ 5–6 ขวบ

ในเกณฑ์อายุนี้ เด็ก ๆ ก็จะมีความพร้อมมากมาย กล้ามเนื้อมือและตาประสานสัมพันธ์ได้เป็นอย่างดี เขียนทั้งพยัญชนะไทยและอังกฤษได้คล่อง สามารถเขียนทั้งชื่อเล่น ชื่อจริงและนามสกุลได้แล้ว แต่ถ้าเด็กยังจดจำพยัญชนะชื่อของตัวเองได้ไม่ครบ ผู้ปกครองก็สามารถทำแบบทดสอบเติมพยัญชนะจากชื่อของตัวเองที่หายไป โดยใช้ทฤษฏีเดิม คือ ทำซ้ำ ๆ ย้ำ ๆ แค่นี้ก็หมดห่วงเรื่องลูกเขียนชื่อไม่ได้และก็จะไม่ถูกกดดันจากครูที่โรงเรียนด้วยค่ะ

แต่ทั้งหมดทั้งมวล ควรขึ้นอยู่กับพัฒนาการเด็กเป็นสำคัญ เพราะเด็กแต่ละคนมีพัฒนาการที่แตกต่างกันไป บางคนพัฒนาการไปได้เร็ว บางคนพัฒนาการไปได้ช้า ผู้ปกครองควรมีความอดทนและหมั่นดูแลเอาใจใส่ปัญหาทั้งหมดก็จะหมดไปค่ะ

ดาวน์โหลด
37 รายการ